xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐเร่งตรวจสอบ "มะละกอจีเอ็มโอ" หลังพบปนเปื้อนซ้ำพร้อมพืชใหม่รวม 5 ชนิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรีนพีซเตรียมรวมรวมข้อมูลการพบมะละกอจีเอ็มโอปนเปื้อนในพื้นที่เกษตรกรรมอีกครั้งโดยมูลนิธิชีววิถี เพื่อยื่นต่อศาลปกครองให้เร่งตัดสินให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบมะละกอจีเอ็มโอปนเปื้อนใหม่ และทำลายมะละกอจีเอ็มโอทิ้งทั้งหมด
"กรีนพีซ" เรียกร้องรัฐบาล เร่งตรวจสอบกรณีไบโอไทยพบพืชจีเอ็มโอปนเปื้อนในแปลงเปิด 5 ชนิด ในหลายจังหวัด มีมะละกอรวมอยู่ด้วย คาดเป็นพันธุ์เดียวกับที่เคยพบเมื่อปี 47 เตรียมยื่นเรื่องถึงศาลปกครอง จี้ภาครัฐพิสูจน์อีกครั้ง หากพบให้รีบทำลายทิ้งทันที พร้อมเรียกร้องรัฐบาลทบทวนนโยบายหนุนปลูกพืชจีเอ็มโอใหม่ ออกกฏหมายให้เข้มแข็งเพื่อควบคุมจีเอ็มโอทุกชนิด และหวังให้ยุติการทดลองพืชดัดแปรพันธุกรรมในไทยทุกระดับ

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้ออกมาเปิดเผยรายงาน "เบื้องลึกจีเอ็มโอ ต้นทุนที่ไม่จำเป็น" เมื่อวันที่ 12 ก.พ.53 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานกรีนพีซ อาคารทอง สุทธิสาร พร้อมกับเรียกร้องรัฐบาลเร่งตรวจสอบกรณีมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ตรวจพบพื้นจีเอ็มโอปนเปื้อนในพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มเติม และยังพบว่าเป็นพืชจีเอ็มโอชนิดใหม่ที่พบการปนเปื้อนครั้งแรกในประเทศไทยด้วยอีก 2 ชนิด

น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการปลูกพืชจีเอ็มโอได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศมาแล้วจากการพบสินค้าเกษตรปนเปื้อนจีเอ็มโอ และความล้มเหลวในพื้นที่เพาะปลูก และปัจจุบันพบว่าพื้นที่เพาะปลูกพืชจีเอ็มโอในยุโรปลดลงประมาณ 7% เพราะสหภาพยุโรปมีมาตรการเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยประเทศฝรั่งเศสได้ประกาศยุติการปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอแล้ว

"ล่าสุดรัฐบาลอินเดียก็ไม่อนุมัติการปลูกมะเขือดัดแปลงพันธุกรรม เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมมากเพียงพอ และเกรงว่าจะกระทบต่อความหลากหลายทางพันธุกรรมของมะเขือในอินเดีย และตลาดส่งออกมะเขือ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอินเดียวเทียบได้กับข้าวของไทย" น.ส.ณัฐวิภา กล่าว

ส่วนในประเทศไทยนั้น ล่าสุดทางมูลนิธิชีววิถีได้แถลงรายงานการตรวจพบพืชดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอปนเปื้อนในพื้นที่เกษตรกรรม จำนวน 5 ชนิด ในหลายจังหวัด เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 53 ที่อาคารเคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมูลนิธิชีววิถีร่วมกับห้องปฏิบัติการทรานส์เจนิคเทคโนโลยีในพืชและไบโอเซ็นเซอร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุ่มตรวจสอบการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของพืชจีเอ็มโอ ระหว่าง เดือน พ.ย. 51- ก.ค. 52 จำนวน 768 ตัวอย่าง จากพืช 9 ชนิด ในพื้นที่เกษตรกรรม 40 จังหวัด ครอบคลุม 120 อำเภอ ทั่วประเทศ

ในรายงานระบุว่าผลการตรวจสอบพบพืชจีเอ็มโอปนเปื้อนในพื้นที่ของเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 5 ชนิด จำนวน 17 ตัวอย่าง ได้แก่ ฝ้าย ข้าวโพด ถั่วเหลือง มะละกอ และพริก ซึ่งในจำนวนนี้ ถั่วเหลือง และพริก เป็นพืชจีเอ็มโอชนิดใหม่ที่พบหลักฐานการปนเปื้อนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยถั่วเหลืองจีเอ็มโอพบในจังหวัดแม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่ และนครสวรรค์ ส่วนพริกจีเอ็มโอพบในจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น

ส่วนมะละกอจีเอ็มโอนั้นพบการปนเปื้อนในจังหวัดนครสรรค์และกาญจนบุรี โดยตรวจพบโครงสร้างชิ้นส่วนดีเอ็นเอ 35S promoter ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมที่เคยพบปนเปื้อนในพื้นที่เกษตรกรรมเมื่อปี 2547 และหลงเหลือจากการทำลายในครั้งนั้น รวมทั้งฝ้ายจีเอ็มโอที่พบใหม่ คาดว่าเป็นฝ้านต้าทานหนอนเจาะสมอฝ้ายสายพันธุ์เดียวกับที่เคยพบการปนเปื้อนเมื่อหลายปีก่อน

"หลังจากที่ไบโอไทยเปิดเผยการพบพืชจีเอ็มโอปนเปื้อนในพื้นที่เกษตรครั้งนี้ ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ มะละกอจีเอ็มโอก็พบว่ายังมีปนเปื้อนอยู่อีก ทั้งที่ภาครัฐบอกว่าได้ทำลายไปหมดแล้ว และรายงานการพบพืชจีเอ็มโอปนเปื้อนในไทยทุกครั้งมาจากภาคประชาชน แสดงให้เป็นถึงความหละหลวมและไม่เอาจริงเอาจังของหน่วยงานภาครัฐในเรื่องนี้ ทั้งที่มีหน้าที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังเรื่องนี้โดยตรง" น.ส.ณัฐวิภา กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนอีกหลายสำนัก

น.ส.ณัฐวิภา กล่าวต่อว่า กรีนพีซจะติดต่อขอข้อมูลการพบมะละกอจีเอ็มโอปนเปื้อนจากทางมูลนิธิชีววิถี และทำหนังสือถึงศาลปกครอง เพื่อประกอบการพิจารณาคดีกรีนพีซฟ้องกรมวิชาการเกษตร ว่าได้ละเลยต่อหน้าที่และปล่อยให้มีการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอสู่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์

"เราจะรวบรวมข้อมูลและยื่นต่อศาลปกครองให้เร็วที่สุด และหวังว่าศาลจะตัดสินใหม่ให้กรมวิชาการเกษตรเร่งตรวจสอบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอในพื้นที่เกษตรกรรมใหม่ทั้งหมด และหากพบว่ายังมีอยู่จริงให้รีบทำลายทิ้งให้หมดทันที" น.ส.ณัฐวิภา กล่าว และส่วนกรณีการตรวจพบการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอชนิดใหม่ รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการเพื่อเร่งตรวจสอบและสืบหาสาเหตุการปนเปื้อนโดยเร็วที่สุดด้วย

นอกจากนั้น กรีนพีซยังเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการสนับสนุนเพื่อจีเอ็มโอเสียใหม่ ควรยุติการทดลองพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยทุกชนิดในทุกระดับการทดลอง เพราะแม้ทดลองในห้องปฏิบัติการก็มีโอกาสหลุดออกมาปนเปื้อนในธรรมชาติได้ ซึ่งยากที่จะแก้ไขและควบคุม อย่างความล้มเหลวที่ผ่านมาในกรณีของฝ้ายและมะละกอจีเอ็มโอ

รวมทั้งควรออกมาตรการทางกฏหมายที่เข้มแข็งและมีความครอบคลุมในการควบคุมพืชจีเอ็มโอทุกชนิด เพื่อปกป้องสิทธิ์ผู้บริโภค และควรมีบทลงโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอ และการชดเชยค่าเสียหายแก่เกษตรกรหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโออย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน
น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น