3 นักวิจัยสหรัฐฯ ลักเซมเบิร์กและแคนาดา คว้าโนเบลแพทย์ 2011 จากผลงานศึกษาการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ที่ช่วยให้เราเข้าใจว่าแมลงหวี่และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นมีระบบภูมิคุ้นกันพื้นฐานร่วมกัน รวมถึงเซลล์ชนิดใหม่ที่มีบทบาทต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย
รางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ประจำปี 2011 มอบให้แก่ 3 นักวิจัยผู้ค้นพบเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน คือ บรูซ บอยท์เลอร์ (Bruce Beutler) จากสหรัฐฯ จูลส์ ฮอฟฟ์มันน์ (Jules A. Hoffmann) จากลักเซมเบิร์ก และราล์ฟ สไตน์มัน (Ralph Steinman) จากแคนาดา อ้างตามเอเอฟพีทางคณะกรรมการรางวัลโนเบลแถลงว่าผู้ทรงเกียรติทั้งสามได้ปฏิวัติความเข้าใจของเราเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน จากการค้นพบหลักการเกี่ยวกับการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
คณะกรรมการรางวัลระบุว่า งานวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของทั้งสามคนได้เปิดหน้าด่านใหม่ในการโจมตีโรคมะเร็งและโรคร้ายอื่นๆ โดยพวกเขาได้ศึกษาระบบภูมิคุ้มกันอันซับซ้อนซึ่งส่งสัญญาณให้โมเลกุลปลดปล่อยสารภูมิต้านทานและเซลล์เพชรฆาตเพื่อตอบโต้กับเชื้อจุลินทรีย์ที่รุกรานเข้ามา ความเข้าใจในเรื่องนี้ได้เปิดประตูสู่การพัฒนาตัวยาใหม่ๆ และยังรับมือกับปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง อย่างเช่น โรคหอบหืด โรคข้อรูมาตอยด์ และโรคลำไส้อักเสบโคห์น (Crohn's disease) ซึ่งเกิดจากร่างกายโจมตีตัวเอง
“งานวิจัยของพวกเขาได้เปิดเส้นทางใหม่สู่การพัฒนาการป้องกันและบำบัดรักษาโรคติดเชื้อ โรคมะเร็งและอาการอักเสบ พวกเขาสร้างความเป็นไปได้ในการพัฒนาวิธีใหม่เพื่อป้องกันและรักษาโรค ตัวอย่างเช่น การปรับปรุงวัคซีนที่ดีขึ้นเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ และความพยายามในการจำลองระบบภูมิคุ้มกันเพื่อโจมตีเนื้อร้าย เป็นต้น การค้นพบเหล่านี้ยังจะช่วยให้เราเข้าใจว่า ทำไมระบบภูมิคุ้มกันจึงโจมตีเนื้อเยื่อของเราเอง ซึ่งจะชี้ทางสู่การบำบัดโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบ” คณะกรรมการโนเบลแถลง
ทั้งนี้ บอยท์เลอร์ ในวัย 55 ปี และฮอฟฟ์มันน์ในวัย 70 ปี จะได้รับเงินครึ่งหนึ่งของเงินรางวัลทั้งหมด 10 ล้านโครนสวิส หรือ ประมาณ 46 ล้านบาทร่วมกัน โดยทั้งคู่ได้ค้นพบโปรตีนตัวรับ (receptor protein) ซึ่งเป็นก้าวแรกของการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยโปรตีนดังกล่าวจะทำงานเหมือนเครื่องมือที่เข้าสกัดการจู่โจมใดๆ ที่เกิดจากการอักเสบ
สำหรับฮอฟฟ์มันนั้นเขาได้ศึกษาว่าแมลงหวี่ต่อสู้กับการติดเชื้อได้อย่างไร ระหว่างเขาทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยสตาสบูร์ก (University of Strasbourg) ฝรั่งเศส เมื่อปี 1996 โดยงานวิจัยดังกล่าวได้เผยให้เห็นว่ายีนที่เรียกว่า “โทลล์” (Toll) ของแมลงหวี่ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาของตัวอ่อนนั้น ได้ช่วยให้ร่างกายรับรู้ถึงจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย และจำเป็นต้องต่อสู้กับจุลินทรีย์เหล่านั้น
ขณะที่งานของบอยท์เลอร์ได้ช่วยให้เราเข้าใจการค้นพบดังกล่าวมากขึ้น เมื่องานของเขาในปี 1998 ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas) สหรัฐฯ ได้ค้นพบตัวรับที่เรียกว่า “แอลพีเอส” (LPS) ในหนูทำยานคล้ายยีนโทลล์ในแมลงหวี่ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและแมลงหวี่นั้นมีวิถีของระบบภูมิคุ้มกันพื้นฐานคล้ายกัน
ส่วนสไตน์มันวัย 68 ปีจะได้รับเงินรางวัลที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งนั้น จากการงานวิจัยเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันทุติยภูมิที่เรียกว่า “การตอบสนองภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ” (adaptive response) โดยเมื่อปี 1973 เขาได้พบเซลล์ชนิดใหม่ที่เรียกว่า “เซลล์เดนไดรติก” (dendritic cell) และได้สาธิตถึงบทบาทของเซลล์ดังกล่าวในการปลดปล่อย “ทีเซลล์” (T cells) ซึ่งเปรียบเสมือนทหารปืนใหญ่ของระบบภูมิคุ้มกัน โดยทีเซลล์เป็นส่วนหนึ่งของความจำต่อระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งช่วยให้เข้าต่อสู้กับเชื้อโรคที่โจมตีในครั้งต่อไปได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สไตน์มันยังได้รับรางวัลลาสเกอร์ (Lasker Prize) เมื่อปี 2007 จากงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้นสามารถโจมตีเชื้อโรคที่เป็นอันตราย แต่หลีกเลี่ยงที่จะทำอันตรายต่อโมเลกุลของร่างกาย
การมอบรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ล่าสุดนี้เป็นครั้งที่ 12 ของรางวัลอันทรงเกียรติที่ยกย่องงานวิจัยทางด้านระบบภูมิคุ้ม โดยครั้งแรกคือเมื่อปี 1901 ซึ่งมอบรางวัลให้แก่ เอมิล ฟอน แบห์ริง (Emil von Behring) จากการพัฒนาเซรุ่มที่ช่วยป้องกันโรคคอตีบ
ประกาศผลรางวัลโนเบล 2011
รางวัลโนเบลย้อนหลัง
- สรุปผลรางวัลโนเบลปี 2010
- สรุปผลรางวัลโนเบลปี 2009
- สรุปผลรางวัลโนเบลปี 2008
- สรุปผลรางวัลโนเบลปี 2007
- สรุปผลรางวัลโนเบลปี 2006
- สรุปผลรางวัลโนเบลปี 2005
- สรุปผลรางวัลโนเบลปี 2004
- ประวัติรางวัลโนเบล
คลิปประกาศผลรางวัล