xs
xsm
sm
md
lg

ขอนแก่นทำปฏิญญาลดโลกร้อน นำร่องโครงการ "Eco-city"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (ภาพโดย สวทช.)
รัฐมนตรีวิทย์เผยประเทศไทยอาสาลดก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 10% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ระบุปัญหาภาวะโลกร้อนไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐ แต่ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหา ด้าน สผ. ดึงขอนแก่นเป็นจังหวัดนำร่องโครงการ "เมืองสีเขียว" หวังเป็นต้นแบบอีโคซิตีในไทย

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) บรรยายพิเศษเรื่อง "การรับมือกับภาวะโลกร้อน : นโยบายประเทศไทย" ในวันแรกของการประชุมวิชาการประจำปี 2553 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) เมื่อวันที่ 29 มี.ค.53 ที่ผ่านมา ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโนบายในการรับมือและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นเมื่อปี 2551 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมียุทธศาสตร์การดำเนินงานตั้งแต่ปี 2551-2555 ส่วนแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2555-2559 ก็มุ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

"แม้จะมีนโยบายและยุทศาสตร์ที่ชัดเจน แต่หน่วยงาน องค์กร และประชาชนทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ร่วมมือกันปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายที่วางไว้ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อตัวเราเองและลูกหลานในอนาคต ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถช่วยให้เราแก้ปัญหาและปรับตัวสู้กับภาวะโลกร้อนได้ ทั้งในเรื่องของอาหารและพลังงาน" ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์กล่าวอีกว่า ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 4 ในเอเชีย และเป็นอันดับที่ 23 ของโลก โดยมีจีน และสหรัฐฯ เป็นที่ 1 และ ที่ 2 ของโลก โดยในเวทีของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงโคเปนเฮเกน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าประเทศไทยจะอาสาช่วยลดก๊าซเรือนกระจกโดยมุ่งเน้นที่ 2 ประเด็นหลัก คือ เพิ่มการใช้พลังงานทดแทนจาก 6% ในปัจจุบัน เป็น 20% ในปี 2565 และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยจาก 30% ในปัจจุบัน เป็น 40% ในปี 2563 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสมดุลในธรรมชาติ และช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้รับมอบหมายให้ดำเนินการด้านการวิจัยและพัฒนา การรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน พร้อมการนำไปถ่ายทอดสู่หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถปรับตัวกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้

ด้าน น.ส.อาระยา นันทโพธิเดช รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวถึงนโยบายด้านการปรับตัวและการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องทำ เพราะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชากรโลก อีกทั้งประเทศไทยยังต้องมีส่วนร่วมในประชาคมโลก หากไม่ดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การถูกกีดกันทางการค้า

"ประเทศไทยได้จัดทำยุทธศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปี 2551-2555 โดยมีพันธกิจหลักเพื่อสร้างความพร้อมในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ให้ความรู้และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกบนฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนดำเนินงานร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนโดยไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ" น.ส.อาระยา กล่าว

สำหรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวแบ่งได้เป็น 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม พันธุกรรมท้องถิ่น และเทคโนโลยี ซึ่งต้องมีการเฝ้าระวังเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ทั้งในคน พืช และสัตว์ การเฝ้าระวังภัยพิบัติ มีการจัดทำโครงการนำร่อง อีโค-ซิตี (Eco-city) หรือเมืองสีเขียว และมีการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และ ระบบนิเวศในเขตเมือง ซึ่งในส่วนของโครงการ อีโค-ซิตี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สผ. ได้เลือกจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดนำร่อง

"จังหวัดขอนแก่นมีความพร้อมที่จะดำเนินการในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชน โดยทางจังหวัดได้มีการจัดทำปฏิญญาลดโลกร้อนขึ้นเมื่อต้นปี 2552 และหลังจากนั้น สผ. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนการปรับแผนการดำเนินงานตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น รวมทั้งสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนในจังหวัดเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อผลักดันให้จังหวัดขอนแก่นก้าวไปสู่การเป็น อีโค-ซิตี และสามารถขับเคลื่อนตัวเองได้ต่อไปหลังจากนั้น โดยหวังว่าอีก 2 ปี หลังจากนี้หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่นจะสามารถลดการใช้พลังงานลงได้ และมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น" รองเลขาธิการ สผ. กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ซึ่ง สผ. มีแผนที่จะขยายโครงการ อีโค-ซิตี ไปสู่จังหวัดนำร่องอื่นๆ ในทุกภูมิภาคก่อนที่จะขยายสู่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป

นอกจากนี้ แผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกสองประการ คือ การลดก๊าซเรือนกระจกโดยการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตลอดจนการบูรณาการการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ตั้งแต่ระดับจังหวัดไปจนถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น การเตรียมบุคลากรทั้งในหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน และภาคการศึกษา การเตรียมแผนงาน ฐานข้อมูล เครื่องมือ และการเตรียมตัวเจรจาระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต
น.ส.อาระยา นันทโพธิเดช (ภาพโดย สวทช.)
กำลังโหลดความคิดเห็น