xs
xsm
sm
md
lg

สกว.ฝากรัฐให้ความสำคัญแก่นความรู้-ลงทุนวิจัยพื้นฐานมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้ายไปขวา) ผศ.ดร.ปิติ , รศ.ดร.ยงยุทธ และ ดร.ยุทธนันท์
ฝ่ายวิชาการ สกว.-ผู้บริการ สกว.และนักวิจัยฝากรัฐให้ความสำคัญแก่นความรู้-ลงทุนวิจัยพื้นฐานให้มากขึ้น ชี้เอางานวิจัยต่างประเทศมาต่อยอดอย่างเดียวไม่เกิดประโยชน์นัก และนักวิจัยไทยต้องมีทีมวิจัยที่ดีร่วมทีมมากขึ้น

ศ. ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2554 เปิดเผยว่า อยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับแก่นขององค์ความรู้ที่เป็นพื้นฐานที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในด้านต่าง ๆ และลงทุนสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานให้มากขึ้น เพราะหากนำผลงานวิจัยของต่างประเทศมาต่อยอดเพียงอย่างเดียวก็คงไม่เกิดประโยชน์มากนัก

“ส่วนนักวิจัยไทยนั้นจำเป็นต้องมีทีมวิจัยที่ดีมากร่วมทีมเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือนักศึกษาปริญญาเอกและนักวิจัยหลังปริญญาเอก เพราะมีไฟแรง อยากรู้อยากเห็น มีความคิดใหม่ ๆ ที่จะช่วยผลักดันให้นักวิจัยมีโจทย์วิจัยใหม่ ๆ ดังนั้นถ้ามีระบบทีมวิจัยที่ดีและมีบรรยากาศในการทำวิจัยที่ดี ก็จะช่วยสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นได้ จึงเป็นที่มาของการให้ทุนวิจัยของ คปก.ในขณะที่ฝ่ายวิชาการ สกว. มีการวางแผนสร้างระบบวิจัยที่ดีมาตั้งแต่แรกโดย ศ.ดร.วิชัย บุญแสง อดีต ผอ.ฝ่ายวิชาการ สกว.” ศ.ดร.อมเรศกล่าว

ศ.ดร.อมเรศกล่าวอีกว่า เมื่อนักวิจัยมีทีมที่ดี เครือข่ายกว้างขวาง และห้องปฏิบัติการที่ใหญ่มากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนทุนและประสบความสำเร็จในการทำวิจัยมากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือระบบติดตามผลที่ดี การส่งรายงานความก้าวหน้าต่อเนื่องจนมีรายงานฉบับสมบูรณ์ จะเป็นตัวกระตุ้นให้นักวิจัยตั้งใจทำงาน ตลอดจนการให้ค่าตอบแทนแก่นักวิจัย สิ่งเหล่านี้ทำให้นักวิจัยรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อได้รับทุนจาก สกว. เพราะแต่ละปีมีจำนวนทุนน้อยแต่ผู้ขอทุนมีจำนวนมาก

ด้านผู้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ดร.ยงยุทธ เหล่าศิริถาวร จากภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การได้รับทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ จาก สกว. นับเป็นประตูสำคัญบานแรกที่เปิดโอกาสให้เติบโตในฐานะนักวิจัย การได้รับทุนซึ่งมีค่าตอบแทนถือเป็นส่วนสำคัญที่เกื้อหนุนปัจจัยในการดำรงชีพ ทำให้ไม่ต้องไปสอนพิเศษนอกเวลาเป็นเรือจ้างรายชั่วโมง การรับทุน สกว. อย่างต่อเนื่องจึงส่งผลให้มีโอกาสพัฒนาความเชี่ยวชาญในการทำวิจัยโดยไม่ต้องกังวลกับสิ่งอื่นๆ มากเกินไป และสั่งสมประสบการณ์ในการทำวิจัยพร้อมกับการสอนและผลิตนักศึกษาให้เป็นบุคลากรด้านการวิจัยรุ่นต่อไปให้กับประเทศ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้นักวิจัยประสบความสำเร็จในการทำวิจัยและนำมาซึ่งรางวัลต่าง ๆ

ส่วน ผศ.ภก.ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2554 อีกคนจากภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เขาได้รับทุน สกว. ต่อเนื่องตั้งแต่ระดับปริญญาเอกจนถึงอาจารย์รุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นแรงสนับสนุนที่ดีเยี่ยมให้นักวิจัยที่มีความตั้งใจทำงานแต่ขาดประสบการณ์และทุนวิจัยได้รับโอกาสเริ่มต้นที่สำคัญ และเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ทำงานและผลิตผลงานวิจัยจนได้รับรางวัลในครั้งนี้

“นอกจากนี้ สกว.ยังสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญในงานประชุมวิชาการของฝ่ายวิชาการ ทำให้ได้รู้จักนักวิจัยที่เป็นแบบอย่างที่ดีและได้รับการคำแนะนำจากท่านเหล่านั้น นับเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมการวิจัยที่ผลักดันให้ประชาคมวิจัยของประเทศมีความก้าวหน้าไปได้อย่างดี” ผศ.ภก.ดร.ปิติกล่าว

เช่นเดียวกับ ดร.ยุทธนันท์ บุญยงมณีรัตน์ นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2554 จากสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การได้รับทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก สกว. ฝ่ายวิชาการ มีส่วนช่วยอย่างยิ่งในการพัฒนางานวิจัยพื้นฐานซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างรากฐานการวิจัย นอกจากนี้กิจกรรมการประชุมที่ทาง สกว.จัดขึ้นล้วนมีส่วนช่วยสร้างเสริมพัฒนาทักษะการวิจัยตลอดจนการสร้างเครือข่ายวิจัยที่เข้มแข็ง
กำลังโหลดความคิดเห็น