“กรีนพีซ” แถลงจุดยืนไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย ชี้ใช้บทเรียนจากญี่ปุ่น “มนุษย์ควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ได้” เป็นกรณีศึกษา มั่นใจพลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติคือทางรอด ชี้โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลมีปัญหาเพราะไม่โปร่งใส พร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ให้ยกเลิกแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
จากกรณีการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น สร้างความกังวลให้แก่ประชาคมโลกตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.54 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ "เครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย" จาก 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช ประมาณ 30 คน มาร่วมกันแถลงจุดยืนที่สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 มี.ค.54 ที่ผ่านมา ถึงกรณีการผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
นายมานะ ช่วยชู ตัวแทนเครือข่ายพลังงานจากจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติจากธรรมชาติประเทศญี่ปุ่นนั้น ทำให้สังคมทั่วโลกได้เรียนรู้ว่า เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่ได้มีประโยน์กับสังคมมนุษย์อย่างแท้จริง ซึ่งได้แสดงให้แห็นว่า เป็นเทคโนโลยีไม่สามารถควบคุมจัดการได้
สุดท้ายแล้วก็ต้องยอมให้มีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มีการระเบิดเกิดขึ้น จนทำให้เกิดผลเสียตามมามากมาย และภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะมีมาตรการที่ดี เหนือชั้นแค่ไหน สุดท้ายก็แพ้ภัยธรรมชาติอยู่ดี
“บทเรียนดังกล่าวนั้น ได้เชื่อมโยงมาสู่สังคมไทย จึงอยากฝากคำถามถึงรัฐบาลและถึงหน่วยงานที่จัดหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้กับสังคมไทย ว่าหากมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศขึ้นมา ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นนั้น ต้องเกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป” นายมานะกล่าว
เช่นเดียวกับ นายพรพิพัฒน์ เจริญวัดอักษร ตัวแทนเครือข่ายพลังงานจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่บอกว่า การมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ถือเป็นมหันตภัยที่ยิ่งใหญ่ แม้ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและก้าวหน้าไปมากเพียงใด แต่มนุษย์ไม่สามารถรับมือหรือควบคุมกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้
“จากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ญี่ปุ่น ได้สะท้อนให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดในโลกใบนี้ไม่มีใครกำหนดได้ นอกจากธรรมชาติ เพราะธรรมชาติจะเป็นผู้กำหนดชีวิตคนบนโลกนี้ ว่าจะอยู่หรือไปอย่างไร เทคโนโลยีเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้นที่เกิดขึ้น และไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้เหมือนกัน” ตัวแทนเครือข่ายพลังงานจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แจง
นางสาวสดใส สว่างโสภา ตัวแทนเครือข่ายพลังงานจากจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ขณะนี้ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (PDP 2010) ขึ้นมา และกำลังจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 แห่งในประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นมี จ.อุบลราชธานี และจะดำเนินสร้างเป็นที่แรกอีกด้วย
"ทางเราไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากประเทศไทยยังมีพลังงานเพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ และมีพลังงานทางเลือกอีกหลายอย่าง ที่จะทดแทนพลังงานนิวเคลียร์ ทั้งพลังงานที่มาจากพืชหรือการช่วยกันประหยัดพลังงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดีกว่าที่จะเอาชีวิตประชาชนมาเสี่ยงกับการเกิดระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต" น.ส.สดใสกล่าว
ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายพลังงานจากจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ต้องตั้งคำถามจากรัฐบาลว่า บทเรียนกรณีประเทศญี่ปุ่นนั้น ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ ทั้งที่พลังงานของประเทศไทยยังมีใช้อย่างเพียงพอ และประเทศไทยก็มีบทเรียนให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่คำตอบของประเทศไทย แต่ภาคเกษตร หรือพลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติ ต่างหากที่เป็นทางเลือก ทางรอดของประเทศ
“หากรัฐบาลไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้อง ที่ไม่ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยนั้น เราก็จะดำเนินการต่อไปทุกรัฐบาล จนกว่าจะไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย” น.ส.สดใส กล่าว
นอกจากนี้ น.ส.สดใส อธิบายด้วยว่า ประเทศไทยนั้น มีการดำเนินการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ 216 แห่ง และสร้างไปแล้ว 88 แห่ง ถือเป็นพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ที่มีเครือข่ายภาคประชาชนออกมาคัดค้านการสร้างโรงงานดังกล่าวนั้น เนื่องจากไม่ได้ถามความคิดเห็นของประชาชน
อีกทั้งการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น ต้องสร้างออกห่างจากชุมชน 10-15 ก.ม. และยังมีกระบวนการทำงานที่ไม่ชัดเจน ไม่โปร่งใส ทำให้ชาวบ้านเกิดปัญหาตามมามากมาย จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป
นอกจากนี้ นายบุญเรือง เรืองอร่ามศรี ตัวแทนเครือข่ายพลังงานจากจังหวัดนครสวรรค์ ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า หากนายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิก แล้วนำโครงการนี้ออกจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยแล้ว จะได้รับการสนับสนุนให้เป็นรัฐบาลสมัยหน้าแน่นอน
อย่างไรก็ดี ทางกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย จะทำหนังสือเปิดผนึกยื่นต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง ในวันที่ 18 หรือ 21 มี.ค.นี้ รวมทั้งในวันเดียวกันนี้ เครือข่ายภาคประชาชนของจังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้ทำหนังสือถึงประเทศเวียดนามให้มีการทบทวนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกด้วย
รวมเรื่องควรรู้ในพิบัติภัย-วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น