ก.เกษตรฯ พร้อมติดตามสถานการณ์ปาล์มใกล้ชิด หลังรัฐบาลเตรียมนำเข้าน้ำมันปาล์มสำเร็จรูปเพิ่มอีก 1.2 แสนตัน แนะจับตาเดือน เม.ย.หากผลผลิตในประเทศออกสู่ตลาดมากทำให้ราคาตก ก.พลังงาน ก็พร้อมรับซื้อทั้งหมดเพื่อทำไบโอดีเซล พร้อมประกาศใช้ บี5 เกรดเดียว
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจ (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติเห็นชอบให้มีการนำเข้าปาล์มแยกไขสเตลีนในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2554 รวมทั้งสิ้น 120,000 ตันนั้น กระทรวงเกษตรจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าจะส่งผลให้ปาล์มดิบที่จะทยอยออกสู่ตลาด ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นี้จะได้รับผลกระทบหรือไม่ ในกรณีที่ราคาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ก็ต้องมีการทบทวนมติการนำเข้าดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังการนำเข้าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับประกันที่จะซื้อปาล์มดิบในราคากิโลกรัมละ 6 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมเกษตรกรอยู่ได้ ขณะที่ราคาปาล์ม ณ ปัจจุบันคือ 11.20 บาท เป็นราคาที่สูงเกินไป จากเดิมที่เคยขายกันกิโลกรัมละ 2.90 บาท ขณะที่กระทรวงพลังงานเองก็ได้ระบุว่าหากเกิดสถานการณ์ปาล์มล้นตลาดจริง ก็พร้อมที่จะรับซื้อ เพื่อทำไบโอดีเซลทั้งหมด และประกาศใช้ บี5 ในเดือนเมษายน 2554 นี้ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวกระทรวงเกษตรพอรับได้ และมั่นใจด้วยว่า นโยบายการนำเข้านำมันปาล์มล็อตล่าสุดนี้จะไม่ส่งผลกระทบถึงราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ปัจจุบัน
เลขาธิการ สศก.ยังระบุถึงกรณีที่ทั่วโลกเกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร จนมีการประท้วงกันเกิดขึ้นในหลายประเทศ แสดงให้เห็นว่าในปีนี้สถานการณ์ความมั่นคงทางด้านอาหารเริ่มรุนแรงมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากภัยธรรมชาติที่ทำให้ฤดูกาลเพาะปลูกเปลี่ยนแปลง ผลผลิตที่ได้ลดลง ในขณะที่ประชากรในโลกสูงขึ้น ความต้องการอาหารจึงเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การขาดแคลนทางด้านอาหารของโลกมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นอีก จากราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่คาดว่าจะสูงแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล ในไตรมาสที่ 1 และ 2 นี้ และจะเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงราคาสินค้าเกษตรและอาหารสูงขึ้นไปอีก จากการเข้าไปเก็งกำไรในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีสินค้าอาหารหลายรายการที่อยู่กลุ่มสินค้าที่มีการเก็งกำไร
“หากมองในปี 51 ปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารที่ว่ารุนแรงแล้ว แต่นั่นมีสาเหตุมาจากปัญหาราคาน้ำมันแพงมากแต่ะ 140 ดอลลาร์ต่อบาเรล ทำให้เกิดการเก็งราคาในสินค้าเกษตรและอาหารและจนปรับตัวขึ้นทุกรายสินค้า แต่ในปีนี้ปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหาร เริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนกว่าจากการขาดแคลนเพราะผลผลิตมีน้อย ซึ่งมีสาเหตุใหญ่คือภัยธรรมชาติที่มนุษย์ชาติ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้แนวโน้มปัญหานี้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น”
ทั้งนี้ องค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ปัจจุบันได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนทั้งด้านการผลิต การวิจัยเพื่อที่จะรักษาพื้นที่การเกษตรเอาไว้ รวมทั้งเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคในโลกที่ขณะนี้มีอัตราการเติบโตเร็วกว่า รวมทั้งในโลกนี้ต้องมีการหารือกันถึงวิธีการเก็บสต๊อกสินค้าเกษตรและอาหารเอาไว้ใช้ในยามจำเป็น เช่น ในอาเซียนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการปลูกข้าว ประเทศในอาเซียนรวมญี่ปุ่น จีน และเกาหลี จึงเห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งองค์การสำรองข้าวอย่างถาวรขึ้น และเห็นว่ากลุ่มประเทศอื่นก็ควรสำรองสินค้าเกษตรและอาหารตามศักยภาพที่มีอยู่เช่นกัน
สำหรับประเทศไทยจะไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรภาพรวมในปีนี้ ยังสูงกว่าการบริโภคภายในประเทศ และเหลือเพื่อส่งออก
แนวโน้มความรุนแรงของความมั่นคงทางด้านอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรไทยในภาพรวมสูงขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหากเกิดปัญหาภัยพิบัติขึ้น เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาดซ้ำอีกครั้งในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2554 นี้เป็นต้นไป จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในภาพรวมสูงขึ้นไปอีก
นายอภิชาตกล่าวว่า เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และประกาศให้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก กระทรวงเกษตรฯ จะต้องปรับแผนการผลิตในภาพรวม ให้สอดคล้องกับฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบน้ำให้พอเพียง วิจัยเพื่อหาพันธุ์พืชที่ทนแล้ง ต้านทานโรคระบาด ศึกษาเทคโนโลยีด้านการตัดต่อพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรที่ไม่ใช่อาหาร และนำไบโอเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ก ระทรวงเกษตรฯ จะเสนอให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีในฐานประธานคณะกรรมการความมั่นคงทางด้านอาหารและภาวะโลกร้อนพิจารณา รวมทั้งนัดหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อจัดทำแผนแห่งชาติว่าด้วยความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาหาร