xs
xsm
sm
md
lg

เผยยังตรวจสอบอาหารจีเอ็มโอ แต่ยังไม่มีใครต้องติดฉลากแจ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้าวโพดและถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรมที่ผ่านการประเมินความปลอดภัยและความเสี่ยงแล้วจะได้รับอนุญาตให้นำเข้าได้ แต่ภายหลัง อย.ได้ตรวจพบว่าข้าวโพดของสตาร์ลิงค์มีสารโปรตีนของจุลินทรีย์ CRY9C ที่ใช้ตัดแต่งพันธุกรรมปนเปื้อน ซึ่งไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค จึงสั่งห้ามผลิตและจำหน่ายข้าวโพดสายพันธุ์นี้ ซึ่งไม่ใช่สายพันธุ์ในภาพ เป็นภาพประกอบข่าวเท่านั้น (ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต)
กษ. - สธ. ยังคุมเข้มการนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม หากไม่มีหลักฐานพิสูจน์ชัดทำลายทันที ส่วนฉลากแสดงสินค้าอาหารจีโอเอ็ม แทบไม่เคยเห็นตามท้องตลาด แต่ก็ยังไม่พบผู้ประกอบการรายใดทำผิด

อย. สั่งห้ามนำเข้าพืชดัดแปรพันธุกรรมทุกชนิด เว้นแต่ผ่านการประเมินความเสี่ยงแล้ว ระบุสินค้าที่มีส่วนผสมของข้าวโพด ถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรม ใช้ฉลาก “ดัดแปลงพันธุกรรม" ท้ายชื่อส่วนประกอบ ของอาหาร ชี้หากฝ่าฝืนผิดทั้งจำและปรับ พร้อมร่วมมือ กษ. เฝ้าระวังด่านนำเข้าสินค้าหากพบทำลายทิ้งทันที

ระหว่างเวทีการประชุม "5 ปี อนุวัตการพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความ ปลอดภัยทางชีวภาพ" โรงแรมมารวยกาเด้นท์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 ทีผ่านม ได้มีการหยิบยกประเด็นการติดฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมขึ้น โดยทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการได้สอบถามเพิ่มเติมจากผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงการติดตามกฎกระทรวงเรื่องการติดฉลากอาหารดัดแปรพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ของกระทรวงสาธารณสุขที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.46

ทั้งนี้ ในการกำกับดูแลเคลื่อนย้ายสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมข้ามพรมแดนนั้น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่กระทรวงการกระเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และ สธ. โดยในส่วนของ กษ.นั้น อาศัย พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2542 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 โดยห้ามนำเข้าพืชดัดแปรพันธุกรรมทุกชนิด เว้นแต่พืชที่ผ่านการประเมินความปลอดภัยแล้ว

อีกทั้ง กรณีที่นำมาศึกษาวิจัยในปัจจุบัน มีเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรม ที่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พ.ศ. 2542

ส่วนของ สธ.นั้น โดย อย.ซึ่งดูแลทางด้านผลิตภัณฑ์อาหารที่จะต้องแสดงฉลากโดยระบุคำว่า "ดัดแปรพันธุกรรม" ท้ายชื่อส่วนประกอบของอาหาร หากเป็นอาหารประเภทถั่วเหลืองและข้าวโพดที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม เมื่อมีปริมาณตั้งแต่ร้อยละ 5 และเป็นส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรก โดยอาหารที่ดัดแปรพันธุกรรมอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องแสดง

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ตามประกาศนี้ ยังห้ามใช้ข้อความว่า "ปลอดอาหารดัดแปรพันธุกรรม" หรือ "ไม่ใช่อาหารดัดแปรพันธุกรรม” เป็นต้น ในกรณีที่ฝ่าฝืนจากประกาศดังกล่าว มีบทลงโทษทั้งจำและปรับแล้วแต่กรณี ทว่าจนขณะนี้ก็ยังไม่มีการตรวจพบการทำผิดตามประกาศแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ อย.ได้ออกประกาศ เมื่อปี 44 เพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์ข้าวโพดพันธุ์สตาร์ลิงค์ (StarLink) ที่มีการปนเปื้อนสารโปรตีนพันธุกรรมของจุลินทรีย์ครายไนน์ซี (Cry9C) ที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ และนำมาใช้เป็นอาหารคน โดยห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ในประเทศโดยเด็ดขาด ได้ติดตามปัญหาการนำเข้าข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม โดยเฉพาะข้าวโพด มาผลิตอาหารมนุษย์ เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดมีความประสงค์ที่จะนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมอื่นๆ จะต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยและประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม จาก กษ. และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)

ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าดัดแปรทางพันธุกรรมนั้น จะต้องมีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการขออนุญาตสถานที่นำเข้าและผลิตภัณฑ์ ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ 2552 อย่างไรก็ตามทาง กษ. และ สธ.ได้เฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบที่ด่านนำเข้าสินค้าต่างๆ ซึ่งหากมีการตรวจพบว่าไม่มีใบรับรองอนุญาตก็จะทำลายทิ้งทันที

สำหรับในกรณีที่ผลิตภัณฑ์จำหน่ายในท้องตลาด หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนประกอบจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ที่ไม่ผ่านการประเมินความปลอดภัย สามารถร้องเรียนได้ที่ อย.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้.
บรรยากาศในการประชุม 5 ปี อนุวัตการพิธีสารคาร์ตาเฮนาฯ ซึ่งเป็นการบรรยายถึงหัวข้อ การกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมข้ามพรมแดน โดยมีผู้แทนจากกรมวิชาการเกษตร กรมประมง และอย.
บรรยากาศในที่ประชุม 5 ปี อนุวัตการพิธีสารคาร์ตาเฮนาฯ ซึ่งบรรยายถึงเรื่องการแสดงฉลากโดยต้องระบุคำว่า ดัดแปรพันธุกรรม ท้ายชื่อส่วนประกอบ ของอาหาร โดยส่วนประกอบเป็นอาหารดัดแปรพันธุกรรมที่มีปริมาณตั้งแต่ร้อยละ 5 และเป็นส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรก
กำลังโหลดความคิดเห็น