xs
xsm
sm
md
lg

ปส.ชวนเด็กสนใจนิวคลียร์สมัคร “ยุวทูตรักอะตอม” เหินฟ้าสู่เกาหลี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปส.เปิดรับสมัครเยาวชนเข้าประกวด ยุวทูตนิวเคลียร์ ติดตามรายละเอียดได้ในเว็บไซต์สำนักงาน ในเดือน ก.พ.นี้ พร้อมสื่อแขนงต่างๆ
ปส.ฉลอง 50 ปี ค้นหาคนรักนิวเคลียร์ระดับ ม.ปลาย และ ป.ตรี จัดประกวด “ยุวทูตรักอะตอม” คัดทีมตัวแทนเหินฟ้าสู่เกาหลีใต้ ดูกิจการนิวเคลียร์แดนโสมขาว และเป็นพรีเซนเตอร์นำเสนอความรู้ด้านนิวเคลียร์ให้สำนักงานตลอดทั้งปี ติดตามความเคลื่อนไหวในการรับสมัครได้ในเดือน ก.พ.ผ่านเว็บไซต์ www.oaep.go.th

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เปิดเผยถึงการประกวด “ยุวทูตนิวเคลียร์” ซึ่งทางสำนักงานจัดขึ้นเป็นปีแรก เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีของ ปส.โดยกิจกรรมนี้จะคัดเลือกตัวแทนแทนเยาวชนที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์เพื่อเป็นตัวแทนสำนักงานในการเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานปรมาณู และการกำกับดูแลความปลอดภัยทางด้านนิวเคลียร์ไปสู่ประชาชน

ทั้งนี้ จะเปิดรับการคัดเลือกตัวแทนในระดับ ม.ปลายและปริญญาตรี โดยสมัครคัดเลือกเข้ามาเป็นทีมๆ ละ 3 คน พร้อมอาจารย์ 1 คน โดยทั้งหมดจะอยู่สถาบันการศึกษาเดียวกันหรือต่างสถาบันก็ได้ ซึ่งผู้ที่สนใจต้องส่งคลิปวิดีโอยาว 3 นาที โดยไม่จำกัดการแสดงว่าจะเป็นการร้อง เล่น หรือเต้นรำ แต่เนื้อหานั้นต้องเกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์และพันธกิจของ ปส. ซึ่งทีมชนะเลิศในแต่ละประเภทนอกจากจะต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนสำนักงานหรือพรีเซนเตอร์ด้านนิวเคลียร์และการกำกับดูแลแล้ว จะได้สิทธิในการเดินทางไปดูงานด้านนิวเคลียร์ที่ประเทศเกาหลีใต้พร้อมกับทีมจากสำนักงานข่าวไทยด้วย

ส่วนการรับสมัครนั้น เลขาฯ ปส.กล่าวว่า จะมีความชัดเจนในการรับสมัครในช่วงเดือน ก.พ.โดยจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานคือ www.oaep.go.th รวมทั้งสื่อต่างๆ ซึ่งขอให้เยาวชนที่สนใจติดตามข่าวสารให้ดี และจะคัดเลือกรอบสุดท้ายซึ่งจะมีตัวแทนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบตัดสินระดับละ 5 ทีมในวันที่ 25 เม.ย.54 ซึ่งตรงกับวันครบ 50 ปีสถาปนา ปส.

ด้าน ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเสนอให้เปลี่ยนชื่อจากยุวทูตนิวเคลียร์เป็น “ยุวทูตรักอะตอม” กล่าวว่า อยากให้ข่าวสารเกี่ยวกับการเปิดรับสมัครการประกวดยุวทูตครั้งนี้ ส่งไปถึงเยาวชนในชนบทและต่างจังหวัด เพื่อให้ได้รับโอกาสตรงนี้ด้วย เช่นเดียวกับกรณี “ยุวทูตดาราศาสตร์” ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ซึ่งมีตัวแทนเป็นเยาวชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และเยาวชนจาก จ.ลำพูน

สำหรับการประกวดยุวทูตนิวเคลียร์หรือยุวทูตรักอะตอมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ของ ปส. ซึ่งยังมีอีก 2 กิจกรรมในโครงการคือ ค่ายอาสาสมัครนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมในการกระจายความรู้ความเข้าใจด้านนิวเคลียร์ให้แก่เจ้าหน้าที่ภายใน ปส.เอง และกิจกรรมค่ายเยาวชนนิวเคลียร์สัมพันธ์ “รักอะตอม” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549

โอกาสนี้ น.ส.รัชตา ใจบรรจง นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสารวิทยา ซึ่งเดินทางมาดูงานที่ ปส.พร้อมกับเพื่อนๆ อีกกว่า 70 คน และได้เข้าร่วมในงานแถลงข่าวการจัดประกวดยุวทูตนิวเคลียร์นี้ ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า มองว่านิวเคลียร์นั้นมี 2 ด้าน คือด้านที่เป็นประโยชน์ ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ แต่ขณะเดียวกัน็มีอันตรายอย่างร้ายแรงที่สามารถทำลายทั้งชีวิต จิตใจและทรัพย์สินของผู้เสียหายได้

ทั้งนี้ หากเธอได้เป็นยุวทูตนิวเคลียร์แล้วอยากจะรณรงค์ให้ประเทศต่างๆ ที่สะสมเทคโนโลยีนิวเคลียร์ได้นำเทคโนโลยีนั้นมาใช้ทำสิ่งดีๆ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและคนรุ่นหลัง และใช้ไปในทางที่ถูกต้องมากกว่านำมาทำลายล้างกัน อยากไรก็ดี เธอเพิ่งเรียนนิวเคลียร์ในภาคเรียนที่ผ่านมา แต่ในหลักสูตรที่เรียนนั้นยังไม่เห็นภาพมากนักว่าเรานำนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ดังนั้น เธอมองว่าคนที่จะได้รับตำแหน่งยุวทูตนิวเคลียร์นั้นจำเป็นต้องสนใจด้านนี้จริงๆ

เช่นเดียวกับ นายมงคลศักดิ์ เมืองมณี นักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนเดียวกันที่บอกกับเราสนใจนิวเคลียร์บ้างเหมือนกัน แต่ส่วนตัวแล้วมองว่า นิวเคลียร์ก็เป็นพลังงานชนิดหนึ่ง และเป็นเหมือนดาบ 2 คม ที่มีทั้งประโยชน์และผลเสีย ส่วนเรื่องการประกวดยุวทูตนิวเคลียร์นั้นเขายังไม่แสดงความสนใจอย่างชัดเจน แต่ขอทราบรายละเอียดให้มากกว่านี้ก่อน
การแสดงระหว่างงานแถลงข่าว
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว (ซ้าย) และ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล(ขวา) ร่วมกันจุดกองไฟเปิดงานแถลงข่าวโครงการประกวด ยุวทูตนิวเคลียร์
น.ส.รัชตา ใจบรรจง
นายมงคลศักดิ์ เมืองมณี
กำลังโหลดความคิดเห็น