xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยอาหารทะเลแดนใต้คว้าเดี่ยว “นักวิทย์ดีเด่น’ 54”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล นักวิทย์ดีเด่นปี 54
นักวิจัยแปรรูปอาหารทะเลคว้าเดี่ยว “นักวิทย์ดีเด่น” ปี 54 ชี้งานวิจัยพื้นฐานมีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมคุณภาพในอุตสาหกรรมอาหารทะเล และช่วยแก้ปัญหาได้ พร้อมเปิดตัวอีก 4 “นักวิทย์รุ่นใหม่” ในงานวิจัย 4 ด้าน โลหะ อิเล็กทรอนิกส์ แยกเซลล์มะเร็งและเชื้อเพลิงชีวภาพ

“คนๆ นี้เก่งไปทั่วโลก ใครต้องการรู้เรื่องพื้นฐานอาหารทะเล ต้องมาหาคนนี้ คนนี้เก่งและดีมาก คนไทยควรจะต้องยกย่อง” ศ.ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวก่อนเผยรายชื่อผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเน ประจำปี 2554 ณ โรงแรมสยามซิตี

สำหรับผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2554 ได้แก่ ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้วิจัยด้านการปรับปรุงคุณภาพอาหารทะเลและการใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล และมีผลงานตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการกว่า 300 ผลงาน

ศ.ดร.สุทธวัฒน์บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า ทำวิจัยด้านอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลมา 14 ปีแล้ว โดยเน้นงานวิจัยพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นองค์ความรู้สำหรับอุตสาหกรรมนี้ และบอกว่าภาคใต้มีแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลจำนวนมาก แต่มีงานวิจัยด้านนี้น้อย มีปัญหาสินค้าถูกตีกลับเยอะเนื่องจากปัญหาคุณภาพ และส่วนใหญ่จะแก้ไขด้วยการลองผิดลองถูก แต่ไม่คิดแก้ปัญหาโดยใช้งานวิจัยพื้นฐาน

“องค์ความรู้ด้านเคมีและชีวเคมีมีความสำคัญต่องานวิจัยด้านอาหารทะเลมาก ถ้าไม่มีงานวิจัยพื้นฐานเราจะไปได้ไม่ไกลมาก” ศ.ดร.สุทธวัฒน์กล่าว

นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นปีล่าสุดยกตัวอย่างการนำงานวิจัยพื้นฐานไปแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลว่า กุ้งทะเลที่ส่งออกเมื่อนำไปนึ่งจะได้สีส้มสวยงาม แต่เมื่อนำไปวางบนชั้นจำหน่ายกลับเปลี่ยนเป็นสีดำ (melanosis) ทำให้ผู้บริโภคปฏิเสธสินค้า จากการศึกษาพบว่าสีดำดังกล่าวเกิดจากเอนไซม์พอลิฟีนอลออกซิเดส (Polyphenol Oxidase) ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากเมล็ดกระถินช่วยยับยั้งเอนไซม์ชนิดนี้ได้

นอกจากนี้ ศ.ดร.สุทธวัฒน์ยังมีงานวิจัยแปรรูปของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ซึ่งแต่ละวันมีของเหลือทิ้งหลายตัน และเป็นสัดส่วนต่อน้ำหนักสัตว์ที่จับเข้าโรงงานแปรรูปมากถึง 30-40% โดยเขาได้ยกตัวอย่างหนังปลา ก้างปลาและหัวปลาที่เหลือทิ้งจากการชำแหละในโรงงานจะถูกขายไปทำอาหารสัตว์ ซึ่งขายได้กิโลกรัมละไม่กี่บาท แต่หากสกัดเอาคอลลาเจนออกมาจะเพิ่มมูลค่าได้เป็นกิโลกรัมละ 100-1,000 บาท

นอกจากนี้ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2554 ได้แก่ 1.ดร.ยุทธนันท์ บุญยงมณีรัตน์ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำงานวิจัยด้านเทคโนโลยีเคลือบผิวโลหะ 2.รศ.ดร.ยงยุทธ เหล่าศิริถาวร ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำงานวิจัยด้านการจำลองปัญหาด้วยการคำนวณทางคอมพิวเตอร์เพื่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 3.ผศ.ภก.ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ ภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาชีววิทยาเซลล์มะเร็งและคัดเลือกยาเพื่อรักษาคนไข้ให้ดีขึ้น และ 4.ดร.ขจรศักดิ์ เฟื่องนวกิจ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งศึกษาตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่องานวิจัยด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ

ทั้งนี้ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ทั้ง 5 คน จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วันที่ 9 ส.ค.54 ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2554 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
น้ำมันจากหัวกุ้งซึ่งเป็นของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยของ ศ.ดร.สุทธวัฒน์
นักวิทย์ดีเด่นและนักวิทย์รุ่นใหม่ (ซ้ายไปขวา) ศ.ดร.สุทธวัฒน์ , ดร.ขจรศักดิ์, ผศ.ดร.ปิติ , รศ.ดร.ยงยุทธ และ ดร.ยุทธนันท์
กำลังโหลดความคิดเห็น