xs
xsm
sm
md
lg

ข้อมูลการแผ่รังสีควรรู้ จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัญลักษณ์การแผ่รังสี
หลังแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ ถล่มญี่ปุ่น และตามมาด้วยสึนามิขนาดใหญ่เข้าถล่มเมืองชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของแดนซามูไรเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทเท็ปโกเจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองฟูกูชิมะต้องรีบเร่งงานแข่งกับเวลาเพื่อป้องกันหายนะที่จะเกิดตามมาหลังภัยธรรมชาติ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ (Fukushima Daiichi) ของบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์ (Tokyo Electric Power Co.) หรือเท็ปโก (TEPCO) ซึ่งมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด 6 เครื่องกำลังเผชิญกับความยากลำบาก นับแต่ประสบภัยธรรมชาติกระหน่ำจนระบบหล่อเย็นเสียหาย โดยมีเตาปฏิกรณ์ระเบิดไปแล้ว 3 เครื่อง และเกิดไฟไหม้ในบ่อเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้วที่อาคารเตาปฏิกรณ์ที่ 4

คนงานของโรงไฟฟ้าจำนวนหนึ่งยังคงอยู่ในที่เกิดเหตุ เพื่อพยายามลดความร้อนให้แก่เตาปฏิกรณ์ที่ร้อนจัด ระดับการแผ่รังสีผันผวนอย่างมากระหว่างวิกฤติ และระดับรังสีซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนงานนี้ และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปหลายปี  

อย่างไรก็ดี ไซน์แอนติฟิกอเมริกันระบุว่า การแผ่รังสีในครั้งนี้ยังอยู่ในวงจำกัดเมื่อเทียบกับโศกนาฏกรรมเชอร์โนบิล (Chernoby) ในยูเครนเมื่อปี 1986 และตามที่ผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์หลายๆ คนได้กล่าวไว้นั้น เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะได้รับการออกแบบมาดีกว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของเชอร์โนบิลที่ประสบอุบัติเหตุ

การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งนั้น เป็นสาเหตุให้คนงานหลายสิบคนเสียชีวิตจากการได้รับรังสี และมีส่วนทำให้มีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์อีกหลายพันราย ตามมาหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวอีกหลายปี ทั้งนี้ ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันจากเชื้อเพลิงยูเรเนียม ได้ผลิตไอโอดีนรังสีที่ถูกดักจับได้โดยต่อมไทรอยด์

สำหรับข้อมูลด้านล่างนี้เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอันตรายทางรังสีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่ไซน์แอนทิฟิกอเมริกันนำมาเสนอ และเป็นข้อเปรียบเทียบอันตรายที่เกิดขึ้นกับอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยปริมาณกัมมันตภาพรังสีในข้อมูลนี้นำเสนอในหน่วย “มิลลิซีเวิร์ต” (millisievert: mSv) ซึ่งเป็นหน่วยสากลของปริมาณรังสี

- ปริมาณการแผ่รังสีรอบๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ : 1.9 มิลลิซีเวิร์ต ต่อ ชั่วโมง

- ปริมาณรังสีสูงสุดที่วัดได้ภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิเมื่อวันที่ 15 มี.ค.11 : 400 มิลลิซีเวิร์ต ต่อ ชั่วโมง

- ปริมาณรังสีสูงสุดที่อนุญาตให้รับได้สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับรังสีของสหรัฐฯ : 50 มิลลิเวิร์ต ต่อ ปี

- ปริมาณรังสีเฉลี่ยสำหรับประชากรสหรัฐฯ ที่ได้รับจากธรรมชาติและแหล่งกำเนิดรังสีที่มนุษย์สร้างขึ้น : 6.2 มิลลิเวิร์ต ต่อ ปี

- ปริมาณรังสีทั้งหมดโดยประมาณรอบๆ โรงไฟฟ้าทรีไมล์ไอส์แลนด์ (Three Mile Island) ในเพนน์ซิลวาเนียที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อปี 1979: 1 มิลลิซีเวิร์ต หรือน้อยกว่านั้น

- ระดับรังสีที่ต้องอพยพประชาชน 114,500 รายระหว่างอุบัติเหตุเชอร์โนบิลเมื่อปี 1986: 31 มิลลิซีเวิร์ต

- ค่าครึ่งชีวิตของไอโอดีน-131 ซึ่งเป็นไอโซโทปรังสีอันตรายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์: 8 วัน

- ค่าครึ่งชีวิตของซีเซียม-137 ซึ่งเป็นไอโซโทปรังสีสำคัญอีกชนิดที่เกิดจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์ : 30 ปี

- รังสีจากการสลายตัวของไอโอดีน-131 และซีเซียม-137: ทั้งคู่ปล่อยรังสีแกมมา และอนุภาคเบตา (อิเล็กตรอนหรือโพสิตรอน)

- ปริมาณเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์เชอร์โนบิล หมายเลข 4 ที่เกิดระเบิดเมื่อปี 1986: 190 ตัน

- ปริมาณเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และผลพลอยได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศระหว่างอุบัติเหตุเชอร์โนบิล : 25-57 ตัน

- ปริมาณเชื้อเพลิงนิวเคลียร์โดยประมาณจากเตาปฏิกรณ์ที่ใช้การไม่ได้ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิ : 70-100 ตัน
ภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิชิที่เสียหาย ซึ่งภาพนี้บันทึกเมื่อวันที่ 16 มี.ค.และเท็ปโกได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา (เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น