สผ.จัดประชุม 5 ปีร่วมพิธีสารคาร์ตาเฮนาฯ พันธะผูกพันด้านความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับแรกของโลก เน้นใช้ประโยชน์และควบคุมดูแลการนำเข้า-ส่งออกสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ที่อาจเสี่ยงสุขภาพต่อสุขภาพประชากร ทำลายระบบนิเวศน์ เล็งอีก 2 ปีมีกลยุทธ์คุ้มครองผลกระทบทางลบของสิ่งมีชีวิตที่ตัดแต่งผิดธรรมชาติ
เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปืที่ประเทศไทยได้ลงนามรับรองและเข้าเป็นภาคี “พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ” (Cartagena Protocol for Biosafety) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ค.ศ.2006 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงได้จัดการประชุมในหัวข้อ "5 ปี อนุวัตการพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ" ขึ้น ในวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมารวยการ์เดนส์ กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ นางนิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการ สผ.ได้เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ เรื่อง "พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และข้อมติสมัชชาภาคีพิธีสารคาร์ตาเฮนาฯ" ว่า พิธีสารฉบับดังกล่าวแสดงเป็นคำยืนยันร่วมกันของประชาคมโลกที่จะควบคุม ดูแลการเคลื่อนย้าย การบรรจุหีบห่อ การระบุจำแนก และการใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมอย่างปลอดภัย นับเป็นความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีพันธะผูกพันฉบับแรกของโลก
นางนิศากร กล่าวด้วยว่า การอนุวัตการพิธีสารคาร์ตาเฮนาฯ ในระยะ 2 ปี ข้างหน้า จะเป็นการดำเนินงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางกลยุทธ์ตามกำหนดเวลาที่วางไว้คือ ค.ศ. 2011-2020 โดยมีเป้าหมาย ในการป้องกัน ไม่ให้ชนิดพันธ์ที่ถูกคุกคามต้องสูญพันธุ์ ทั้งนี้ยังต้องปรับปรุงสถานภาพการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ดังกล่าว โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่ลดลงเหลือน้อยที่สุด และรักษาไว้ให้ยั่งยืนต่อไป
อีกทั้ง ยังต้องดำรงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพทางพันธุกรรมพืชปลูก ปศุสัตว์ สัตว์เลี้ยง ตลอดจนสายพันธุ์สัตว์ป่า รวมถึงชนิดพันธุ์อื่น ที่มีคุณค่าทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม การจัดทำกลยุทธ์และดำเนินงานตามนั้น จะต้องมีแนวทางเพื่อลดการสูญสลายทางพันธุกรรมให้มากที่สุด รวมถึงการเฝ้าระวังรักษาความหลากหลายทางชีวภาพทางพันธุกรรมดังกล่าว และจากความหลากหลายทางชีวภาพนั้น จะได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอ จากผลกระทบทางลบของสิ่งดัดแปรทางพันธุกรรมอีกด้วย
เลขาฯ สผ. ยังกล่าวอีกว่า ตลอดระยะ 5 ปีที่ไทยได้เข้าร่วมพิธีสารฯ นั้น สผ. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สถาบันทางการศึกษา และองค์กรอิสระ ดำเนินการตามพันธกรณีของพิธีสารฯ ในการจัดทำกลไกการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อใช้ประโยชน์ และการควบคุมดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี พันธกรณีของพิธีสารคาร์ตาเฮนา มีความมุ่งหมายที่จะวางกฎเกณฑ์กำกับควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (Living modified organisms) ทั้งที่เป็นสัตว์ เมล็ดพันธุ์พืช ต้นไม้ เนื้อเยื่อ ยีน เซลล์ของพืชและสัตว์ รวมถึงจุลินทรีย์ แต่จะไม่ใช้กับผลิตภัณฑ์หรืออาหารแปรรูปที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม เช่น น้ำมันพืช เนย แป้งข้าวโพด และยาที่ใช้กับมนุษย์
หลักการสำคัญของพิธีสาร คือการสร้างระบบแจ้งและให้ความยินยอมล่วงหน้า ในการเคลื่อนย้ายสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมจากประเทศหนึ่ง เพื่อนำไปสู่สภาพแวดล้อมในอีกประเทศหนึ่ง โดยต้องให้ประเทศผู้นำเข้ายินยอมให้มีการนำเข้าสินค้าดังกล่าว พร้อมทั้งได้ใช้มาตรการป้องกันภัยอย่างเหมาะสม
ที่สำคัญพิธีสารฉบับนี้ รับรองสิทธิของประเทศสมาชิกที่จะปฏิเสธการนำเข้าสินค้าดัดแปรพันธุกรรม โดยไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ใดๆ หากไม่มีหลักฐานพิสูจน์ถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและระบบนิเวศน์.