ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ชาวไร่อ้อยยิ้มแก้มปริ ราคาอ้อยขั้นต้นปีผลิต 2552/2553 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึง 965 บาท/ตัน เหตุราคาน้ำตาลตลาดโลกพุ่ง หลังผลผลิตอ้อยประเทศคู่แข่งเสียหายยับ ทั้งอียูไม่สามารถอุดหนุนพืชเกษตรได้ นักวิชาการม.ขอนแก่น คาดมีเงินสะพัดจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยมากกว่า 1.17 แสนล้านบาท ชี้ชาวไร่อ้อยอีสาน จะมีรายได้สูงกว่าภูมิภาคอื่น เหตุค่าความหวานสูงถึง 12.5 ซี.ซี.เอส. และพื้นที่ปลูกมากกว่า
รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องอ้อยและน้ำตาล เปิดเผยถึง การผลิตอ้อยและน้ำตาลปีการผลิต 2552/2553 ว่า ราคาอ้อยขั้นต้นที่มีการประกาศออกมาที่ 965 บาท/ตัน ที่ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. ถือเป็นราคาอ้อยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 50 ปี เชื่อมั่นว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปีผลิตนี้ น่าจะสูงกว่า 1,100 บาท/ตัน
ปัจจัยที่ทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นปีผลิต 52/53 สูงเป็นประวัติการณ์ดังกล่าว เนื่องจากผลผลิตอ้อยจากประเทศคู่แข่งที่สำคัญทั้งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน ได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง และบางส่วนถูกน้ำท่วม ส่วนผลผลิตอ้อยจากบราซิล มากกว่า 50% ต้องนำไปผลิตเป็นเอทานอล จึงเหลืออ้อยผลิตเป็นน้ำตาลส่งออกไม่มาก
อีกทั้งไทยร่วมมือกับออสเตรเลีย ยื่นฟ้องประเทศสหภาพยุโรป ได้บรรลุผลกรณีให้ยกเลิกการอุดหนุนเกษตรกร ผลิตน้ำตาลจากผักกาดหวาน ทำให้น้ำตาลที่ผลิตจากอียู มีต้นทุนผลิตสูง ไม่สามารถแข่งขันกับน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อยได้ ส่งผลดีต่อกลไกราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นถึง 20 เซ็นต์/ปอนด์ ทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นในประเทศไทยปรับตัวสูงตามกลไกดังกล่าว
“คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตอ้อยปีนี้สูงถึง 68 ล้านตัน โดยราคาอ้อยปีผลิตนี้ที่สูงเป็นประวัติการณ์ดังกล่าว จะส่งผลดีต่อชาวไร่อ้อยทั้งประเทศ และเศรษฐกิจโดยรวม เบื้องต้นหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายประกาศไว้ที่ตันละ 1,000 บาท ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. จะมีเงินถึงมือชาวไร่อ้อยสูงถึง 68,000 ล้านบาท” รศ.ดร.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า
ที่สำคัญเมื่อนำผลผลิตอ้อย 68 ล้านตัน ไปแปรรูปเป็นน้ำตาลทรายแล้ว จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งน้ำตาลโควตา ข. ที่จำหน่ายในประเทศ คิดราคาขายเฉลี่ยที่ 19 บาท/กก. จะมีรายได้สูงถึง 38,000 ล้านบาท และรายได้หลักจากการส่งออกน้ำตาลไปต่างประเทศ ที่ราคา 20 เซ็นต์/ปอนด์ จะมีรายได้เข้าประเทศถึง 79,000 ล้านบาท รวมแล้วมีเงินหมุนเวียนจากการขายน้ำตาลสะพัดในระบบเศรษฐกิจประเทศมากถึง 117,000 ล้านบาท
รศ.ดร.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การปรับขึ้นของราคาวัตถุดิบ จะส่งผลดีต่อชาวไร่อ้อยในพื้นที่ภาคอีสานสูงมาก เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกอ้อยส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน โดยพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศ 6.4 ล้านไร่ อยู่ในภาคอีสานมากกว่า 2 ล้านไร่ มีผลผลิตมากกว่า 23 ล้านตัน อีกทั้งผลผลิตอ้อยที่ผลิตได้ในภาคอีสาน มีค่าความหวานสูงที่สุด โดยราคาอ้อยขั้นต้น 10 ซี.ซี.เอส. 965 บาท/ตัน ส่วนอ้อยภาคอีสานมีค่าความหวานที่ 12.5 ซี.ซี.เอส. จะได้ราคาสูงถึง 1,100 บาท/ตัน
ราคาอ้อยปีผลิต 2552/2553 ที่ปรับตัวสูงเป็นประวัติการณ์ดังกล่าว จะส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยภาคอีสาน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้การประเมินต้นทุนการเพาะปลูกอ้อยเบื้องต้น เฉลี่ยอยู่ที่ 750-800 บาท/ตัน เฉพาะราคาอ้อยขั้นต้นที่ 965 บาท/ตันอ้อย จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีผลกำไร และมีกำลังใจในการเพาะปลูกอ้อยต่อไปได้