ศูนย์ข่าวขอนแก่น-บีโอไอ ขอนแก่น มั่นใจบรรยากาศการลงทุน 11 จังหวัดอีสานบนปี 53 คึกคัก ตามสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจประเทศ ระบุภาคอุตสาหกรรมการผลิตเริ่มขยายกำลังผลิต ตั้งแต่กลางปี 52 ทั้งบีโอไอปรับกลยุทธ์ทำงานเชิงรุก จัดเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างภูมิภาค ด้านโครงการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนปี 52 มี เกินคาด มีกว่า 53 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 23,323.2 ล้านบาท พลังงานทางเลือกพุ่งโด่งถึง 38 โครงการ
นางสาวชุติมา พุ่มศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 จังหวัดขอนแก่น (บีโอไอ ขอนแก่น) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยถึง บรรยากาศและแนวโน้มการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนปี 2553 ว่า บรรยากาศการลงทุนปีนี้ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ กอปรกับรัฐบาลให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ อัดฉีดเม็ดเงินตามโครงการไทยเข้มแข็ง เข้าสู่ระบบ ส่งผลกระทบด้านบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
เครื่องชี้วัดที่สำคัญ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต หลังจากที่ต้องเผชิญปัญหาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ช่วงไตรมาสแรกปี 52 ต้องปรับลดกำลังผลิตเหลือไม่ถึงร้อย 30-40 ของศักยภาพผลิตทั้งหมด ปรับลดพนักงานให้สอดคล้องกับคำสั่งซื้อ แต่สถานการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลายลงไปในทางที่ดีขึ้น ตั้งแต่กลางปี 52 เป็นต้นมา โรงงานต่างๆขยายกำลังการผลิตขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมเพิ่มเป็นร้อยละ 50 จนถึงร้อยละ 70-80 ของศักยภาพการผลิตในปัจจุบัน
ที่สำคัญราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญและมีการปลูกในพื้นที่ 11 จังหวัดอีสานตอนบน ปีนี้ ราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งข้าวนาปี อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น เชื่อว่าน่าจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร
นอกจากนี้ การทำงานของบีโอไอ ขอนแก่น ได้ปรับกลยุทธ์การทำงานเชิงรุก เน้นการนำข้อมูลเข้าถึงตัวนักลงทุน กระตุ้นให้นักลงทุนเกิดการลงทุนในพื้นที่ โดยที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมเชื่อมโยงการลงทุนและสร้างเครือข่ายการลงทุนระหว่างผู้ประกอบการในประเทศ ได้เรียนรู้ถึงศักยภาพการลงทุนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อการเพิ่มศักยภาพการผลิต ปรับปรุงการผลิต ยกระดับพัฒนาสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
ที่ผ่านมา มีนักลงทุนทั้งในพื้นที่ ภูมิภาคอื่น รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ เข้ามาขอข้อมูลด้านการลงทุนกับบีโอไอ ขอนแก่นสูงมาก เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ประกอบการตัดสินใจ เมื่อผนวกกับปัจจัยภาพรวมเศรษฐกิจประเทศที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนแล้ว โอกาสที่นักลงทุนจะตัดสินใจขอรับส่งเสริมการลงทุนและเกิดการลงทุนในปี 2553 นี้ จึงมีสูงมาก
ยอดส่งเสริมการลงทุนทั้งปี 52 เกินคาด
พลังงานทางเลือกนำโด่งถึง 38 โครงการ
สำหรับภาวะส่งเสริมการลงทุนปี 2552 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ 11 จังหวัดตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบว่า นักลงทุนท้องถิ่นยังเชื่อมั่น และสนใจที่จะลงทุน ด้วยศักยภาพของพื้นที่และวิสัยทัศน์ของนักลงทุนเอง รวมทั้งสิทธิประโยชน์จากมาตรการพิเศษกระตุ้นการลงทุน โดยปี 2552 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 53 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 23,323.2 ล้านบาท จะก่อให้เกิดการจ้างงาน 2,101 คน ซึ่งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
ภาพรวมของการลงทุนของปี 52 นี้ อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในพื้นที่มาก มีจำนวนคำขอรับการส่งเสริมยื่นเข้ามา 38 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 22,410.6 ล้านบาท จะก่อให้เกิดการจ้างงาน 936 คน เปรียบเทียบกับปี 2551 มีโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริม เพียง 8 โครงการ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว เนื่องจาก สำนักงานฯ มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนกิจการของอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก
อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก จัดเป็นอุตสาหกรรมเด่นของปี อาทิ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า และไอน้ำ จากเชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ และ สถานีให้บริการแก๊สธรรมชาติ (NGV)
ส่วนอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผล มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอส่งเสริม 7 โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช กิจการคัดคุณภาพข้าวสาร กิจการผลิต อาหารพร้อมรับประทาน กิจการผลิตน้ำยางข้น กิจการผลิตผักผลไม้บรรจุ กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพ มีมูลค่าการลงทุน 586.1 ล้านบาท
ส่วนที่เหลือ ได้แก่ อุตสาหกรรมเบา จำนวน 3 โครงการ,อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ 2 โครงการ และกิจการที่อยู่สำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง 1 โครงการ ฯลฯ จำนวนคำขอรับการส่งเสริมที่นักลงทุนยื่นเข้ามา แม้จะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อทิศทางการฟื้นตัว รวมถึงคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ทั้งนี้พื้นที่ที่ได้รับความสนใจลงทุนมากที่สุด คือ จังหวัดขอนแก่น มีถึง 24โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 12,066.2 ล้านบาท จะก่อให้เกิดการจ้างงาน 1,196 คน รองลงมาคือ อุดรธานี 8 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2,251 ล้านบาท จะก่อให้เกิดการจ้างงาน 276 คน มหาสารคาม , สกลนคร, เลย และนครพนม ร้อยเอ็ด จังหวัดละ 3 โครงการ หนองบัวลำภู มุกดาหารจังหวัดละ 2 โครงการ กาฬสินธุ์ หนองคาย จังหวัดละ 1 โครงการ