เชียงราย - ฉลองครบรอบ 14 ปี ม.แม่ฟ้าหลวงยิ่งใหญ่ ตอกย้ำการใช้ภาษาอังกฤษ-จีนในการเรียนการสอน พร้อมจับมือมหาวิทยาลัยจากเดนมาร์ก นำปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมาใช้ในการเรียนการสอนต่อ
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย ได้จัดงานครบรอบ 14 ปีการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ที่หอประชุมสมเด็จย่า เมื่อวานนี้ (25 ก.ย. 55) โดยมีทั้งพิธีทำบุญตักบาตร ถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์แด่สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี พิธีทางพุทธศาสนา พร้อมกับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้มีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัย และใบประกาศเกียรติคุณแก่พนักงานดีเด่น และผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยด้วย
รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีการจัดการเรียนการสอนใน 10 สำนักวิชา รวมหลักสูตรที่เปิดสอนทั้งสิ้น 71 หลักสูตร ซึ่งล้วนพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการด้านกำลังคนของประเทศ ครอบคลุมศาสตร์ต่างๆ จำแนกตามกลุ่มสาขาวิชา ดังนี้ กลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มี 3 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาศิลปศาสตร์, สำนักวิชาการจัดการ, สำนักวิชานิติศาสตร์-กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มี 3 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์, สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ, สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร-กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มี 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง, สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ, สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์, สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ
รศ.ดร.วันชัยกล่าวอีกว่า สำนักวิชาที่จัดตั้งล่าสุดในปี 2555 คือ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มรับนักศึกษาได้ในปีการศึกษา 2556
ส่วนหลักสูตรที่เปิดใหม่ในปีการศึกษา 2555 มีจำนวน 5 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรระดับปริญญาตรี 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ระดับปริญญาโท 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรการบริหารวิสาหกิจ และหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการพัฒนาวิชาชีพ ระดับปริญญาเอก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการพัฒนาวิชาชีพ และหลักสูตรบริหารธุรกิจ
ในปีการศึกษา 2555 มีนักศึกษาใหม่ถึง 3,464 คน มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยแบ่งตามภูมิภาค ดังนี้ ภาคเหนือ 43% กรุงเทพฯ และปริมณฑล 19% ภาคใต้ 13% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9% ภาคกลาง 6% ภาคตะวันออก 4% ภาคตะวันตก 3% และต่างประเทศ 3% บัดนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีนักศึกษาจากทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทยรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้นถึง 10,768 คน ในทุกระดับการศึกษา นับเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีการศึกษาแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2542 ซึ่งมีนักศึกษา 62 คน มีผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้วจำนวน 10 รุ่น รวม 9,282 คน บัณฑิตเหล่านี้กระจายตัว ทั่วทุกภาคของประเทศ
อธิการบดี มฟล.บอกว่า มหาวิทยาลัยตระหนักดีถึงความจำเป็นของนักศึกษาไทย ด้านความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ รวมทั้งภาษาจีน ที่กำลังทวีความสำคัญขึ้นมาตามลำดับ จึงได้กำหนดเป็นนโยบายและแนวปฏิบัติไว้แต่แรกเริ่มว่าจะจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในทุกชั้นปี ทุกหลักสูตร สำหรับภาษาจีนนั้นสอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมากว่า 10 ปี แล้ว จึงได้ขอความร่วมมือจากรัฐบาลจีน จัดตั้งศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธรขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน ให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผลให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นผู้นำทางด้านการสอนภาษาจีนในเวลาต่อมา
แต่เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตให้ดียิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยได้เริ่มนำวิธีการเรียนการสอนโดยการใช้ระบบการเรียนการสอน จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง (Problem Based Learning) มาประยุกต์ใช้ในหลายหลักสูตร โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยอัลบอร์ก ประเทศเดนมาร์ก
นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดการพัฒนาความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งรูปแบบวิธีการเรียนและการสอน ในรูปแบบต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัย ได้มีความรู้ ความสามารถเชิงวิเคราะห์ได้ และความสามารถที่จะปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัว ในทุกวัฒนธรรม เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ในส่วนของการวิจัยเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ มหาวิทยาลัยได้มุ่งพัฒนาและส่งเสริมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์งานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ เพื่อแก้ปัญหาของชุมชนและประเทศชาติ โดยเน้นการวิจัยที่สอดคล้องกับทิศทางการวิจัยของชาติ รวมทั้งการวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความรู้ความคิดใหม่ ที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังมีเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง จนถึงปัจจุบันมีงานวิจัยไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 570 เรื่อง โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2555 มี 75 เรื่อง ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลและมหาวิทยาลัย กว่า 25 ล้านบาท และมีการวิจัยในหลายมิติ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เศรษฐศาสตร์การค้าชายแดน อาหารเสริมและเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาจากธรรมชาติและยาสมุนไพรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เวชศาสตร์ชะลอวัย และโรคผิวหนัง อุตสาหกรรมเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้มีการศึกษาวิจัยในการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนมัธยมในต่างจังหวัดอีกด้วย