xs
xsm
sm
md
lg

สทส. เตรียมร้องนายกฯ เปิดทางทดสอบ "มะละกอจีเอ็ม" ภาคสนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์
สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ล่ารายชื่อนักวิชาการ-เกษตรกร เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ ต้น ม.ค. ปีหน้า เรียกร้องให้ทบทวนนโยบายพืชจีเอ็มโอของไทย วอนรัฐบาลเปิดทางทดสอบภาคสนาม หวั่นอีก 5 ปี พืชจีเอ็มจากประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้าไทย

ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่าทางสมาคมเตรียมรวบรวมรายชื่อสมาชิก นักวิชาการและเกษตร เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนนโยบายเกี่ยวกับพืชจีเอ็มในประเทศไทย

นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ กล่าวว่า การที่จะทำให้ประชาชนทราบได้ว่าพืชจีเอ็มโอดีหรือไม่อย่างไร ก็ต้องมีการศึกษาทดลองให้ครบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ในห้องแล็บ ในเรือนกระจก และการทดสอบภาคสนาม ซึ่งนักวิจัยไทยก็ศึกษาวิจัยเรื่องนี้มานานจนเกือบจะแล้วเสร็จ เหลือเพียงการทดสอบภาคสนามเท่านั้นที่ยังทำไม่สำเร็จ

"ประเทศไทยเคยเป็นผู้นำด้านงานวิจัยพืชจีเอ็มโอในประเทศนี้ จนถึงขนาดเกือบตัดสินให้มีการปลูกพืชจีเอ็มเชิงพาณิชย์แล้ว แต่เกิดปัญหากรณีพบฝ้ายบีทีปะปนในสิ่งแวดล้อม ทำให้เรื่องนี้หยุดชะงักไปเมื่อหลายปีก่อน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่เคยมาศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีด้านนี้จากประเทศไทยเขาเดินหน้าไปไกลกว่าเราแล้ว" ดร.สุทัศน์ เผย

อย่างไรก็ดี ดร.สุทัศน์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะขออนุญาตทดสอบมะละกอจีเอ็มโอภาคสนามในเร็วๆ นี้ เพราะเป็นพืชจีเอ็มที่มีความพร้อมจะทดสอบภาคสนามมากที่สุด แต่ก็อาจต้องรอให้รัฐบาลนิ่งเสียก่อน

ในส่วนของสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ก็จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพราะแม้จะมีมติ ครม. อนุญาตให้นักวิจัยทดสอบพืชจีเอ็มโอภาคสนามได้แล้วเมื่อปลายปี 50 แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการ จนทำให้บัดนี้ผ่านมาแล้ว 2 ปี ก็ยังไม่มีการทดสอบพืชจีเอ็มโอภาคสนามในประเทศไทยเกิดขึ้นเลย จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยเสียใหม่ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป โดยขณะนี้กำลังรวบรวมรายชื่อนักวิชาการและเกษตรกรที่ต้องการพืชจีเอ็มโอ เบื้องต้นคาดว่าจะได้ประมาณ 100 คน และจะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด อย่างช้าภายในเดือน ม.ค. 53

"ประเทศไทยควรเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ เพราะคาดว่าในอีกราว 5-10 ปีข้างหน้า พืชจีเอ็มโอจะหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยแน่ ซึ่งหากไทยไม่ทำอะไรเลย เมื่อถึงเวลานั้นไทยจะกลายเป็นผู้รับอย่างเดียว ฉะนั้นรัฐบาลควรต้องทบทวนนโยบายเรื่องนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง" ดร.สุทัศน์ กล่าว

ด้าน ดร.เจอราร์ด แบร์รี (Dr. Gerard Barry) หัวหน้าหน่วยบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรืออีรี (International Rice Research Institute: IRRI) เปิดเผยข้อมูลว่า แนวโน้มการปลูกพืชจีเอ็มเชิงพาณิชย์มีแนวโน้มสูงขึ้นในแต่ละปี และในหลายประเทศก็มีการทดสอบพืชจีเอ็มภาคสนามเพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะข้าวจีเอ็ม ซึ่งฟิลิปปินส์มีแนวโน้มว่าจะเริ่มปลูกข้าวสีทอง (Golden rice) เชิงการค้าในปี 2555 ทั้งนี้ ข้าวสีทองคือข้าวที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมให้เป็นข้าวที่มีวิตามินเอสูง เพื่อแก้ปัญหาการขาดวิตามินเอในประชากรหลายประเทศ

ขณะที่อินเดียก็กำลังทดสอบข้าวบีทีภาคสนามและคาดว่าจะปลูกข้าวจีเอ็มเชิงพาณิชย์ราวปี 2557 ส่วนจีนทดสอบภาคสนามข้าวบีทีและให้การรับรองไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา และกำลังมีการเจรจากับสหภาพยุโรปที่นำเข้าข้าวจากจีนเป็นส่วนใหญ่ว่าจะอนุญาตให้ข้าวที่นำเข้ายุโรปได้นั้นมีพืชจีเอ็มโอปะปนได้ไม่เกินปริมาณเท่าไร

นอกจากนั้นบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตเอทานอลจากอ้อยมากที่สุดในโลก กำลังวางแผนเพิ่มผลผลิตอ้อยและเพิ่มปริมาณการผลิตเอทานอลให้เพิ่มเป็น 2 เท่า ภายใน 10 ปี โดยบราซิลต้องการพัฒนาอ้อยดัดแปรพันธุกรรมที่มีระดับความหวานเพิ่มขึ้น 40% ต้านทางโรคและแมลงศัตรู และต้านทานสารปราบวัชพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นบนพื้นที่เพราะปลูกเท่าเดิมปลูก
ดร.เจอราร์ด แบร์รี
กำลังโหลดความคิดเห็น