ทีมวิจัยอังกฤษ-สหรัฐฯ ผุดแนวคิดใหม่ในการยับยั้งโรคไข้เลือดออก เพาะพันธุ์ยุงลายไร้ปีกด้วยเทคนิคตัดต่อพันธุกรรม อนาคตหวังนำไปใช้ตัดวงจรการแพร่เชื้อของโรคร้ายทุกชนิดที่มีพาหะนำโดยยุง แทนการใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ใครๆ ก็ว่า "ยุงร้ายกว่าเสือ" เพราะสารพัดวิธีที่มนุษย์งัดขึ้นมาสู้รบปรบมือกับยุงมานานแรมปี แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดจำนวนยุงและโรคร้ายที่มียุงเป็นพาหะให้น้อยลงได้ ล่าสุดนักวิจัยจาก 2 ประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีจับมือกันพัฒนาพันธุ์ยุงลายไม่ให้มีปีกบินไปกัดเหยื่อและแพร่เชื้อไข้เลือดออกได้
"นี่อาจเป็นผลผลิตคลื่นลูกใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่สารเคมีฆ่าแมลงเป็นครั้งแรก" แอนโทนี เจมส์ (Anthony James) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในเมืองเออร์วิน (University of California, Irvine) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แก่ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ ซึ่งเขาได้ร่วมมือกับทีมวิจัยจากออกซิเทค (Oxitec Ltd.) บริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพในอังกฤษ โดยมีมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ร่วมถือหุ้น เพื่อวิจัยการดัดแปลงพันธุกรรมยุงลายไร้ปีก
ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกราว 50 ล้านรายทั่วโลก ขณะที่มีประชากรในพื้นที่เสี่ยงกว่า 2.5 พันล้านคน ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 5 ของประชากรโลกทั้งหมด โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทวีปแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งโรคไข้เลือดออกนั้นยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะ มีเพียงแต่การรักษาตามอาการเท่านั้น และความรุนแรงของโรคยังอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กเล็ก
โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ ที่มียุงลายสปีชีส์ เอเดส เอยิปติ (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค ซึ่งมีแต่ยุงลายเพศเมียเท่านั้นที่ดูดเลือดเหยื่อและแพร่เชื้อไวรัสดังกล่าวเข้าสู่กระแสเลือดของเหยื่อ
ดังนั้นทีมวิจัยจึงทดลองดัดแปลงพันธุกรรมยุงลายเพศผู้ที่ไปมีส่วนรบกวนการพัฒนากล้ามเนื้อปีกของลูกยุงลายเพศเมีย เมื่อไปผสมพันธุ์กับยุงลายเพศเมีย จะทำให้ลูกยุงลายเพศเมียที่เกิดมาบินไม่ได้ แต่จะไม่มีผลใดๆ กับลูกยุงลายเพศผู้ ทำให้ประชากรยุงที่จะเป็นพาหะนำโรคลดจำนวนลงไป ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Sciences: PNAS) เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา ตามที่ระบุในเอพี
"เทคโนโลยีนี้มีความจำเพาะเจาะจงต่อสปีชีส์อย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากยุงเพศผู้ที่ได้รับการปล่อยออกไป จะไปจับคู่ผสมพันธุ์กับยุงเพศเมียที่อยู่ในสปีชีส์เดียวกันเท่านั้น" ลุค อัลฟี (Luke Alphey) นักวิจัยของออกซิเทค กล่าวและบอกอีกว่า วิธีการนี้ให้ผลตรงเป้ามากกว่า และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ในขณะที่การใช้สเปรย์ฆ่าแมลงก่อให้เกิดสารเคมีตกค้างในสภาพแวดล้อม
เบื้องต้นทีมวิจัยมุ่งไปที่การยับยั้งโรคไข้เลือดออก เนื่องจากยุงลายซึ่งเป็นหาหะของโรคนี้ออกหากินตอนกลางวัน ฉะนั้นการกางมุ้งนอนจึงไม่สามารถป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดได้ได้ และในอนาคตทีมวิจัยจะนำเทคนิคเดียวกันนี้ไปใช้เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียและโรคไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์ ( West Nile fever) ที่มียุงเป็นพาหะของโรคเช่นกันด้วย โดยขณะนี้บริษัทออกซิเทคและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกำลังอยู่ระหว่างการยื่นขอจดสิทธิบัตรเทคนิคดังกล่าว