อุบลราชธานี - ผู้ประสานงานเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยกตัวอย่างการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ปรมาณูโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น แม้มีเทคโนโลยีทันสมัยกว่าไทยหลายเท่ายังเอาไม่อยู่ ย้ำกระทรวงพลังงานและรัฐบาลต้องทบทวนการสร้างก่อนนำมหัตภัยมาสู่คนทั้งประเทศ
วันนี้ (14 มี.ค.) น.ส.สดใส สร่างโศก ผู้ประสานงานเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงมหัตภัยจากเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่นระเบิด หลังเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิว่า การระเบิดของเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งนี้ น่าเป็นสิ่งยืนยันถึงมหัตภัยจากการใช้นิวเคลียร์เป็นพลังงานสร้างไฟฟ้า คนอุบลฯและคนไทยคงต้องตระหนัก เพราะมันคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และทำไมเราต้องเอาชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายไปเสี่ยงกับการใช้นิวเคลียร์เป็นพลังงานสร้างไฟฟ้า ทั้งที่ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็น
น.ส.สดใส ยังเสนอว่า นอกจากใช้นิวเคลียร์เป็นตัวสร้างพลังงานไฟฟ้าแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยยังมีทางเลือกใช้พลังอื่นมาทดแทนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ก็ได้ โดยเฉพาะพลังงานชีวมวล เพียงแต่กระบวนการจัดสร้างโรงไฟฟ้าต้องทำอย่างโปร่งใส และยืนยันว่าปัจจุบันพลังงานสำรองด้านไฟฟ้าในประเทศไทยยังมีใช้อย่างเพียงพอได้นานอีกหลายสิบปี จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมา
น.ส.สดใส ยังแสดงความเป็นห่วงกับท่าทีของกระทรวงพลังงานที่ออกมาย้ำจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี จะทำให้เกิดการต่อต้านจากชาวจังหวัดอย่างแน่นอน เพราะแม้ประเทศญี่ปุ่นที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีมากกว่าไทย ประชาชนมีวินัยมากกว่า ยังไม่สามารถรับมือกับมหัตภัยที่เกิดจากพลังงานชนิดนี้ได้ หากมีการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นในจังหวัด จะทำให้เกิดมหัตภัยอย่างใหญ่หลวง และทำลายวิถีชีวิตของมนุษย์เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในประเทศญี่ปุ่นขณะนี้
สำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ นักวิชาการจากกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต ได้กล่าวไว้ในการเสวนาวิชาที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อเดือน ม.ค.54 ว่า ตั้งแต่กลางปี 2552 กฟผ.เริ่มมีการสำรวจ เพื่อหาสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยรวม 6 จังหวัด รวม 14 จุด โดยทั้งหมดกระจายอยู่ตามหัวเมืองชายทะเลในภาคกลางและภาคใต้ แต่การสำรวจถูกต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างหนัก
ในที่สุดในราวเดือน ก.ค.2553 กฟผ.ได้แสดงรายงานในหัวข้อการศึกษาเรื่องสถานที่ตั้ง ซึ่งใช้องค์ประกอบการพิจารณา 3 ด้านคือ ด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ สรุปว่าพื้นที่ที่ได้คะแนนจากการศึกษาสูงสุดเหมาะสมเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 อันดับแรกคือ 1.พื้นที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี 2.พื้นที่ตำบลพนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ 3.พื้นที่ตำบลไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด 4.พื้นที่ตำบลคันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฏร์ธานี และ 5.พื้นที่ปากน้ำละแม อ.ละแม จ.ชุมพร
“แต่เป้าหมายหลักในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในชุดแรกคือ จ.นครสวรรค์ และอุบลราชธานี เพราะมีความพร้อมทั้งที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ รวมทั้งชาวบ้านไม่ต่อต้านมากนัก ผิดกับพื้นที่อื่น ซึ่งถูกต่อต้านจากชาวบ้านอย่างหนัก”
นายสันติ ยังให้ข้อมูลต่อว่า สำหรับข้ออ้างที่กระทรวงพลังและ กฟผ.ใช้เป็นข้ออ้างสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ เพราะต้องจัดหาไฟฟ้าสำรองไว้ใช้ในอนาคต แต่พบว่าแม้ยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศไทยก็มีกำลังไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็นความต้องการใช้ไฟฟ้าจริง โดยปี 2553 มีกำลังผลิตติดตั้งในระบบถึง 31,000 เมกะวัตต์
แต่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 24,009 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำลังผลิตเกินจากกำลังสำรอง 15% ไปถึง 3,738 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบเป็นกำลังผลิตของไฟฟ้าที่เกินจะเท่ากับกำลังการผลิตของเขื่อนปากมูลรวมกันถึง 28 เขื่อน
“การจัดหาไฟฟ้าสำรอง ยังทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหาไฟฟ้าสำรองเป็นเงินหลายแสนล้านบาท ทั้งที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนรวมกันทั้งประเทศมีเพียง 20% ที่เหลือเป็นการใช้ของภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลาง 63% ธุรกิจขนาดเล็กและอื่นๆอีก 17%”
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ปี 2010 ของกระทรวงพลังงานมีการขยายระยะเวลาแผนการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศจากเดิม 15 ปี เป็น 20 ปี เพราะกระทรวงพลังงานต้องการผลักดันแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 5 โรงให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
จึงมีการขยายระยะเวลาให้เห็นว่า มีความต้องการสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากในอนาคต จึงขอให้ประชาชนช่วยกันจับตาการเกิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในระยะ 10 ปีข้างหน้านี้ โดยมีการคาดการณ์จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกราวปี พ.ศ. 2563 และสร้างต่อเนื่องให้ได้ครบ 5 โรงภายในปี พ.ศ.2571 นายสันติ นักวิชาการจากกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตกล่าว