xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มข.พัฒนาสูตรปรับปรุงคุณภาพดินช่วยต้นกล้ายางทนแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมงานนักวิจัย ม.ขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลการวิจัยซึ่งนำมาส่งเสริมเกษตรกรในภาคอีสานที่ประสบปัญหาอย่างมากในการปลูกต้นกล้ายางพาราระยะแรก เพราะต้นกล้ายางพาราไม่สามารถทนแล้งได้ จึงพัฒนาสูตรปรับปรุงคุณภาพดิน นำแร่ดินเหนียวเบนโทไนท์ ผสมกับวัสดุอินทรีย์ในท้องถิ่น ใช้เพาะต้นกล้ายางให้ทนต่อภาวะแล้งได้อย่างดี

วันนี้ (30 พ.ย.) ที่ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.ขอนแก่น ดร.มงคล ต๊ะอุ่น นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ จากภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย นายธนพงศ์ ตุลา และ นายสมโภชน์ แก้วระหัน นักวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน นำเสนอผลงานวิจัย พัฒนาสูตรปรับปรุงคุณภาพดิน แก้ปัญหากล้ายางพาราเหี่ยวตายเพราะไม่สามารถทนสภาพภัยแล้งได้

ดร.มงคล เปิดเผยว่า เมื่อมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพาราในภาคเหนือ และภาคอีสาน โดยเฉพาะในภาคอีสานนั้น ปัญหาหนึ่งที่พบมาก คือ การเหี่ยวตายของต้นกล้ายางพาราในระยะการปลูกช่วง 1-2 เดือนแรก เนื่องจากต้นกล้ายางพารา ไม่สามารถทนแล้งได้ดี เพราะรากของต้นกล้ายางพารายังไม่ยาวพอที่จะช่วยดูดซึมน้ำ

โดยแต่เดิมเกษตรกรบางรายได้นำแร่ดินเหนียว หรือเบนโทไนท์ ที่มีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดี หาซื้อได้ตามร้านค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างทั้วไป มาผสมกับวัสดุอินทรีย์ในท้องถิ่นประเภทต่างๆ เช่น ขุยมะพร้าว แกลบดำ ขี้อ้อย เปลือกถั่ว และแกลบดิบ นำมาเพาะต้นกล้ายางพารา ทำให้ต้นกล้ามีความทนแล้งได้ดี แต่ก็มีปัญหาอัตราการใช้ ที่ไม่เหมาะสม จึงมักทำให้ต้นกล้ายางพาราตายได้

ดังนั้น เป้าหมายของการศึกษาจึงเป็นการวิจัยเกี่ยวกับการทนแล้งของต้นกล้ายางพาราโดยการประยุกต์ใช้สารปรับปรุงคุณภาพ คือ แร่ดินเหนียวเบนโทไนท์ร่วมกับวัสดุปรับปรุงดินในท้องถิ่น การให้ธาตุอาหารให้ถูกกับชนิดดิน อัตราที่เหมาะสม ชนิดพันธุ์ยางพารา อายุ และช่วงเวลาที่เหมาะสม

ผลการวิจัยจึงต้องการแนะนำให้เกษตรกรเพาะต้นกล้ายางพาราด้วยขุยมะพร้าวที่ผสมกับเบนโทไนท์ หรือ แร่ดินเหนียวในปริมาณที่เหมาะสมตามผลการวิจัยจะสามารถช่วยเพิ่มความทนแล้งให้กับต้นกล้ายางพาราที่ปลูกในพื้นที่ภาคอีสานได้ และลดอัตราการตายของต้นกล้ายางพาราในการปลูกระยะแรก


พื้นที่ศึกษาวิจัย ที่สวนยางพาราเกษตรกรบ้านทรายมูล อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
กำลังโหลดความคิดเห็น