“ศ.ชินยะ ยามานากะ” นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นผู้พัฒนาสเต็มเซลล์แบบไม่ใช้ตัวอ่อน คว้ารางวัลเกียรติยศจากสเปน จากผลงานบุกเบิกกระตุ้นให้เซลล์กลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นความหวังในการรักษาโรคอย่างเฉพาะเจาะจงตัวบุคคล
รางวัลที่ “ศ.ชินยะ ยามานากะ” (Shinya Yamanaka) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและประยุกต์ใช้เซลล์ไอพีเอส มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ญี่ปุ่น ได้รับนี้ เอเอฟพีรายงานว่าเป็นรางวัลมูลนิธิพรมแดนแห่งความรู้บีบีวีเอ (BBVA Foundation Frontiers of Knowledge Award) ของสเปน ในสาขาชีวการแพทย์ ซึ่งเขาจะได้รับเงินรางวัลเป็นมูลค่า 400,000 ยูโร หรือประมาณ 17 ล้านบาท
ทางมูลนิธิเจ้าของรางวัลประกาศว่า อดีตศัลยแพทย์กระดูกได้สร้างการค้นพบที่ยิ่งใหญ่เมื่อปี 2006 เมื่อเขาประสบความสำเร็จในการกระตุ้นการทำงานสเต็มเซลล์จากการเหนี่ยวนำไอพีเอส (induced pluripotent stem cells: iPS) หรือกระตุ้นการเป็นสเต็มเซลล์ขึ้นในเนื้อเยื่ออื่นของร่างกาย ซึ่งก่อนที่ยามานากะจะพิสูจน์ให้เห็นสิ่งที่ต่างออกไปนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเชื่อว่ามีเพียงสเต็มเซลลืจากตัวอ่อนเท่านั้นที่ทำได้
“คณะกรรมการให้ความสำคัญกับแนวคิดใหม่ที่น่าตื่นเต้นนี้ ซึ่งเซลล์เหล่านี้ได้เปิดทางให้แก่ทั้งงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยเชิงคลินิก ด้วยการบำบัดรักษาที่เฉพาะบุคคลและการให้ยาที่ตรงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำขึ้น สิ่งที่เป็นไปได้จากการงานด้านเซลล์ไอพีเอสนี้ได้รับจากตัวคนไข้เองที่จะหลีกเลี่ยงการรักษาราวกับเป็นหนูทดลอง และงานนี้จะทำให้เกิดวิธีในการคัดกรองเซลล์พื้นฐานเพื่อใช้ในการค้นหายาโมเลกุลเล็กเพื่อบำบัดโรคที่หลากหลาย และในที่สุดงานวิจัยนี้อาจทำเกิดนวัตกรรมหรือแม้แต่การบำบัดรักษาที่เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์ของคนไข้ โดยเฉพาะการลดอาการของโรค” คำแถลงจากมูลนิธิ
ยามานากะกล่าวว่า เขาได้แนวคิดในการเปลี่ยนกลับเซลล์ที่ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่เฉพาะแล้วนั้น เกิดขึ้นกับเขาขณะที่มีกำลังศึกษาการทดลองผลิตกบโคลนนิงตัวแรกออกมาเมื่อราวปี 1970 และการให้กำเนิดแกะดอลลี (Dolly the sheep) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโคลนนิงตัวแรกของโลกเมื่อปี 1996
“จากงานของพวกเขานั้น ผมได้เรียนรู้ว่าสามารถที่เปลี่ยนกลับเซลล์ร่างกายให้กลายเป็นระยะตัวอ่อนได้ นี่เป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมเริ่มโครงการของผม” ยามานากะ นักวิทยาศาสตร์วัย 48 ปีกล่าว
สำหรับรางวัลมูลนิธิพรมแดนความรู้บีบีวีเอนี้ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 เพื่อมอบให้แก่ผลงานวิจัยและการสร้างสรรค์เชิงศิลปะใน 8 สาขา ได้แก่ นิเวศน์วิทยาและชีววิทยาการอนุรักษ์ (Ecology and Conservation Biology) ชีวการแพทย์ (Biomedicine) วิทยาศาสตร์พื้นฐาน (ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์) (Basic Sciences (Physics, Chemistry, Mathematics) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technologies) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ดนตรีร่วมสมัย (Contemporary Music) ความร่วมมือในการพัฒนา (Development Cooperation) และเศรษฐศาสตร์ การเงินและการจัดการ (Economics, Finance and Management)