คณะกรรมการโนเบล มอบรางวัลสาขาแพทย์แก่ 2 นักวิจัยผู้เปลี่ยน “เซลล์แก่” จากร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่โตเต็มวัยกลับสู่ “เซลล์ต้นกำเนิด” ที่สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์อื่นๆ ได้ นับเป็นการพลิกความเชื่อว่า เซลล์เต็มวัยไม่สามารถเปลี่ยนกลับไปเป็นเซลล์ตัวอ่อนได้
สมัชชาโนเบล ที่สถาบันแคโรลินสกา (The Nobel Assembly at the Karolinska Institute) สตอกโฮล์ม สวีเดน โดยคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสรีศาสตร์หรือการแพทย์ ได้ประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์ หรือการแพทย์ ประจำปี 2012 เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2012 โดยรางวัลตกเป็นของ จอห์น กัวร์ดอน (John Gurdon) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ และ ชินยะ ยามานากะ (Shinya Yamanaka) จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ญี่ปุ่น
สรุปคำประกาศของคณะกรรมการ ระบุว่า มอบรางวัลโนเบลให้แก่ 2 นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบว่า สามารถนำเซลล์ที่โตเต็มวัยและเปลี่ยนไปทำหน้าที่เฉพาะแล้วนั้น มาเปลี่ยนชุดคำสั่งใหม่เพื่อให้กลายเป็นเซลล์ที่ยังไม่มีหน้าที่เฉพาะ และพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อทุกชนิดในร่างกายได้ ซึ่งการค้นพบของพวกเขาได้ปฏิวัติความเข้าใจของเราเกี่ยวกับการพัฒนาของเซลล์และอวัยวะต่างๆ
สำหรับ กัวร์ดอน นั้น ในปี 1962 เขาพบว่าเซลล์ที่มีหน้าที่เฉพาะสามารถเปลี่ยนกลับเป็นเซลล์ที่ยังไม่ถูกกำหนดการทำงานได้ ซึ่งในการทดลองสำคัญเขาได้แทนที่นิวเคลียสของเซลล์ไข่กบอันเป็นเซลล์ที่ยังไม่โตเต็มวัย ด้วยนิวเคลียสจากเซลล์ลำไส้ที่โตเต็มวัยแล้ว ผลคือ เซลล์ไข่พัฒนาเป็นเซลล์ลูกอ๊อดที่ปกติ และดีเอ็นเอในเซลล์เต็มวัยก็ยังคงมีข้อมูลอันจำเป็นต่อการพัฒนาเป็นเซลล์อื่นๆ ของกบต่อไป
การค้นพบของกัวร์ดอนในช่วงแรกต้องเผชิญกับความเคลือบแคลงสงสัย แต่ได้รับการยอมรับเมื่อมีการทดลองที่ให้ผลยืนยันโดยนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ซึ่งมีงานวิจัยและเทคนิคจำนวนมากที่ได้รับการพัฒนาขึ้น รวมถึงนำไปสู่การโคลนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม งานวิจัยของเขาแสดงให้เห็นเฉพาะในส่วนของนิวเคลียส แต่คำถามคือเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยนเซลล์เต็มวัยให้กลายเป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่พร้อมจะกลายเป็นเซลล์อื่นๆ ได้
กัวร์ดอนต้องใช้เวลากว่า 40 ปี จึงพิสูจน์เรื่องดังกล่าวได้ โดยในปี 2006 เมื่อยามานากะค้นพบว่า เซลล์เต็มวัยที่ยังไม่เสียหายนั้นสามารถนำมาเปลี่ยนชุดคำสั่งใหม่ให้กลายเป็นเซลล์ที่ยังไม่เต็มวัยได้ และการค้นพบของเขายังสร้างความประหลาดใจได้อีก โดยการเปลี่ยนยีนเพียงไม่กี่ตัวก็ทำให้เขาแปลงเซลล์ที่โตเต็มที่แล้วให้กลายเป็นเซลล์ต้นกำเนิดได้ และเป็นเซลล์ที่สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ทุกรูปแบบในร่างกาย ซึ่งเขาเรียกเซลล์ที่เปลี่ยนกลับสู่เซลล์ระยะเริ่มต้นนี้ว่า “เซลล์ไอพีเอส” (iPS cells)
ทั้งนี้ เราทุกคนรวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ล้วนพัฒนาขึ้นมาจากเซลล์ไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์ ระหว่างระยะแรกๆ ของเซลล์นั้นตัวอ่อนหรือเอ็มบริโอจะมีเซลล์ที่ยังไม่เต็มวัย ซึ่งแต่ละเซลล์เหล่านี้สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ใดๆ ก็ได้ และก่อตัวขึ้นเป็นอวัยวะที่เจริญเต็มวัย เรียกเซลล์ตัวอ่อนนี้ว่า “เซลล์ต้นกำเนิดพลูริโพเทนท์” (pluripotent stem cells)
เมื่อเซลล์ตัวอ่อนพัฒนาต่อไปก็จะเติบโตไปเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่เฉพาะในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่โตเต็มวัย อย่างเซลล์ประสาท เซลล์ตับ เซลล์กล้ามเนื้อ และเซลล์อื่นๆ ซึ่งเคยเชื่อกันว่าการเดินทางจากเซลล์ที่ยังไม่เต็มวัยสู่เซลล์ที่มีหน้าที่เฉพาะนั้น ไม่สามารถหวนกลับคืนได้
“การค้นพบครั้งสำคัญนี้ได้เปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อการพัฒนาและการกำหนดหน้าที่ของเซลล์ไปอย่างสิ้นเชิง ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่า เซลล์เต็มวัยไม่จำเป็นต้องถูกกำจัดอยู่ในหน้าที่เฉพาะตามที่แสดงออกเสมอไป มีตำราจำนวนมากถูกเขียนขึ้นใหม่ และก็มีการทำวิจัยสาขาใหม่ๆ และการเปลี่ยนชุดคำสั่งใหม่ให้เซลล์มนุษย์ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการศึกษาโรคต่างๆ และพัฒนาวิธีเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและการบำบัดรักษา” เอกสารจากคณะกรรมการโนเบล ระบุ
ข้อมูลจากคณะกรรมการโนเบล ยังระบุอีกว่า ตอนนี้เราสามารถสร้างเซลล์ไอพีเอสในมนุษย์ได้แล้ว รวมถึงใช้เซลล์จากผู้ป่วยมาสร้างเซลล์ดังกล่าวนี้ โดยเซลล์เต็มวัยทั้งเซลล์ประสาท เซลล์หัวใจและเซลล์ตับนั้นสามารถสร้างเป็นเซลล์ไอพีเอสได้ และช่วยให้นักวิจัยศึกษากลไกของโรคได้ด้วยวิธีใหม่
**********
เซอร์ จอห์น บี กัวร์ดอน เกิดเมื่อปี 1933 ในเมืองดิพเพนฮอลล์ สหราชอาณาจักร จบปริญญาเอกเมื่อปี 1960 จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) และเป็นบัณฑิตหลังปริญญาเอกที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) จากนั้นเข้าทำงานที่เคมบริดจ์เมื่อปี 1972 และได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์เซลล์ชีววิทยา และเป็นอาจารย์วิทยาลัยแมกดาเลน (Magdalene College) ปัจจุบันทำงานที่สถาบันกัวร์ดอน (Gurdon Institute) ในเคมบริดจ์
ชินยะ ยามานากะ เกิดในปี 1962 ที่โอซากา ญี่ปุ่น จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยโกเบ (Kobe University) เมื่อปี 1987 และได้รับการฝึกผนเป็นศัลยแพทย์กระดูก ก่อนที่จะเปลี่ยนมาทำงานวิจัยพื้นฐาน เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโอซากา (Osaka University) เมื่อปี 1993 หลังจากทำงานที่สถาบันแกลดสโตน (Gladstone Institute) ในซานฟรานซิสโก และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนาระ (Nara Institute of Science and Technology) ในญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต และมีความร่วมมือกับสถาบันแกลดสโตน
อ่านเพิ่มเติม
-ประกาศรางวัลโนเบล 2012