xs
xsm
sm
md
lg

คนอุบลฯรณรงค์ต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หวั่นสวล.-สุขภาพพังซ้ำรอยเชอร์โนบิล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.สดใส สร่างโศก แกนนำต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้แกลบเป็นพลังงานของ อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี
อุบลราชธานี-กลุ่มตัวแทนภาคประชาชนร่วมนักศึกษา จ.อุบลราชธานี ตบเท้ารณรงค์ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ดีเดย์วันที่ 21ม.ค. พร้อมขยายเครือข่ายไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปทั่วประเทศ หวั่นผลกระทบสิ่งแวดล้อม และซ้ำรอยโศกนาฏกรรมการระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเมื่อ 24 ปีก่อน ชี้หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้นจริงแม้แต่น้ำก็จะแย่งกันใช้ทั้งภาคเกษตร-อุตสาหกรรม

น.ส.สดใส สร่างโศก แกนนำต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้แกลบเป็นพลังงานของ อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ภายหลังการตั้งเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การมาตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัด เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนภาคประชาชนและนักศึกษาที่เข้าร่วมเวที มีมติร่วมกันตั้งคณะทำงานรณรงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างรอบด้าน เพราะที่ผ่านมาภาคราชการและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ข้อมูลด้านดีแก่ประชาชนเพียงด้านเดียว แต่ไม่พูดถึงผลกระทบที่ตามมาภายหลัง โดยใช้ชื่อ “กลุ่มเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์”

กิจกรรมแรกที่ภาคประชาชนจากหลายอำเภอ จะร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และกลุ่มคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเคลื่อนไหวคือ วันที่ 21 ม.ค.นี้ นัดรวมตัวกันที่หน้าศาลหลักเมืองและเดินรณรงค์แจ้งข่าวการมาตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ชาวจ.อุบลราชธานีรับทราบ และจะเดินเข้าไปที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อถามนายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดว่ามีความเห็นเกี่ยวกับการมาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างไร และที่ผ่านมาได้ให้ข้อมูลอะไรแก่ประชาชนบ้างแล้ว

หลังจากนั้นกลุ่มคณะทำงานจะเริ่มเผยแพร่ข้อมูลไปยังทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชน มหาวิทยาลัย โรงเรียน เพื่อให้สังคมท้องถิ่นได้ ร่วมกันตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

จวกกฟผ.ให้ข้อมูลเท็จกำลังไฟฟ้าสำรอง

สำหรับข้อมูลในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเมื่อเร็วๆนี้ นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ นักวิชาการจากกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต ได้กล่าวถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยว่า เมื่อเดือน ก.ค.2553 กฟผ.ได้แสดงรายงานในหัวข้อการศึกษาเรื่องสถานที่ตั้ง ซึ่งใช้องค์ประกอบการพิจารณา 3 ด้านคือ ด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ สรุปว่าพื้นที่เหมาะสมเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 อันดับแรกคือ 1.อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี 2.ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ 3.ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด 4.ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี และ 5.ปากน้ำละแม อ.ละแม จ.ชุมพร โดยเป้าหมายหลักคือ จ.นครสวรรค์ และอุบลราชธานี เพราะมีความพร้อมทั้งที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ รวมทั้งชาวบ้านไม่ต่อต้านมากนัก

นายสันติยังให้ข้อมูลต่อว่า สำหรับประเด็นที่กระทรวงพลังงานและกฟผ.ใช้เป็นข้ออ้างสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ เพราะต้องจัดหาไฟฟ้าสำรองไว้ใช้ในอนาคต แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า แม้ยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศไทยก็มีกำลังไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็นความต้องการใช้ไฟฟ้าจริง โดยปี 2553 มีกำลังผลิตติดตั้งในระบบถึง 31,000 เมกะวัตต์ แต่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 24,009 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำลังผลิตเกินจากกำลังสำรอง 15% ไปถึง 3,738 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบเป็นกำลังผลิตของไฟฟ้าที่เกินจะเท่ากับกำลังการผลิตของเขื่อนปากมูลรวมกันถึง 28 เขื่อน

“การจัดหาไฟฟ้าสำรอง ยังทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหาไฟฟ้าสำรองเป็นเงินหลายแสนล้านบาท ทั้งที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนรวมกันทั้งประเทศมีเพียง 20% ที่เหลือเป็นการใช้ของภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลาง 63% ธุรกิจขนาดเล็กและอื่นๆอีก 17%”นายสันติกล่าว

สำหรับเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความเป็นห่วงคือ ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมในการก่อสร้างของไทย ซึ่งเทียบกับวิศวกรรมของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย เยอรมนี ไม่ได้ จะทำให้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม เพราะมีตัวอย่างจากการระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ประเทศรัสเซีย เมื่อ 24 ปีก่อน ทำให้สารกัมมันตรังสีทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่ากันถึง 200 เท่า และส่งผลกระทบทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือบางส่วน

ความเป็นห่วงอีกประการคือ จะเกิดการแย่งน้ำระหว่างภาคเกษตรกรรมกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะโรงไฟฟ้าต้องใช้น้ำจำนวนมากในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ รวมทั้งจะเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่างประชาชนด้วยกัน เพราะภาคราชการใช้วิธีดึงผู้นำหมู่บ้าน ทั้งสมาชิก อบต. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เป็นหัวขบวนในการประชาสัมพันธ์สนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

จึงมีความเห็นต้องร่วมกันเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในจังหวัดทราบความจริงด้านลบของการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย โดยกลุ่มเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ยังได้ตั้งเป้าไม่เฉพาะแค่รณรงค์ขับไล่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ย้ายไปสร้างในจังหวัดอื่น โดยเป้าหมายสูงสุดของการรณรงค์คือ ต้องไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในประเทศแม้แต่โรงเดียวอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น