เอเอฟพี - นักวิจัยญี่ปุ่นจะใช้เทคโนโลยีโคลนนิง เพื่อทำให้สัตว์ดึกดำบรรพ์อย่าง “ช้างแมมมอธ” กลับมาเดินบนโลกนี้อีกครั้งภายใน 5 ปี รายงานเผยวันนี้ (17)
หนังสือพิมพ์ โยมิอุริ ชิมบุน รายงานว่า นักวิจัยญี่ปุ่นจะเริ่มต้นปลุกชีพสัตว์โบราณชนิดนี้ โดยใช้เนื้อเยื่อจากซากช้างแมมมอธ ซึ่งเก็บรักษาไว้ในห้องแล็บแห่งหนึ่งของรัสเซีย
“ขณะนี้เราได้เตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว” อาคิระ อิริทานิ หัวหน้านักวิจัยและศาสตราจารย์กิตติคุณของมหาวิทยาลัยเกียวโต ให้สัมภาษณ์
นักวิทยาศาสตร์จะใส่นิวเคลียสในเซลล์ของช้างแมมมอธเข้าไปในไข่ของช้างธรรมดาที่ผ่านการดึงนิวเคลียสออกแล้ว เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิเป็นเอ็มบริโอที่มียีนของช้างแมมมอธ จากนั้นจะนำเอ็มบริโอใส่เข้าไปในมดลูกของช้างตัวเมีย โดยหวังว่าแม่ช้างจะให้กำเนิดลูกช้างแมมมอธได้ในที่สุด
นักวิจัยคาดว่า โครงการนี้จะประสบความสำเร็จภายใน 5-6 ปี โยมิอุริ ชิมบุน รายงาน
ทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น, นักวิจัยช้างแมมมอธจากรัสเซีย และผู้เชี่ยวชาญด้านช้างอีก 2 คนจากสหรัฐฯ เพิ่งประสบความสำเร็จในการแยกดีเอ็นเอออกจากเซลล์แช่แข็งของช้างแมมมอธ ทั้งที่ก่อนหน้านี้โครงการต้องเป็นอันพับไประยะหนึ่ง เนื่องจากเซลล์ผิวหนังและเซลล์กล้ามเนื้อของช้างถูกผลึกน้ำแข็งทำลายจนไม่สามารถใช้ได้
ต่อมา เทรุฮิโกะ วากายามะ นักวิจัยจากศูนย์พัฒนาด้านชีววิทยาริเค็น ประสบความสำเร็จในการ “โคลน” หนูจากเซลล์ที่แช่แข็งไว้นานถึง 16 ปี ทีมของ อิราทานิ จึงนำเทคนิคของ วากายามะ มาปรับปรุง จนได้วิธีการดึงนิวเคลียสจากไข่ช้างแมมมอธ โดยที่เซลล์ไม่ถูกทำลาย
“หากเราโคลนเอ็มบริโอได้สำเร็จ ก่อนที่จะใส่มันเข้าไปในมดลูกของช้างปกติ เราคงต้องหารือกันก่อนว่า จะขยายพันธุ์ช้างแมมมอธต่อไปอย่างไร และจะเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือไม่” อิราทานิ กล่าว
“หลังจากที่ลูกช้างเกิดมา เราจะต้องศึกษาเรื่องยีนและระบบนิเวศที่มันอาศัยอยู่ เพื่อให้ทราบสาเหตุที่พวกมันสูญพันธุ์ รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ”
ซากช้างแมมมอธร้อยละ 80 ถูกขุดพบในสาธารณรัฐซาฮาทางตะวันออกของไซบีเรีย โดยซากที่มีสภาพดีที่สุดยังคงหลงเหลือเส้นขนและอวัยวะภายใน