โดย....จารยา บุญมาก
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น ทำหลายคนต้องตื่นตระหนกไปกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนไทยออกอาการตื่นกลัวกับสารกัมมันตรังสียิ่งกว่าคนญี่ปุ่นในพื้นที่เสียอีก
สดๆ ร้อนๆ ก็นโยบายการเร่งผลิตโพแทสเซียมไอโอไดด์ ( Potassium Iodide) ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เจ้ากระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ซึ่งสั่งองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ผลิตอย่างทันท่วงที 15,000 เม็ด แจกจ่ายให้กลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสี อาทิ กลุ่มที่จำเป็นต้องเดินทางไปทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งทางการได้ประกาศเป็นพื้นที่อันตราย ได้แก่ บริเวณพื้นที่จังหวัดฟูกูชิมา ที่อยู่ในรัศมี 20- 30 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ.อธิบายถึงยาโพแทสเซียมฯ ว่า เป็นยาที่ผลิตขึ้นในสูตรเดียวกับที่ประเทศรัสเซียใช้ เมื่อเกิดการระเบิดของโรงไฟฟ้าปรมาณู ที่รัสเซีย โดยนักวิจัยพบว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ จากรังสีไอโอดีน 131 (รังสีแกมมาและเบต้า) ได้ดี ดังนั้น จึงปกป้องประชาชนที่ได้รับสารกัมมันตรังสีได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจัดเป็นยาเฉพาะที่ผลิตมาเพื่อสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น การที่จะแจกจ่ายให้ประชาชนได้ก็ต้องได้รับการยืนยันก่อนว่า จำเป็นต้องใช้จริงๆ
สำหรับวิธีรับประทาน คือ สามารถรับประทานได้ก่อนเข้าสู่พื้นที่เสี่ยง ที่มีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ก่อน 1-12 ชม.โดยฤทธิ์ของยาจะอยู่ได้นาน 24 ชม.เด็กอายุ 1 เดือนถึง 3 ปี รับประทานขนาด 32 มิลลิกรัม เด็กอายุ 3-18 ปี ทาน 65 มิลลิกรัม ส่วนผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปีแต่ไม่เกิน 40 ปี ทานในขนาด 130 มิลลิกรัม คือ ปริมาณ 1 เม็ดนั่นเอง สำหรับผู้ใหญ่วัยตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไปนั้นนับว่าเป็น
กลุ่มที่อาจเสี่ยงต่อการแพ้ยาดังกล่าวอย่างมาก ดังนั้น แนะนำว่า ถ้าไม่ได้เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงมากของรัศมีการแพร่สารกัมมันตรังสีก็ไม่แนะนำให้ทาน เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยาชนิดนี้ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ควรรับประทานขนาด 130 มิลลิกรัม ปริมาณแค่ 1 เม็ดครั้งเดียว
“ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น จากการแพ้ยา คือ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ร้อนในปากและลำคอ บางรายมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือขั้นต่อมน้ำลายอักเสบ หรือมีน้ำตาไหลออกมา ซึ่งเป็นอาการของการแพ้ยา ดังนั้นแนะนำว่า หากเลี่ยงได้ไม่ควรจะเดินทางเข้าใกล้บริเวณที่มีสารกัมมันตรังสีเลยจะดีกว่า เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้ยาดังกล่าว” นพ.วิทิต กล่าวแนะนำ
หลายคนมีข้อสงสัยว่า ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ นั้น เป็นยาชนิดเดียวกับยาไอโอดีนเม็ดที่ให้หญิงตั้งครรภ์ หรือเปล่า ความจริงข้อนี้ คือ เป็นชนิดที่เข้มข้นกว่าถึง 1,000 เท่า จึงไม่แปลกที่จะต้องมีการควบคุมพิเศษสำหรับการผลิตเพื่อใช้ในด้านสาธารณสุข
นพ.วิทิต บอกอีกว่า ข้อควรระวังเป็นพิเศษสำหรับการใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ อีกประการที่ประชาชนต้องทราบ คือ ยาชนิดนี้ห้ามใช้ในคน 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่ใช้แพ้ไอโอดีน 2.ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์มีพิษโดยกลุ่มนี้หาเป็นกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนรับยา 3.การจะกินยานี้ได้ ต้องไม่มีการกินยาชนิดอื่นที่มีไอโอดีนอยู่แล้ว และกลุ่มที่ 4 คือ ผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
ผู้อำนวยการ อภ.ฝากอีกว่า เหตุที่แพทย์และเภสัชกรมีข้อแนะนำดังกล่าก่อนการใช้ยา เนื่องจากยาชนิดนี้เป็นชนิดเข้มข้น ซึ่งประชาชนควรรู้ไว้ว่าหากกินยาเกินขนาดหรือมีความถี่กว่าข้อแนะนำในฉลากยา นั้นไม่ได้ช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีกว่าเดิมในการป้องกันการเกิดมะเร็งของต่อมไทรอยด์ จากรังสีไอโอดีน 131 เลย หากแต่จะยิ่งทวีความรุนแรงต่อการกระตุ้นอาการแพ้ และเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้