ในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ Richard Owen ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักกายวิภาควิทยาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ และเป็นคนที่โลกรู้จักว่าได้ต่อต้าน และโจมตีทฤษฎีวิวัฒนาการของ Charles Darwin อย่างรุนแรง จนทำให้เกิดเสียงร่ำลือว่า เขาคือคนที่ Darwin เกลียดมากที่สุดในโลก แต่ในที่สุด Owen ก็ได้จำนนต่อ เหตุผลของ Thomas Huxley ที่แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีของ Darwin ถูกต้อง
Owen เกิดที่เมือง Lancaster ในอังกฤษเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1804 และได้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ Lancaster Grammar School เมื่ออายุ 16 ปี Owen ได้งานชั่วคราวเป็นผู้ช่วยศัลยแพทย์ และทำงานในตำแหน่งนี้ 4 ปี จึงได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Edinburgh ใน สก็อตแลนด์ อีกหนึ่งปีต่อมา ได้ย้ายไปเรียนแพทย์ที่ St. Bartholomew’s Hospital ในกรุง London
เมื่อสำเร็จการศึกษา Owen วัย 23 ปี ได้เป็นผู้ช่วยภัณฑารักษ์ประจำที่พิพิธภัณฑ์ Hunter แห่ง Royal College of Surgeons งานในตำแหน่งนี้ทำให้ได้มีโอกาสพบนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงมากมาย และหนึ่งในบรรดาผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้น คือ Baron Georges Cuvier นักกายวิภาควิทยาผู้มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส การได้สนทนาวิทยาศาสตร์กับ Cuvier ทำให้ Owen วัย 26 ปี รู้สึกสนใจวิชาดึกดำบรรพ์วิทยามาก จึงตัดสินใจไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิทยาการแขนงนี้ที่ Paris
เมื่อสำเร็จการศึกษา Owen ได้กลับมาทำงานต่อที่ Royal College of Surgeons และก้าวหน้าในหน้าที่จนได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ เมื่ออายุ 32 ปี และอีก 13 ปี ต่อมาก็ได้ครองตำแหน่งภัณฑารักษ์แห่งพิพิธภัณฑ์ Hunter อย่างสมบูรณ์
ผลงานด้านชีววิทยาของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มากมายและสำคัญทำให้ Owen ได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่าย Natural History ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (British Museum) โดยมีหน้าที่แลค้นคว้าและวิจัยด้านชีววิทยาของสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ Owen ทำงานในตำแหน่งนี้นาน 28 ปี จนเกษียณเมื่ออายุ 80 ปี จากนั้นสุขภาพก็เริ่มทรุดลงๆ จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1892 สิริอายุ 88 ปี
ผลงานที่สำคัญๆ ของ Owen คือ การได้เก็บข้อมูล และศึกษาชีววิทยาของสิ่งมีชีวิตกับซากสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น โดยเน้นด้านกายวิภาควิทยาเชิงเปรียบเทียบ Owen เป็นคนแรกที่เรียกสัตว์ยักษ์ที่สูญพันธุ์ว่า ไดโนเสาร์ (dinosaur) และได้ศึกษาซากของ Mylodon robustus ซึ่งเป็นตัว sloth ยักษ์ที่เคยมีชีวิตอยู่ในอเมริกาใต้ แต่บัดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว นอกจากนี้ก็ยังได้ศึกษานกยักษ์ Dinornis ที่เคยมีชีวิตอยู่บนเกาะ New Zealand แต่บัดนี้ได้สูญพันธุ์แล้วเช่นกัน สำหรับนก Archaeopteryx นั้น Owen ก็ได้สรุปไว้อย่างถูกต้องว่า เป็นสัตว์ที่มีลักษณะผสมระหว่างนกกับสัตว์เลื้อยคลาน
งานเขียน ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของ Owen คือ ตำราชื่อ Anatomy and Physiology of Vertebrates ซึ่ง Owen ได้พบว่า ฟัน คือ อวัยวะที่แข็งแรงที่สุดของร่างกาย และฟอสซิลต่างๆ จะมีรากฟันอยู่เสมอ ดังนั้นการศึกษาฟัน (odontography) จะทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้พฤติกรรมกินอาหาร และวิธีดำรงชีวิตของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วได้
สำหรับบทบาทของ Owen ในการต่อต้าน Darwin นั้น ก็นับว่ารุนแรงเพราะ Owen ได้เคยกล่าวว่าถ้าทฤษฎีวิวัฒนาการของ Darwin เป็นจริง บรรพบุรุษของ Darwin ก็คือ ลิง ซึ่ง Huxley ก็ได้กล่าวย้อนว่า บรรพบุรุษของตนเป็นลิงยังดีกว่ามีบรรพบุรุษชื่อ Owen และเมื่อ Owen วิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎี Origin of Species ในปี 1860 ในวารสาร Edinburgh Review ทำให้ Huxley ก็ได้กล่าวโจมตี Owen ในที่สาธารณะว่า เป็นคนที่มีความรู้ผิดๆ และเป็นนักชีววิทยาที่นั่งทำงานอยู่แต่ในพิพิธภัณฑ์ โดยไม่ออกทำงานสำรวจภาคสนามเลย
การถูกโจมตีบ่อยโดยศิษย์ ของ Darwin ทำให้ Owen แค้น Darwin มาก และต่างก็ขัดขวางกัน เช่น Darwin เคยต่อต้านไม่ให้ Owen สร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่ในปี 1858 ซึ่งทำให้ Owen โกรธแค้นเคือง Darwin มากจนกระทั่ง Darwin เสียชีวิตในปี 1882
ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 2001 Kevin Padian แห่ง มหาวิทยาลัย Califonia ที่ Berkeley สหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์จดหมายที่ Owen เขียนเนื่องในโอกาสที่ Darwin เสียชีวิตว่า ใครที่ได้อ่านตอนต้นของจดหมายนี้ จะรู้สึกเสมือนว่า Owen กำลังยกย่อง Darwin เพราะได้เปรียบ Darwin ว่ายิ่งใหญ่เสมือน Copernicus แห่งชีววิทยา จึงสมควรจะมีอนุสาวรีย์ติดตั้งใน Natural History Museum แต่ถ้าอ่านไปๆ ผู้อ่านก็จะพบว่า วิธีเขียน และสำนวนโวหารของ Owen มิได้สนับสนุนการสร้างอนุสาวรีย์ให้ Darwin เลย
จดหมายของ Owen ที่เขียนนี้ จ่าหน้าซองถึง Spencer Walpole ซึ่งขณะนั้นเป็นกรรมการบริหารของ Natural History Museum ที่ Owen เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งพิพิธภัณฑ์นี้ Owen ได้เป็นบุคคลสำคัญในการต่อสู้ของบประมาณจากรัฐบาล และขอการสนับสนุนจากสถาบันกษัตริย์เพื่อให้เก็บหลักฐานวิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิต แต่เมื่อพิจารณาให้รอบคอบก็จะเห็นว่า Owen ต้องการให้พิพิธภัณฑ์นี้ เป็นอนุสาวรีย์สำหรับตนเอง
ในช่วงเวลาใกล้เกษียณนั้น ชื่อเสียงของ Owen ได้ ลดลงมากแล้ว ถึงกระนั้น Owen ก็ได้รับการขอร้องให้สนับสนุนการสร้างอนุสาวรีย์ของคนที่เขาเกลียดที่สุด Owen ได้ตอบรับว่าจะเขียนบทความสนับสนุน และตระหนักว่าตนจะต้องเขียนข้อความอย่างระมัดระวัง
ในตอนต้น Owen ได้สดุดีผลงาน และการเสียสละของ Darwin แต่ได้บิดเบือนข้อมูลว่า Darwin ได้ขอกัปตัน Robert Fitzroy เพื่อเดินทางไปกับเรือ Beagle แต่ในความเป็นจริง Darwin ได้งานเป็นนักธรรมชาติวิทยาบนเรือ เพราะความสามารถของตนเอง
จากนั้น Owen ได้ยกย่องความสามารถและความเชี่ยวชาญของ Darwin ในการทำงานภาคสนาม และไม่ได้กล่าวถึงผลงานที่ยิ่งใหญ่อีกชิ้นหนึ่งของ Darwin คือ หนังสือ Descent of Man เพราะในสายตาของ Owen หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่น่าขยะแขยง และเต็มไปด้วยการคาดคะเน
Owen ได้กล่าวยกย่อง Jean-Baptiste Lamarck ว่าเป็นบุคคลแรกที่เสนอความคิดว่า สปีชีส์สามารถวิวัฒนาการได้โดยกลไกธรรมชาติ และความคิดนี้สามารถนำมาใช้อธิบายกระบวนการวิวัฒนาการได้ดีกว่าของ Darwin ที่กล่าวถึงการคัดเลือกโดยธรรมชาติ และนี่ก็คือเหตุผลที่ Owen เปรียบ Darwin ว่าเป็น Copernicus เพราะผลงานของ Copernicus ได้ถูกแทนที่โดยการค้นพบของ Galileo, Kepler และ Newton ดังนั้นทฤษฎีของ Darwin ก็เช่นกันคือ ในที่สุดจะถูกแทนที่ด้วยการค้นพบของนักชีววิทยาอื่นๆ แต่ Owen ก็ได้กล่าวสรุปว่า จะอย่างไรก็ตามทฤษฎีของ Darwin ก็ได้รับการเชิดชูที่คู่ควรแล้วด้วยการมีพิธีรำลึกถึง Darwin ในมหาวิหาร Westminster ส่วนผลงานด้านการเก็บสิ่งมีชีวิตตัวอย่างนั้น Darwin ได้ส่งมอบให้บุคคลอื่นศึกษาต่อ และหนึ่งในบุคคลอื่นนั้น คือ Owen
ส่วนการที่พิพิธภัณฑ์จะพิจารณาความสมควรมีอนุสาวรีย์ของ Darwin นั้น ก็ให้เป็นนโยบายของกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์
ดังนั้น จดหมายฉบับนี้ จึงเป็น “กระสุน” นัดสุดท้ายที่ Owen มอบให้แก่ศัตรูชื่อ Darwin ซึ่งในตอนต้นของจดหมายดูเหมือนจะมีเนื้อหาสร้างสรรค์ที่อโหสิกรรมให้ แต่ความเป็นจริงหาใช่ไม่
โลกไม่ทราบชัดว่า Walpole และกรรมการท่านอื่น มีความเห็นเช่นไร เมื่อได้อ่านจดหมายฉบับนี้
แต่ปัจจุบันเราก็รู้ว่า ได้มีการติดตั้งอนุสาวรีย์ของ Darwin ในพิพิธภัณฑ์ Natural History ส่วน Owen ก็มีอนุสาวรีย์ของตนเช่นกันในพิพิธภัณฑ์นั้น แต่อยู่คนละชั้นกับของ Darwin
คุณหาอ่านเรื่อง Owen เพิ่มเติมได้จาก หนังสือ Richard Owen: Victorian Naturalist โดย N. Rupke ที่จัดพิมพ์โดย Yale University Press, New Haven, CT. ปี 1995 ครับ
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.