xs
xsm
sm
md
lg

สดุดี "นอร์แมน บอร์ลอก" วาระ 40 ปี โนเบลสันติภาพผู้ลดความหิวโหย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไอซา และสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ร่วมรำลึกและสดุดี นอร์แมน บอร์ลอก ในระหว่างการสัมมนา สถานการณ์การผลิตพืชเทคโนโลยีชีวภาพ (พืชจีเอ็ม) เชิงการค้าทั่วโลกในปี 2009 ที่โรงแรมรามา การ์เด้น เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา
"สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ถ้าท้องอิ่ม" วาทะเด็ดของ "นอร์แมน บอร์ลอก" บิดาแห่งการปฏิวัติเขียวผู้ล่วงลับ และนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากผลงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสาลีที่ช่วยลดความหิวโหยให้แก่ประชากรโลกนับพันล้านคน และทิ้งมรดกทางการเกษตรให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลัง มุ่งมั่นดำเนินรอยตามเพื่อลดความอดอยากและความยากจนของเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2552 วงการอาหารและการเกษตรโลกต้องสูญเสีย "นอร์แมน บอร์ลอก" (Norman Borlaug) นักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งการปฏิวัติเขียว" ในวัย 95 ปี ด้วยโรคมะเร็ง และจนถึงวันนี้ นับเป็นเวลาเกือบ 40 ปีแล้ว ที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เล็งเห็นคุณค่าและคุณความดีที่เขาได้ทำเพื่อให้เกิดสันติภาพแก่โลก

บอร์ลอกได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2543 จากการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสาลีให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จนสามารถบรรเทาความอดอยากและหิวโหยของประชากรโลกได้นับพันล้านคน โดยคณะกรรมการตัดสินรางวัลได้กล่าวสดุดีบอร์ลอกไว้ว่า "เขาได้ช่วยหาอาหารให้แก่ผู้อดอยากในโลกนี้ได้มากกว่าใครๆ ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน คณะกรรมการได้ตัดสินให้รางวัลนี้ด้วยความหวังว่า การให้อาหารแก่ชาวโลกจะเป็นการสร้างสันติภาพให้แก่โลก ดร.บอร์ลอก ได้ช่วยสร้างสถานการณ์อาหารขึ้นใหม่บนโลก และได้เปลี่ยนทัศนคติจากการมองโลกในแง่ร้ายมาสู่แง่ดี ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรโลกและการผลิตอาหารให้แก่โลก"

ดร.ไคล์ฟ เจมส์ (Dr. Clive James) ผู้ก่อตั้งและประธานไอซา (International Service for the Acquisition of Agri-biotech Applications: ISAAA) กล่าวถึงบอร์ลอกว่า เป็นบุคคลที่มีแนวคิดกว้างไกล และกล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่คนทั่วไปอาจไม่กล้า และด้วยความมุ่งมั่นและความเชื่อมั่นในการทำงาน ทำให้บอร์ลอกประสบความสำเร็จในการเอาชนะโรคในข้าวสาลีและสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวสาลีในประเทศเม็กซิโกได้ 500 เท่า ในระยะเวลา 12 ปี ส่งผลให้หลายประเทศในเอเชียส่งคนไปแสวงหาความรู้ด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชจากเม็กซิโก

บอร์ลอกมักพูดเสมอว่า "ไม่มีทางที่สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ท้องยังหิว" เขาจึงมุ่งมั่นทำงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าวตลอดมาทั้งชีวิต ช่วยลดความอดอยากหิวโหยให้แก่ประชากรโลกและช่วยให้เกษตรกรผู้ยากไร้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไอซายกย่องบอร์ลอกให้เป็น "แชมป์เปี้ยน" ของเกษตรรายย่อยและยากจนในประเทศกำลังพัฒนา

"ปัจจัยแห่งความสำเร็จของบอร์ลอก ประกอบด้วย 3 พี (3P) ได้แก่ การเพิ่มผลผลิต (Productivity) ทรัพยากรบุคคล (People) และความยากจน (Poverty) ซึ่งบอร์ลอกมุ่งหวังให้เกิดสันติภาพ โดยมุ่งสร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชากรโลก" ดร.เจมส์ กล่าวในโอกาสที่ได้มาบรรยายสรุปสถานการณ์การผลิตพืชเทคโนโลยีชีวภาพ (พืชจีเอ็ม) เชิงการค้าทั่วโลกในปี 2552 ซึ่งจัดโดยสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (สทส.) ที่โรงแรมรามา การ์เด้น เมื่อวันที่ 5 มี.ค.53 ที่ผ่านมา

"นอร์ม (นอร์แมน) จะถูกจดจำด้วยความรัก ในฐานะสมาชิกพิเศษของครอบครัวไอซา เนื่องจากบุคลิกอันอบอุ่น จริงใจ และการเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งต่อการยกระดับชีวิตของคนยากจนนับล้านคนทั่วโลก" คำกล่าวสดุดีบอร์ลอกจากประธานไอซา ผู้ที่เคยเป็นเพื่อนและได้รับคำปรึกษาจากบอร์ลอกมากว่า 30 ปี

ด้าน ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร นักวิทยาศาสตร์การเกษตร และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า บอร์ลอกเคยกล่าวไว้ว่า เราได้ทำการดัดแปลงพันธุกรรมพืชและสัตว์มานานแล้ว ก่อนที่เราจะเรียกกันว่าเทคโนโลยีชีวภาพเสียอีก เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีชีวภาพจึงไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดในธรรมชาติ ซึ่งบอร์ลอกเป็นผู้ที่สนับสนุนพืชเทคโนโลยีชีวภาพอย่างจริงจัง โดยมองว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารได้ในภายภาคหน้า

"ที่ผ่านมาบอร์ลอกก็ได้ช่วยบรรเทาความยากจน ให้แก่เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนามาแล้วนับไม่ถ้วน จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และหวังว่าในอนาคต รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จะมอบให้แก่บุคคลที่มีผลงานด้านการเกษตรอีกครั้ง" ศ.ดร.ธีระ กล่าว

ส่วน ดร.สุจินต์ จินายน ประธานคณะกรรมการบริหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า บอร์ลอกเป็นผู้ทำให้เกิดการปรับปรุงพันธุ์พืชที่ช่วยเพิ่มอาหารให้แก่ชาวโลก เพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่ชาวนา และยังได้ตั้งรางวัลอาหารโลก (The World Food Prize) เพื่อชักจูงให้คนหันมาสนใจทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารต่อไปในอนาคต เพราะสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากท้องยังหิว และประชาชนยังอยู่ในความทุกข์ยาก.
ดร.ไคล์ฟ เจมส์
ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร
ศ.ดร.สุจินต์ จินายน
กำลังโหลดความคิดเห็น