xs
xsm
sm
md
lg

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของญี่ปุ่นส่อหลอมละลายเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงวันอังคาร (15) ว่า ระดับสารกัมมันตภาพรังสีในอากาศบริเวณภายในรัศมีรอบๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ-ไดอิจิ ตอนนี้อยู่ในขั้นเป็นอันตรายยิ่งต่อร่างกายมนุษย์ หลังจากเกิดการระเบิดภายในอาคารปฏิกรณ์หมายเลข 2 และ 4 ทำให้รวมแล้วอาคารครอบเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้ายักษ์ใหญ่แห่งนี้ ได้เกิดการระเบิดถึง 4 แห่ง ในช่วงเวลาเพียง 3 วัน นอกจากนี้แท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ 2 และ 4 ก็ยังส่อแววน่าวิตกว่าจะหลอมละลายอีกด้วย

แท่งแกนเชื้อเพลิงภายในเตาปฏิกรณ์ 4 เครื่อง ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ ในจังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 และคลื่นยักษ์สึนามิสูง 10 เมตร ล้วนยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต อันเนื่องมาจากสภาพที่ร้อนจัดจนเสี่ยงที่จะเกิดการหลอมละลาย (เมลต์ดาวน์) หลังเกิดอุบัติเหตุระเบิดเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งภายในอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 และ 4 ของโรงไฟฟ้าดังกล่าวในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อช่วงเช้าวันอังคาร (15) ต่อจากที่อาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ได้เกิดการระเบิดไปแล้วในวันจันทร์(14) และหมายเลข 1 ในวันเสาร์(12)

สำหรับการระเบิดครั้งแรกเมื่อวานนี้ แรงระเบิดขึ้นได้สร้างความเสียหายแก่ระบบซึ่งช่วยในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์และดักจับธาตุซีเซียม, ไอโอดีนจากน้ำ ซึ่งทางโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (เท็ปโก) บริษัทผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ระบุว่า เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 เวลานี้ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่สุดที่จะเกิดการหลอมละลาย ซึ่งนั่นจะนำไปสู่การแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีสู่ชั้นบรรยากาศโลกในปริมาณมหาศาล

ขณะที่อาคารเตาปฏิกรณ์ 4 ซึ่งมีสถานะปิดการทำงานเพื่อปรับปรุง ตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้น ก็เกิดเหตุเพลิงลุกไหม้ขึ้นภายในอาคาร สืบเนื่องจากแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วเกิดอุณหภูมิสูงขึ้นจนไปสร้างก๊าซไฮโดรเจน และก่อให้เกิดการเผาไหม้ตามมา ทว่าเคราะห์ดีที่เจ้าหน้าที่สามารถดับไฟได้ทันท่วงที

นายกฯ คัง ยังประกาศให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกภายในรัศมี 30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไดอิจิในจังหวัดฟูกูชิมะ ให้อยู่แต่ภายในที่พำนัก โดยระบุว่า ระดับสารกัมมันตภาพรังสีในอากาศเพิ่มสูงขึ้นจนน่าวิตก ขณะที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าโฆษกรัฐบาล ยูกิโอะ เอดาโนะ แถลงว่า ระดับรังสีบริเวณดังกล่าวอยู่ในขั้นที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์
กำลังโหลดความคิดเห็น