xs
xsm
sm
md
lg

ชวนน้องดูนก-ดูแมลงที่สะแกราช “แหล่งสงวนชีวมณฑล” แห่งแรกของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คู่มือดูนกป่าสะแกราช เป็นเครื่องมือข้างกายสำหรับการดูนกที่ควรติดตัวไว้
ในขณะที่เด็กๆ คนอื่นจะไปซ้อมนั่งเก้าอี้นายกที่ทำเนียบ ปีนรถถัง กินไอติมกันในช่วงวันเด็กๆ ก็มีเยาวชนจำนวนหนึ่งทำกิจกรรมที่ต่างออกไป ด้วยการดูนก-ดูแมลงภายในป่าเต็งรังและป่าดิบแล้งที่สะแกราช ซึ่งยูเนสโกจัดให้เป็น “แหล่งสงวนชีวมณฑล” แห่งแรกของไทยมากว่า 30 ปี

เป็นอีกครั้งที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV- ผู้จัดการออนไลน์ได้ไปเยือน “สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช” สถานีวิจัยภูมิภาคของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยการร่วมกิจกรรม “ค่ายคุยกัน...ฉันวิทย์สัญจร” ที่จัดต้อนรับวันเด็กแห่งชาติโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 7-8 ม.ค.54 ทั้งนี้สถานีวิจัยตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา

สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็น “แหล่งสงวนชีวมณฑล” แห่งแรกของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งทั่วโลกมีแหล่งสงวนชีวมณฑลนี้ 529 แห่งใน 105 ประเทศ ภายในสถานีมีพื้นที่ป่ากว่า 50,000 ไร่ และเป็นป่าต้นแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือผสมผสานระหว่างป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ซึ่งมีความสมบูรณ์ที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายทักษิณ อาชวาคม ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ให้ข้อมูลว่าป่าของสถานีวิจัยนั้นเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่าหลายชนิด บางชนิดเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์และบางชนิดเป็นสัตว์ป่าเฉพาะถิ่น ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีสัตว์ป่าถึง 385 ชนิด เช่น เก้ง กวาง กระทิง หมี หมูป่า กระต่ายป่า อ้นเล็ก พญากระรอกดำ กระลอกบินเท้าขน หมีควาย แมวป่า และเสือโคร่ง เป็นต้น โดยเมื่อต้นปี 2552 สามารถจับภาพเลียงผาและหมีควาย ซึ่งเป็นสัตว์หายากได้ด้วยกล้องดักจับภาพสัตว์ (Camera Trap)

ในค่ายคุยกันฉันวิทย์สัญจรนี้มีเยาวชนกว่า 140 คน จากหลายโรงเรียน อาทิ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น เข้าร่วมกิจกรรม และมีกิจกรรมดูนกและดูไก่ฟ้าในตอนเช้าและตอนเย็น ซึ่งเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่โดดเด่นของสถานีวิจัยแห่งนี้ ตกกลางคืนมีกิจกรรมดูดาวและดูแมลง แต่เนื่องจากสภาพฟ้าปิดเยาวชนในค่ายนี้จึงพลาดโอกาสดูดาว

ในช่วงกิจกรรมดูนกเราได้เห็นนกประจำถิ่นจำนวนหนึ่ง โดยนกตัวแรกที่เราได้เห็นคือนกโพระดกสวน จากนั้นเราได้พบนกแขกเต้าซึ่งเป็นนกในวงศ์นกแก้วเมืองไทย 2 ตัว เป็นตัวผู้ที่มีปากสีแดงและตัวเมียที่มีปากสีดำซึ่งกำลังป้อนอาหารกัน นกแขกเต้านี้ถือเป็นนกประจำถิ่นของป่าสะแกราช และช่วงนี้เป็นช่วงผสมพันธุ์ของนกแขกเต้าเราจึงได้เห็นนกตัวผู้ตัวเมียจับคู่กัน ส่วนนกตัวสุดท้ายที่เราได้เห็นคือนกจับแมลงสีฟ้าบนต้นประดู่ ซึ่งบินโฉบจับแมลงแล้วกลับมาจับกิ่งไม้เดิมอยู่หลายครั้ง

มาถึงกิจกรรมช่วงกลางคืน แม้ว่าจะพลาดโอกาสดูดาวแต่เรามีโอกาสได้ดูแมลงกลางคืนรูปร่างแปลกตาจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผีเสื้อกลางคืนที่บินมาหาหลอดไฟที่ทางเจ้าหน้าที่เปิดล่อแมลง และขึงผืนผ้าใบให้แมลงมาเกาะ ผีเสื้อกลางคืนที่เราได้เห็นมีทั้งผีเสื้อสามเหลี่ยมซึ่งเป็นผีเสื้อบินเร็ว และผีเสื้อราบซึ่งกางปีกราบไปกับสิ่งที่ยึดเกาะ ส่วนใหญ่เป็นผีเสื้อตัวเล็ก บินไม่เร็วและชอบเกาะราบไปกับต้นไม้หรือใบไม้

ความแตกต่างระหว่างผีเสื้อกลางคืนและผีเสื้อกลางวัน อย่างแรกคือสีสันของผีเสื้อกลางคืนจะไม่สดใสเหมือนผีเสื้อกลางวัน ทั้งนี้ เพื่อช่วงในการพลางตัวผู้ล่าในช่วงกลางวัน ลักษณะหนวดยังมีความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยผีเสื้อกลางคืนมีหนวดคล้ายซี่หวี ส่วนผีเสื้อกลางวันมีหนวดคล้ายเส้นด้ายหรือทรงกระบอก นอกจากนี้การวางปีกยังแตกต่างกัน ผีเสื้อกลางคืนจะกางปีกออก แต่ผีเสื้อกลางวันจะหุบปีกเข้า

นอกจากนี้ผีเสื้อกลางคืนจำนวนมากแล้วเรายังได้เห็น แมลงปอเข็ม แมลงช้างซึ่งดูคล้ายแมลงปอเข็มแต่มีลักษณะแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือมีหนวดเพิ่มมา 2 คู่ ในช่วงเป็นตัวอ่อนแมลงช้างจะขุดรูเป็นหลุมทรงกรวย ชอบเดินถอยหลังและชอบกินมด อีกทั้งยังมีแมลงปีกแข็งชื่อ “แมลงนูน” ตัวสีเขียว มอสมะเดื่อซึ่งในระยะตัวหนอนจะกินต้นมะเดื่อเป็นอาหาร แมลงส่วนใหญ่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ยกเว้นจักจั่นที่จะใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินนาน 16 ปี ก่อนจะขึ้นมาผสมพันธุ์และใช้ชีวิตนาน 1 เดือนแล้วตาย

น.ส.น้ำฝน เกิดผล นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ กรุงเทพฯ ซึ่งกล่าวถึงกิจกรรมครั้งนี้ว่าเป็นของขวัญวันเด็กที่พิเศษ เธอเพิ่งมีโอกาสดูนกเป็นครั้งแรก และประทับใจภาพนกแขกเต้าป้อนอาหารกัน โดยได้เรียนรู้ว่านกนั้นมีสีสันกลืนกับธรรมชาติ ต้องมีความชำนาญจึงจะแยกแยะได้ แล้วยังได้แง่คิดอีกว่าสัตว์ทุกชนิดต่างปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อความอยู่รอด ส่วนการดูแมลงนั้นเป็นประสบการณ์ครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกเข้าค่ายที่ประจวบคีรีขันธ์ตอนเรียน ม.1 ซึ่งการดูแมลงนั้นทำให้รู้ว่าประเทศเรานั้นมีแมลงเยอะ แต่ก็หาดูไม่ง่าย อีกทั้งแมลงบางชนิดยังหายากด้วย

ด้าน นายภานุสรณ์ เจียรสุมัย นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย กล่าวว่า เคยมาเข้าค่ายที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้ได้เห็นนกมากกว่าครั้งก่อน โดยเห็นนกถึง 5 ชนิด ซึ่งที่ประทับใจคือนกแขกเต้าเพราะมีสีสันสวย และนกเขาใหญ่ นอกจากนี้ยังได้เห็นผีเสื้อแปลกๆ ระหว่างการดูแมลงด้วย และได้เรียนรู้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพันธุ์ไม้และสัตว์ในป่า รวมถึงการอยู่ร่วมกันด้วย

สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชยังมีกิจกรรมเดินป่าเต็งรังเป็นอีกกิจกรรมเด่น ซึ่งการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ของสถานีที่เน้นการถ่ายทอดความรู้ในการอยู่ร่วมกันของธรรมชาติ การพึ่งพาอาศัยและได้ประโยชน์ร่วมกัน การสร้างสมดุลระหว่างธรรมชาติและคนในท้องถิ่น ตลอดจนการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้ได้รับการยกย่องจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ดีเด่น ประจำปี 2549
นกโพระดกสวน
ภาพจากกล้องขยายของนกโพระดกสวน
นกแขกเต้าตัวผู้ มีปากสีแดง
นกแขกเต้าตัวผู้ (ซ้าย) และนกแขกเต้าตัวเมียมีปากดำ (ขวา)
นกแขกเต้าคู่ตัวผู้-ตัวเมียกำลังป้อนอาหารกัน
นกจับแมลงสีฟ้าบนยอดต้นประดู่
ส่องกล้องดูนก
ดูแมลง
ผีเสื้อกลางคืนตัวใหญ่

ผีเสื้อกลางคืนมีปีกคล้ายใบไม้เหมาะแก่การพลางตัวท่ามกลางใบไม้
ตั๊กแตน
ผีเสื้อยอดหญ้า

แมลงนูน
ผีเสื้อกลางคืนรูปร่างแปลกตา คล้ายคนมีหนวดและเขา
ผีเสื้อกลางคืนทั้งผีเสื้อสามเหลี่ยมและผีเสื้อราบ
แมลงปอเข็ม
หน้าตาเหมือนแมลงปอ แต่คือแมลงช้าง (มีหนวดด้วย)



หลุมดักมดของแมลงช้างในระยะตัวอ่อน




อ้วนๆ ป้อมๆ ลักษณะของตัวอ่อนแมลงช้าง




ผีเสื้อกลางคืนหน้าตาแปลกที่ภานุสรณ์ประทับใจ




น.ส.น้ำฝน เกิดผล




นายภานุสรณ์ เจียรสุมัย
กำลังโหลดความคิดเห็น