xs
xsm
sm
md
lg

สินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อกล่าวถึงสินค้าโภคภัณฑ์ ท่านคงนึกถึงทองคำและน้ำมันซึ่งมีราคาปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าหลายๆ ท่านคงรู้จักกองทุนที่ลงทุนในสินค้าเหล่านี้แล้ว ในสัปดาห์นี้ ขอขยายความสินค้าโภคภัณฑ์ในฐานะที่เป็นทรัพย์สินเพื่อการลงทุนและขอกล่าวถึงสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรครับ

สินค้าโภคภัณฑ์สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลักตามวัตถุประสงค์การใช้งาน คือ
 
1)เชื้อเพลิง เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ

2) สินแร่เพื่อการอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก อลูมิเนียม สังกะสี

3) สินแร่มีค่า เช่น ทองคำ

4) ผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำนม เนื้อสัตว์ เมล็ดกาแฟ เมล็ดฝ้าย น้ำตาล
สินค้าโภคภัณฑ์ที่มีอยู่ในโลกใบนี้ มีทั้งที่เราไม่สามารถผลิตทดแทนใหม่ได้ เช่น เชื้อเพลิง สินแร่เพื่ออุตสาหกรรม และสินแร่มีค่า ซึ่งจะเรียกว่า Hard Commodity และสินค้าโภคภัณฑ์อีกส่วนหนึ่งจะเป็นสินค้าที่สามารถผลิตขึ้นใหม่ได้ เป็นพวกผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งจะเรียกว่า Soft Commodity

สาเหตุที่สำคัญที่ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็คือจำนวนประชากรโลกมากกว่า 6,500 ล้านคนทั่วโลก(ขยายตัวประมาณ 1% ต่อปี) ประกอบกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้มีความต้องการบริโภคมากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่บนโลกเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ที่มากขึ้น
ผลิตผลทางการเกษตรก็เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งแม้เราอาจจะผลิตขึ้นมาใหม่ได้ แต่เราก็มีต้นทุนในการผลิต ซึ่งมีแนวโน้มที่ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มสูงขึ้นจากสภาพความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตมีอัตราการเติบโตที่ลดลงเมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการของโลก

ความต้องการสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภคแบ่งเป็น การบริโภคโดยตรง เป็นการบริโภคผลิตผลทางการเกษตร อาทิ ข้าว และผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป อาทิ แป้งข้าวโพด และขนมปัง และการบริโภคโดยอ้อม เป็นการนำผลิตผลทางการเกษตรไปทำ เป็นอาหารของสัตว์ที่จะถูกนำ มาบริโภคในลำดับถัดไป

ขอยกตัวอย่างกรณีเนื้อสัตว์ เมื่อความเป็นอยู่ของประชากรดีขึ้น ก็มีแนวโน้มหันมาบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้น ทำให้มีปัญหาการขาดแคลนพืชอาหารที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากหากท่านบริโภคเนื้อหมูหรือเนื้อไก่ 1 กิโลกรัมนั้น สัตว์เหล่านั้นจะต้องบริโภคอาหารสัตว์มากกว่า 1 กิโลกรัม นั่นก็หมายความว่าท่านมีความต้องการพืชอาหารโดยอ้อมเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

โดยทั่วๆไปอัตราการแปรสภาพจากอาหารสัตว์(Feed) เป็นเนื้อสัตว์ (Meat) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 : 1 กิโลกรัม หมายความว่า การเลี้ยงสัตว์เพื่อให้ได้ปริมาณเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัมนั้น ต้องใช้พืชเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์มากถึง 2 กิโลกรัม ขณะที่อัตราการแปรสภาพจากอาหารสัตว์เป็นเนื้อวัวมีอัตราอยู่ที่ 10 : 1 กิโลกรัม ดังนั้น การที่ประชากรหันมาบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลให้ปริมาณการใช้สินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นทวีคูณกว่าการบริโภคสินค้าเกษตรโดยตรง

นอกจากนั้น การที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มสูงขึ้น ได้ส่งผลให้มีความต้องการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ดินจากการปลูกพืชอาหารมาเป็นการปลูกพืชพลังงาน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่เพาะปลูกย่อมส่งผลต่อปริมาณพืชผลเกษตร และราคาสินค้าเกษตรในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เชื่อว่าในปี 2553 นี้ ราคาสินค้าเกษตรหลายๆ ชนิด น่าจะมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น สินค้าเกษตรจึงเป็นประเภทสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่น่าสนใจ โดยท่านมาสามารถลงทุนในสินค้าเกษตรได้ทาง
1) การลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์ส ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ซึ่งมีการซื้อขายสินค้าเกษตรในตลาดภายในประเทศ

2) ลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งเป็นกองที่ลงทุนในต่างประเทศ โดยสามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มย่อย คือ กองทุนที่มี Exposure ในสินค้าโภคภัณฑ์ทุกประเภท และกองทุนที่มี Exposure ในสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร

นอกเหนือจากเรื่องของราคาที่จะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตแล้ว การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรยังมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ จึงสามารถใช้เป็นสินทรัพย์หนึ่งเพื่อป้องกันมูลค่าของเงินที่ลดลงจากอัตราเงินเฟ้อได้ นอกจากนั้น การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร ยังเป็นอีกประเภทสินทรัพย์หนึ่งที่ช่วยลดความผันผวนและกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมได้
กำลังโหลดความคิดเห็น