เผย “อีโยโดรเมอัส” บรรพบุรุษ “ทีเรกซ์” ตัวเล็กหนักแค่ 4-7 กก. มีชีวิตอยู่เมื่อ 230 ล้านปีก่อนในอเมริกาใต้ ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจสัตว์กินเนื้อในยุคก่อนไดโนเสาร์ และอาจนำไปสู่การจำแนกสิ่งมีชีวิตในยุคไดโนเสาร์ใหม่
พอล ซี. เซเรโน (Paul C. Sereno) จากมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) ผู้นำทีมในการค้นพบ “อีโยโดรเมอัส” (Eodromaeus) ไดโนเสาร์ตัวเล็กและเป็นนักล่าที่ว่องไวซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 230 ล้านปีก่อนว่า แม้จะตัวเล็กแต่ก็เป็นไดโนเสาร์ที่มีวิวัฒนาการอันยิ่งใหญ่
นักล่าดึกดำบรรพ์นี้มีขนาดตัวยาวเพียง 4 ฟุต (ประมาณ 1.2 เมตร) เคยอาศัยในถิ่นที่ปัจจุบันกลายเป็นอเมริกาใต้ และยังปรากฏว่าเป็นบรรพบุรุษของนักล่าอย่างไทแรนนอซอรัสเรกซ์ (Tyrannosaurus rex) หรือทีเรกซ์ (T. rex) อีกด้วย
“มันน่าทึ่งมาก” เอพีระบุคำพูดของเซเรโนที่กล่าวถึงการค้นพบในครั้งนี้ โดยเขาได้เผยแพร่ผลงานลงในวารสารไซน์ (Science)
ทั้งนี้ ลักษณะโครงสร้างของไดโนเสาร์ร่างเล็กนี้ มีหางที่สมดุลและมีช่องลมในกระโหลกที่สัมพันธ์กับไดโนเสาร์พันธุ์ทีเรกซ์ แต่ถึงแม้จะยืน 2 ขาเหมือนกัน แต่อีโยโดรเมอัสก็มีน้ำหนักเพียง 10-15 ปอนด์ (ประมาณ 4-7 กิโลกรัม) โดยชื่อนี้มีความหมายว่า "นักวิ่งผู้บุกเบิก"
“นี่เป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นจริงๆ” โอลิเวอร์ ดับเบิลยู เอ็ม รอฮัท (Oliver W. M. Rauhut) ภัณฑารักษ์แห่งพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาและธรณีวิทยาแห่งบาวาเรีย (Bavarian State Collection for Palaeontology and Geology) ในเมืองมิวนิค เยอรมนี ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งนี้ ให้ความเห็น และยังเพิ่มเติมด้วยว่า เรายังมีความเข้าใจน้อยเกี่ยวกับต้นกำเนิดและความหลากหลายของไดโนเสาร์ในยุคแรกๆ
ด้าน นิค ลองริช (Nick Longrich) จากภาควิชาธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ก็เห็นด้วยเช่นกัน โดยบอกว่างานนี้มีความสำคัญเพราะช่วยให้เรามีความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อบรรพบุรุษของไดโนเสาร์กินเนื้อ ซึ่งรวม "ไทแรนนอซอรัส อัลโลซอรัส" (Allosaurus) และนกทั้งหลาย
“การค้นพบสปีชีส์ใหม่ๆ ของไดโนเสาร์ในยุคแรกเริ่มเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นเสมอ โดยเฉพาะตัวอย่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์อย่างอีโยโดรเมอัส” รันเดลล์ บี.ไอร์มิส (Randall B. Irmis) ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยยูท่าห์ (University of Utah) ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานของเซเรโนเช่นกันให้ความเห็น
นอกจากนี้ ไดโนเสาร์นักล่าตัวจิ๋วนี้ยังมีคุณลักษณะบางอย่างร่วมกันกับไดนเสาร์กินเนื้อในยุคต้นๆ ที่ชื่อ “ทาวา” (Tawa) ซึ่งพบแถวๆ นิวเม็กซิโกและได้รับการรายโดยไอร์มิสและคณะ โดยความคล้ายคลึงกันนี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่า ไดโนเสาร์กินเนื้อได้เคลื่อนย้ายไปมาระหว่างอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ในยุคปลายไทรแอสซิก (Late Triassic)
อีกนัยหนึ่งของการค้นพบอีโยโดรเมอัสในครั้งนี้ นักวิจัยทั้งหลายเสนอที่จะปรับการจำแนกไดโนสาร์พันธุ์ “อีโยแรพเตอร์” (Eoraptor) ซึ่งเป็นที่รู้จักก่อนหน้านี้ด้วย โดยไดโนเสาร์พันธุ์นี้มีขนาดใหล้เคียงกับอีโยโดรเมอัส แต่มีลักษณะฟันที่แตกต่าง ซึ่งบ่งชี้ว่าอีโยแรพเตอร์น่าจะเป็นบรรพบุรุษไดโนเสาร์กินพืชร่างใหญ่ซอโรพอด (sauropod) มากกว่า ที่จะเป็นบรรพบุรุษของนักล่าเธอร์โรพอด (theropod) อย่างทีเรกซ์
“การจำแนกสายพันธุ์อีโยแรพเตอร์ใหม่นี้จะดูเข้าท่ามากขึ้น” ลองริชผู้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการค้นพบไดโนเสาร์บรรพบุรุษทีเรกซ์กล่าว และยังบอกด้วยว่าลักษณะของฟันที่พบนั้นมักทำให้เขาต้องแปลกใจอยู่เสมอ อีกทั้งเขาได้กล่าวถึงการค้นพบครั้งนี้ว่า ช่วยในการแยกต้นกำเนิดของกลุ่มใหญ่ๆ หลายกลุ่ม ทั้งสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่อย่างทีเรกซ์ นก และไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่อย่างอะพาโตซอรัส (Apatosaurus) หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า “โบรนโตซอรัส (Brontosaurus)
การค้นพบครั้งนี้เซเรโนผู้วิจัยให้ความเห็นว่า ได้นำนักวิทายาศาสตร์ให้เข้าไปใกล้ยุคก่อนไดโนเสาร์ 2-3 ล้านปี แต่ตอนนี้การค้นหาของเขายังเผชิญกับความยากลำบากเพราะขาดกระดูกท่อนที่อยู่ต่ำลงไปในตำแหน่งที่พบอีโยโดรเมอัส มีเพียงร่องรอยแต่ขาดกระดูกที่เป็นหลักฐานสำคัญ ทั้งนี้ อีโยโดรเมอัสถูกค้นพบทางตะออกเฉียงเหนือของอาร์เจนตินาเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1990