xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.กร้าวเดินหน้าโรงไฟฟ้านครฯ อ้างชาวบ้านส่งอีเมล์หนุนอยู่ต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - การต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินส่อแววลากยาวและวุ่นวาย หลังจากที่ถึงเส้นตายชาวบ้านสั่งย้ายสำนักงาน กฟผ. แต่กลับปิดประตูแล้วให้บุคลากรทำงานอยู่ภายใน ไม่หวั่นแม้ถูกมือมืดขว้างหลังคา จนทำให้ชาวบ้านออกทวงถามผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ด้านปชส.ศูนย์ข้อมูลถ่านหินแจ้งมีชาวบ้านตั้งกลุ่มหนุนเตรียมยื่นหนังสือไม่ให้ปิดศูนย์

วันนี้ (15 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. แกนนำเครือข่ายประชาชนกลุ่มต่างๆที่ต่อต้านคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา กว่า 30 คน เข้าพบกับนายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามถึงกรณีการทำหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ย้ายสำนักงานและคนออกจากพื้นที่นครศรีธรรมราช และยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่นครศรีธรรมราช ภายในวันที่ 15 มี.ค.54 ซึ่งหากไม่ยุติและย้ายออกไปจากพื้นที่ จะมีการประกาศมาตรการกดดันที่มีความเด็ดขาดขึ้นตามลำดับในเที่ยงคืนของวันเดียวกัน

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สั่งการให้นายอุทัย ภูริพงศธร พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมในการชี้แจงด้วย โดยไม่ปรากฎ เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยปรากฏตัวในที่ประชุมชี้แจงแต่อย่างใด ท่ามกลางการถกในข้อเหตุผลอย่างกว้างขวาง

นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ในเรื่องของโรงไฟฟ้าที่ประชาชนมีปฏิกิริยาต่อต้านมาก สิ่งสำคัญคือถ้าประชาชนไม่เอาด้วยกับโครงการอันนี้สำคัญที่สุด ภาคประชาชนมีส่วนสำคัญ วานนี้นายกรัฐมนตรียังสั่งให้มีการทบทวนแผนพลังงานต่างๆ ในพื้นที่กังหันลมดูดีไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมใดๆ และยืนยันผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆทั้งสิ้น

“ส่วนของการสั่งปิดสำนักงานนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจสั่งปิด แต่อย่างไรก็ตาม ได้ทำหนังสือไปยังฝ่าย กฟผ.ให้ดำเนินการพิจารณาในเรื่องนี้ จังหวัดจึงมีสถานะเป็นตัวกลาง แม้แต่วันนี้ กฟผ.ยังไม่มาชี้แจงและไม่ได้ทำหนังสือใดๆเข้ามาเลย ผู้ว่าขอยืนยันว่าได้ดำเนินการไปแล้วตามข้อเรียกร้องของประชาชนที่ยื่นหนังสือเข้ามา” ผวจ.นครศรีธรรมราช กล่าว

นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา กล่าวว่าเวลานี้กฟผ.ทำเหมือนศรีธนญชัย แค่เอากระดาษ 2 แผ่นมาปิดไว้ที่หน้าสำนักงานแล้วปิดประตู แต่คนยังทำงานอยู่ด้านใน การปิดประตูสำนักงาน ปิดสำนักงานชั่วคราวแต่คนอยู่นั้นหมายความว่าอย่างไร

“เราต้องการให้ กฟผ.ย้ายออกไปจากพื้นที่นครศรีธรรมราชเท่านั้น สิ่งนี้จะเป็นการแสดงความจริงใจของหน่วยงานทั้งหมด ในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้เพราะผู้บริหารระดับสูงของกฟผ.ออกมาเผยตลอดว่า หากประชาชนไม่ยอมรับ ไม่เอาจะย้ายออกทันที และขณะนี้ กฟผ.ยังไม่ได้เลือกพื้นที่จังหวัดนครศรี ทั้งใน อ.ท่าศาลา และอ.หัวไทร ในการตั้งโรงไฟฟ้า เพราะฉะนั้นมาตั้งสำนักงานอยู่ที่นครศรีธรรมราช ด้วยสาเหตุใดควรออกไปเท่านั้น” นายทรงวุฒิกล่าว

ด้านนายอุทัย ภูริพงศธร พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการเป็นการแจ้งด้วยวาจาจากศูนย์ประสานงาน กฟผ.ใน อ.ท่าศาลาและ อ.หัวไทร ได้ปิดตัวลงชั่วคราวแล้ว ซึ่งในส่วนของนครศรีธรรมราช ได้แจ้งอย่างชัดเจนแล้วว่ายินดีเป็นแกนกลางในการเจรจาพูดคุย

ขณะเดียวกัน ในการยื่นหนังสือของประชาชนกับนายกรัฐมนตรีเมื่อช่วงต้นเดือน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในหนังสือร้องเรียนกลับมาแล้วว่า ให้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล และให้ประสานงานกับส.ส.ในพื้นที่ คือ ส.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล และ ส.ส.วิทยา แก้วภราดัย ซึ่งข้อมูลในการแจ้งว่า การปิดนั้นไม่เป็นความจริงยังคงเปิดอยู่ เป็นข้อเท็จจริงในพื้นที่พลังงานจังหวัดต้องเข้าตรวจสอบเช่นเดียวกัน

ส่วนทางด้านนายกัมพล จิตตะนัง ผู้ประสานงานเครือข่ายวลัยลักษณ์เพื่อปวงชน เปิดเผยว่า หลายคนมีข้อเป็นห่วงว่าหลังจากนี้หากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯยังไม่ย้ายออกไปนั้น ต่างทราบดีว่าเรายื่นเงื่อนไขให้ย้ายออกไป หากไม่ย้ายออกเราเป็นห่วงอารมณ์ของคนวิตกว่าจะเกิดปัญหาความรุนแรงขึ้น

“เรามีเจตนาที่บริสุทธิ์ แสดงให้เห็นมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าหากเราใช้ความรุนแรงในการขับไล่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกไปนั้นเราทำได้ตั้งแต่ต้น แต่เราไม่ทำเพราะไม่ใช่แนวทาง ทั้งๆที่เรามีศักยภาพ วันนี้หาก กฟผ.ยังอยู่จึงไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างเพราะมือที่ 3 มือที่ 4 ก็ไม่ทราบได้”

ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้มีมติเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำหนังสือด่วนที่สุดเสนอให้ กฟผ.ยุติโครงการและย้ายออกจาพื้นที่ไปก่อน ซึ่งทางแกนนำและประชาชนได้รอหนังสือฉบับดังกล่าว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดยินยอมทำหนังสือ แต่ระบุว่าไม่สามารถไปบังคับ กฟผ.ได้ หาก กฟผ.จะตอบหรือทำอย่างไรเป็นสิ่งที่ กฟผ.สามารถปฏิบัติได้ แต่ทั้งนี้ทั้งหมดต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ของฝ่ายประชาชนและได้ตอบรับในการเป็นประธานร่วมกันสร้างยุทธศาสตร์พลังงานหมุนเวียน ในจังหวัดนครศรีธรรมราช อีกด้วยซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่าทั้งสองพื้นที่คือ อ.ท่าศาลา และอ.หัวไทร สำนักงานของ กฟผ.ยังคงมีความเคลื่อนไหวตามปกติ ทำให้เกรงว่าจะเป็นการท้าทายความรู้สึกของชาวบ้าน ส่วนที่ อ.ท่าศาลา นั้นได้มีเหตุการณ์กลุ่มคนได้ก่อเหตุขว้างปาหลังคาสำนักงานด้วยก้อนอิฐ ก้อนหินทำให้หลังคาสำนักงาน กฟผ.ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่อง แต่เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ประจำอยู่ไม่ยอมรายงานให้ผู้บริหารทราบ นับแต่วันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลพบว่าเป็นความจริง

ขณะเดียวกัน ได้มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ จากเจ้าหน้าที่ประศูนย์ข้อมูลการพัฒนาพลังงานไฟฟ้านครศรีธรรมราช แจ้งว่าจะมีกลุ่มคนในนามชมรมคนรักหัวไทรเตรียมที่จะมายื่นหนังสือคัดค้านไม่ให้มีการปิดศูนย์ข้อมูลใน อ.หัวไทร ทำให้หลายฝ่ายวิตกมากขึ้นเนื่องจากมีบางฝ่ายไปสร้างความแตกแยกด้วยการปลุกปั่นให้ฝ่ายที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าออกมาต่อต้านผู้ที่ไม่สนับสนุนอีกด้วย

กลุ่มคัดค้านพบกับผู้ว่าฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าฯ รับเรื่องแต่ไม่รับปากว่าจะสามารถดำเนินการไม่ให้ กฟผ.ย้ายสำนักงานประชาสัมพันธ์โครงการออกได้
กำลังโหลดความคิดเห็น