xs
xsm
sm
md
lg

มหันตภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฝันร้ายในอดีต ที่กลับมาหลอกหลอนในวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีกเดือนเศษจะครบ 25 ปีของเหตุการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ระเบิด

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่เมืองเชอร์โนบิล ประเทศยูเครน ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต วันที่ 26 เมษายน 2529 ทีมวิศวกรตรวจสอบการทำงานของระบบทำความเย็น โดยปิดระบบรักษาความปลอดภัย เมื่อแรงดันไอน้ำภายในสูงขึ้นอย่างฉับพลันแต่ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติกลับไม่ทำงาน ส่งผลให้ให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ระเบิด สารกัมมันตรังสีเกือบทั้งหมดแพร่กระจายสู่บรรยากาศ ลอยออกไปปนเปื้อนทั้งในอากาศ แม่น้ำ ผืนดิน ทั่วทวีปยุโรปกว่า 3.9 ล้านตารางกิโลเมตร ต้องอพยพประชาชนเกือบ 4 แสนคน

รัฐบาลยูเครนพยายามปิดข่าว แจ้งเพียงแค่ว่ามีเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิตจำนวน 31 คน มีผู้บาดเจ็บจากกัมมันตรังสี 203 คน แต่ด้วยความต้องการไฟฟ้าจำนวนมาก รัฐบาลยูเครนก็สั่งเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เหลือในปี 2534 ก่อนที่โรงงานแห่งนี้จะปิดตัวเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543

ในปี 2545 องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้สรุปผลความเสียหายว่า มีผู้เสียชีวิตจากแรงระเบิดโดยตรง 47 ราย และคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีก 9,000 คน จากจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดประมาณ 6.6 ล้านคน ซึ่ง 4,000 คนมีสาเหตุจากโรคมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ ที่เหลือจากโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ และโรคอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจอีกจำนวนมาก

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หายนะภัยเชอร์โนบิลทำให้สารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิถึง 200 เท่า

ก่อนหน้านั้น 7 ปี เกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บนเกาะทรีไมลส์ รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เนื่องจากขาดน้ำหล่อเย็น ในแกนเครื่องปฏิกรณ์ ทำให้เชื้อเพลิงหลอมละลาย มีรังสีรั่วไหลสู่ภายนอกเล็กน้อยจากอาคารคลุมปฏิกรณ์ ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บใดๆ

อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ถือว่า ร้ายแรงที่สุด เท่าที่เคยเกิดขึ้นมา และทำให้อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เฟื่องฟูมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 โดยมีการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกกว่า 400 แห่ง ถึงยุคตกต่ำทึ่สุด เพราะภยันตรายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นที่ประจักษ์ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป มีการยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งทั่วโลก

แต่เมื่อน้ำมันซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นแตะ 100 ดอลลาร์ต่อ 1 บาร์เรล ในอีก 20 ปีต่อมา และปัญหาภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น เริ่มเป็นที่รับรู้กันว่า มีสาเหตุสำคัญ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ทำให้โลกเริ่มแสวงหาพลังงานอื่นๆ ที่จะมาทดแทนน้ำมัน ทำให้อุตสาหกรรมนิวเคลียร์โลกสบโอกาสชูพลังงานนิวเคลียร์ว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอ้างว่าหายนภัยร้ายแรงที่เชอร์โนบิลเป็นฝันร้ายในอดีตที่จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอีก เพราะเทคโนโลยีนิวเคลียร์สมัยใหม่ที่ปลอดภัยกว่า และการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวดของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ที่เป็นผู้กำกับดูแล การใช้พลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลก

อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นเทคโนโลยีราคาแพง ผู้ผลิตมีน้อยราย ที่มีกำไรมหาศาล และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือประเทศที่กำลังพัฒนา โดยประเทศที่ส่งออกอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รายใหญ่ของโลกคือ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาจะมีข่าวประเทศกำลังพัฒนาประกาศสร้างโรงฟ้านิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม ฯลฯ แต่แทบจะไม่เคยมีข่าวเลยว่า ประเทศในยุโรป หรือ สหรัฐฯ หรือแคนาดา จะมีโครงการโรงฟ้านิวเคีลยร์แห่งใหม่ เพราะในประเทศเหล่านี้ ได้พัฒนาการใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม อย่างมีประสิทธิภาพ และตระหนักถึงอันตรายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นอย่างดี

ตลาดของอุตสาหกรรมโรงฟ้านิวเคลียร์จึงมุ่งมาที่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะเอเชีย ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูง มีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ประ เทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย และอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โลก ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ในการผลักดันให้มีการบรรจุการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2550-2564 และกระทรวงพลังงานได้ตั้งหน่วยงานที่จะผลักดันการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยขึ้นมา โดยภารกิจสำคัญคือการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่เคยมีกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้วยงบประมาณรับร้อยๆ ล้านบาท

แต่วิฤติการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมา จากผลกระทบของแผ่นดินไหวและสึนามิ ทำให้ระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน แกนเชื้อเพลิงร้อนจัด จนอาคารที่ตั้งเตาปฏิกรณ์ ลุกไหม้ และระเบิด ทำให้กัมมตรังสีรั่วไหลออกมาภายนอก ทำให้อุตสาหกรรมนิวเคลียร์โลก ต้องพบกับอุปสรรคใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพราะวิกฤติการณ์ครั้งนี้ ซึ่งมีความรุนแรงระดับ 6 เกือบเท่ากับเชอร์โนบิลที่รุนแรงมากที่สุดคือระดับ 7 ทำให้ประชาชนในประเทศกลุ่มเป้าหมายของอุตสาหกรรมนี้ตื่นจากภวังค์ที่ถูกขับกล่อมโดยอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และค้นพบว่า ฝันร้ายในอดีตไม่ได้หายไปไหน แต่เป็นจริงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น