xs
xsm
sm
md
lg

เผยปี 52 ปลูกพืชจีเอ็มเชิงการค้าขยายตัว 7% "จีน" ว่าที่ยักษ์ใหญ่ต่อจากสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ไคล์ฟ เจมส์
ผู้บริหารไอซาเผยปี 52 พืชจีเอ็มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น พื้นที่ปลูกเชิงการค้าเพิ่ม 7% ล่าสุดอียูอนุญาตให้ปลูกมันฝรั่งตัดต่อพันธุกรรม ชี้ผู้นำการผลิตพืชจีเอ็มโอกำลังย้ายจากอเมริกามาสู่เอเชีย ชี้ "จีน" น่าจับตาที่สุด เพราะเศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟูและหนุนจีเอ็มเต็มที่ ระบุพืชจีเอ็มจะช่วยลดความหิวโหยของประชากรได้ครึ่งหนึ่งตามเป้าหมายในปี 58

ดร.ไคล์ฟ เจมส์ (Dr. Clive James) ประธานไอซา (International Service for the Acquisition of Agri-biotech Applications: ISAAA) เปิดเผยถึง "สถานภาพการผลิตพืชเทคโนโลยีชีวภาพ/พืชจีเอ็ม ในเชิงการค้าทั่วโลก: พ.ศ. 2552" เมื่อวันที่ 5 มี.ค.53 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรามา การ์เด้น ว่าในปีที่ผ่านมา มีพื้นที่เพาะปลูกพืชตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ในเชิงการค้าทั่วโลกรวมเป็น 134 ล้านเฮคตาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 51 ถึง 9 ล้านเฮคตาร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพืชจีเอ็มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

ในปี 2552 มีทั้งสิ้น 25 ประเทศ ที่ปลูกพืชจีเอ็มเชิงการค้า แบ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรม 9 ประเทศ และประเทศกำลังพัฒนา 16 ประเทศ มีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกทั้งสิ้น 14 ล้านครัวเรือน จาก 13.3 ล้านครัวเรือนในปี 2551 ซึ่ง 90% เป็นเกษตรกรรายย่อย โดยพื้นที่เพาะปลูกพืชจีเอ็มเชิงการค้าเกือบครึ่งหนึ่ง อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงกว่าในประเทศอุตสาหกรรม และคาดว่าจะมีพืชที่ปลูกพืชจีเอ็มเชิงการค้า ในประเทศกำลังพัฒนามากกว่าประเทศอุตสาหกรรมในปี 2558 โดยจีน บราซิล อาร์เจนตินา อินเดีย และแอฟริกาใต้ เป็นประเทศกำลังพัฒนายักษ์ใหญ่ที่มีการพัฒนาทางด้านพืชดัดแปลงพันธุกรรมมากที่สุด

สำหรับพืชจีเอ็มที่มีการปลูกเชิงการค้ามากที่สุดยังคงเป็นถั่วเหลือง ซึ่งมีพื้นที่ปลูก 52% ของพืชที่เพาะปลูกพืชจีเอ็มเชิงการค้า และคิดเป็นพื้นที่ 3 ใน 4 ของพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีฝ้าย ข้าวโพด และคาโนลา ที่มีการปลูกในเชิงการค้าแล้ว ส่วนพืชจีเอ็มชนิดใหม่ที่มีแนวโน้มนำมาปลูกในเชิงพาณิชย์เร็วๆ นี้ อาทิ ข้าวสีทอง ข้าวบีที ข้าวโพดไฟเตส ข้าวโพดทนแล้ง ถั่วเหลืองต้านยาฆ่าแมลงและสารปราบวัชพืช และพืชจีเอ็มหลายลักษณะอีกหลายชนิด

"ที่น่าสนใจคือเมื่อเดือน พ.ย. 52 รัฐบาลจีนได้รับรองความปลอดภัยทางชีวภาพของข้าวบีทีและข้าวโพดไฟเตส ซึ่งจีนจะปลูกเชิงการค้าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่อินเดียเป็นประเทศที่ปลูกฝ้ายบีทีมากที่สุดในโลก เกษตรกรได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึง 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วยลดการใช้สารเคมีได้ครึ่งหนึ่ง และเพิ่มผลผลิตฝ้ายเกือบเท่าตัว ทำให้อินเดียกลายเป็นผู้ส่งออกฝ้ายรายใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนั้นอินเดียยังมีมะเขือม่วงบีทีที่พร้อมปลูกเชิงการค้าในเร็วๆ นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุญาตจากรัฐบาล" ดร.เจมส์ เผย

ประธานไอซาเผยอีกว่า ในทวีปยุโรปที่ภาพรวมดูเหมือนว่าต่อต้านพืชจีเอ็ม แต่ก็มีถึง 6 ประเทศ ที่ปลูกพืชจีเอ็มเป็นการค้า โดยสเปนเป็นประเทศที่มีพืชที่ปลูกพืชจีเอ็มเชิงการค้ามากที่สุดในยุโรป และล่าสุดเมื่อต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้อนุญาตให้ปลูกมันฝรั่งจีเอ็มได้ในประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) โดยมีหลายประเทศแสดงท่ากระตือรือร้นที่จะปลูก อาทิ สวีเดน เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น

ดร.เจมส์ กล่าวว่าความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตคือจะทำอย่างไรให้สามารถเพิ่มผลผลิตการเกษตรให้ได้เป็น 2 เท่า และอย่างยั่งยืน บนพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลงและมีทรัพยากรอย่างจำกัด ซึ่งในปี 2593 จะมีประชากรที่อดอยากเพิ่มมากขึ้นเป็น 1 พันล้านคน หากใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์พืชแบบดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอแน่นอน ซึ่งเทคโนโลยีจีเอ็มเป็นกลยุทธที่สามารถนำมาใช้ร่วมกัน เพื่อที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ แต่จะประสบผลสำเร็จได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องประสานกับกลยุทธอื่น เพื่อควบคุมจำนวนประชากรให้คงที่ และปรับปรุงระบบการแบ่งปันอาหารให้ประชากรได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

ไอซาคาดว่าในปี 2558 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นปีที่สังคมโลกเรียกร้องให้ลดภาวะความหิวโหยและยากจนลงครึ่งหนึ่ง (The Millennium Development Goal Year) พืชเทคโนโลยีชีวภาพจะมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ และเป็นปีที่สิ้นสุดทศวรรษที่ 2 ของการปลูกพืชจีเอ็มเชิงการค้าพอดี

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ จะทำให้ประชาชนยอมรับในพืชจีเอ็มนั้น ดร.เจมส์กล่าวว่า มี 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค 2. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3. การเข้าถึงเทคโนโลยี 4. จริยธรรม และ 5. การค้าระหว่างประเทศ

"ที่ผ่านมาพืชจีเอ็มได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากกว่าหรือเท่ากับพืชทั่วไป พืชจีเอ็มยังช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นบนพื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม จึงช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกได้ และมีความจำเพาะสูงแต่สิ่งมีชีวิตเป้าหมาย จึงไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมทั้งช่วยลดการใช้สารเคมีได้อย่างมาก" ดร.เจมส์กล่าว

"ปัจจุบันแนวโน้มเปลี่ยนไป ในทิศทางที่รัฐบาลมีส่วนในการพัฒนาพืชจีเอ็มโอมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เคยกังวลกันมากก่อนหน้านี้จึงไม่น่าห่วงอีกต่อไป เช่นเดียวกับด้านจริยธรรมที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนต้องมีอยู่แล้ว และปัจจัยเหล่านี้ก็ส่งผลให้เกิดการค้าระหว่างประเทศได้" ดร.เจมส์ เผยในการสัมมนาที่จัดโดยสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (สทส.) ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์เข้าร่วมฟังด้วย

ประธานไอซาชี้ให้เป็นว่า ในช่วงทศวรรษแรกของการปลูกพืชจีเอ็มเชิงการค้า เหมือนเป็นสงครามระหว่างทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้กับยุโรป ที่ฝ่ายหนึ่งรับและไม่รับพืชจีเอ็ม โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำประเทศที่ผลิตพืชจีเอ็ม แต่ในทศวรรษที่ 2 เอเชียจะมีบทบาทเป็นผู้นำในด้านพืชจีเอ็ม โดยจีนเป็นประเทศที่โดดเด่นและน่าจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องด้วยเศรษฐกิจของจีนเจริญกำลังเจริญก้าวหน้า และจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาพืชเทคโนโลยีชีวภาพและสนับสนุนให้ปลูกเชิงการค้ามาก

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องอาศัยนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐ สถาบัน และองค์กรต่างๆ เช่น รัฐบาลจีนที่ให้กาลสนับสนุนพืชจีเอ็มอย่างเต็มที่ ขณะที่บราซิลได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านพื้นที่ปลูกพืชเอ็มอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ แทนที่อาร์เจนตินาเมื่อปีที่แล้ว
นักวิชาการด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่เข้าฟังบรรยายสรุปสถานภาพการผลิตพืชจีเอ็มเชิงการค้าที่โรงแรมรามา การ์เด้น เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 53
สหภาพยุโรปอนุญาตให้ประเทศสมาชิกปลูกมันฝรั่งจีเอ็มได้เมื่อต้นเดือน มี.ค. 53 (ภาพประกอบจาก เอเอฟพี)
รัฐบาลอินเดียกำลังพิจารณาอนุญาตการปลูกมะเขือสีม่วงจีเอ็มเชิงการค้า (ภาพประกอบจาก รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น