ตาก - ชาวบ้านเมืองตากมุ่งหน้าเข้าป่าตามวิถีท้องถิ่นรับภัยแล้ง จับจักจั่น-ไข่มดแดงขายสร้างรายได้ท่ามกลางวิกฤต
รายงานข่าวจากจังหวัดตากแจ้งว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งในพื้นที่จังหวัดตาก ยังคงทวีความรุนแรง ที่เขตป่าสงวนแห่งชาติพาเจริญ จ.ตาก ซึ่งเคยเขียวชอุ่มกลับแห้งแล้ง ไม้ผลัดใบจนเหลือแต่กิ่งก้านนั้น มุมหนึ่งได้ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มตามวิถีท้องถิ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่จักจั่นตามต้นไม้ ส่งเสียงกรีดร้องลั่นป่า กลายเป็นโอกาสให้ชาวบ้านจับออกขาย สร้างรายได้งดงาม
โดยชาวบ้านจะออกจากบ้านตั้งแต่เช้า ช่วงที่จักจั่นออกจากรัง เครื่องมือที่ใช้จับจะมีเพียงก้านไม้ไผ่ขนาดเล็ก ชุบด้วยยางไม้ที่ปลายด้าม เพื่อใช้ดักจักจั่นในแต่ละวัน ชาวบ้านจะจับได้นับพันตัว จากนั้นจะรวบรวมไปขาย
พวกเขาบอกว่า ปีนี้อากาศร้อนกว่าทุกปี และมีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง จักจั่นทนกับสภาพอากาศร้อนไม่ไหว ออกมาคลายร้อนและหาน้ำกิน มีให้จับในช่วงเดือนมีนาคมที่อากาศร้อนจัด โดยจักจั่นที่จับจะนำไปขายให้กับร้านค้าจำหน่ายแมลงทอด จะได้ราคา 100 ตัว/ 35-50 บาท แต่ละวันจะมีรายได้ 500-600 บาท เพราะพ่อค้ารับซื้อไม่อั้น สามารถนำไปทอดคลุกซอส มีรสชาติดีกว่านำไปทำอย่างอื่น จำหน่ายให้แก่นักนิยมเปิบแมลงทอด ซึ่งหนึ่งปีจะมีให้ทานเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ส่วนชาวบ้าน ตำบลน้ำดิบ อ.บ้านตาก จ.ตาก ที่ประสบภัยแล้งทำการเพาะปลูกไม่ได้ ต้องออกหาของป่ามาขายเพื่อประทังชีวิต โดยเฉพาะการหาไข่มดแดง โดยช่วงเช้าๆจะเห็นชาวบ้านเข้าป่า มีไม้ไผ่เล่มยาวพร้อมถังหรือถุงผูกปลายไม้เป็นเครื่องมือ ซึ่งแต่ละวันชาวบ้านบอกว่าหาไข่มดแดงได้ประมาณ 1 กิโลกรัม แต่กว่าจะได้ต้องถูกมดแดงกัดจนแขนบวม ซึ่งบางวันโชคร้ายหาไม่ได้เลยก็มี
ไข่มดแดง จะขายได้กิโลกรัมละ 250 บาท ส่วนใหญ่จะมีแม่ค้าคนกลางซื้อไปขายต่อ ให้กับคนชื่นชอบเปิบ โดยปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง อาทิ ไข่มดแดงทอดไข่ แก่งป่าไข่มดแดง เป็นต้น ซึ่งไข่มดแดงจะมีให้เก็บประมาณเดือน มีนาคม-เมษายนของทุกปีเท่านั้น