ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ฟันธงภาวะลงทุนอีสาน“ปีเสือ”สดใส “บีโอไอ”ตั้งเป้าแห่ยื่นขอรับส่งเสริมทะลักไม่ต่ำ 3 หมื่นล้าน หลังปี’52 ทะลุเป้าเกินคาด 2.8 หมื่นล้าน เผยจับตาอุตฯอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงานทดแทนแสงอาทิตย์ สิ่งทอ และ ยางพารา“เสือตัวใหม่” มาแรงสุด ชี้ปัจจัยบวกรัฐบาลเชื่อมั่นในทิศทางแก้วิกฤติ- ศก.โลกกระเตื้อง ออเดอร์พุ่งต่อเนื่อง - นักธุรกิจมั่นใจ อีกทั้งนโยบายใหม่“บีโอไอ” ทุ่ม ส่งเสริมการลงทุน “SMEs” เพิ่มเป็น 57 ประเภท
นายสุวิชช์ ฉั่ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุน ภาคที่ 2 (นครราชาสีมา) สำนักงานคณะกรรมส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงภาวะการลงทุนภาคอีสานในรอบปี 2552 ว่า ช่วงต้นปีบรรยากาศการลงทุนค่อนข้างเงียบเหงาเพราะมีปัจจัยลบหลายด้านโดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ประกอบกับปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ แต่ช่วงครึ่งปีหลังบรรยากาศดีขึ้นและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และสินค้าเกษตรมีราคาสูง สิ่งเหล่านี้ผลักดันให้การลงทุนภาคอีสานมาขยายตัวในช่วงปลายปี มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2 หมื่นล้านบาท
“อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และ อุตฯการเกษตร-เกษตรแปรรูป เข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนกันมาก เป็นตัวช่วยให้ตัวเลขลงทุนอีสานปี 2552 พุ่งสูง เช่น โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล (Bio-mass) ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (Bio-gas) ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ซึ่งโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมกว่า 2.8 หมื่นล้านดังกล่าวบีโอไออนุมัติไปแล้วกว่า 70 โครงการ กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือราว 30 โครงการ มูลค่ากว่า 1.6 หมื่นล้าน จะอนุมัติได้ทั้งหมดใน กุมภาพันธ์ นี้ ” นายสุวิชช์ กล่าว
“ปีเสือ”อีสานสดใส BOI ตั้งเป้า 3 หมื่นล้าน
นายสุวิชช์ กล่าวถึงทิศทางแนวโน้มการลงทุนภาคอีสานปี 2553 ว่าไม่น่าเป็นห่วงและคิดว่าทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง โดยปัจจัยบวกสำคัญคือ 1.รัฐบาลมีความเชื่อมั่นในทิศทางการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจมากขึ้น รู้จุดใดที่ไม่ดีต้องแก้ไขและจุดใดต้องช่วยส่งเสริม 2. ภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวนักธุรกิจมีความมั่นใจมากขึ้น 3. นโยบายใหม่ บีโอไอ ได้ขยายการส่งเสริมการลงทุนให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( SMEs) จากเดิม 10 ประเภทเป็น 57 ประเภท พร้อมลดเงื่อนไขอุปสรรคต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นอีกแรง และสามารถต่อยอดการลงทุนภาคอีสานได้เป็นอย่างดี ทั้ง อุตฯ การเกษตร เกษตรแปรรูป พืชพลังงาน พลังงานทดแทน ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของภูมิภาคนี้ที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว
“จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการภาคอีสาน โดยเฉพาะอุตฯ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุตฯสิ่งทอ ทราบว่าขณะนี้มีตัวเลขสั่งซื้อจากต่างประเทศยาวต่อเนื่องไปถึง มิถุนายน 2553 แล้ว และมีนักลงทุนสนใจจะเข้ามาขยายกิจการเพิ่มเติมอีกมาก แต่สิ่งน่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ การขาดแคลนแรงงาน ทั้งที่อีสาน เป็นแหล่งแรงงานใหญ่ที่สุด ซึ่งคาดว่าในไตรมาสแรกของปี 2553 อุตสาหกรรมเหล่านี้มีความต้องการแรงงานเพิ่มไม่ต่ำกว่า 3,000 - 5,000 คน” นายสุวิชช์ กล่าว
ดังนั้น แนวโน้มการลงทุนอีสานในปี 2553 ค่อนข้างสดใส และตั้งเป้าหมายมีโครงการมายื่นขอรับส่งเสริมกับบีโอไอไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมที่โดดเด่นปีใหม่นี้จะอยู่ที่ อุตฯชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศยาวไปจนถึง มิถุนายนแล้ว รวมทั้งดาวเด่นอย่างอุตฯ การเกษตร เกษตรแปรรูป อุตฯ พลังงานทดแทน และอีกโครงการลงทุนที่น่าสนใจ คือ โครงการผลิตชิ้นส่วนและศูนย์ซ่อมเครื่องบินมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ที่จะมาปักฐานใน จ.นครราชสีมา
อุตฯ ยางพารา “เสือตัวใหม่” มาแรง
พลังงานแสงอาทิตย์จ่อโคราช 5,000 ล.
นายสุวิชช์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่น่าจับตามองอย่างมากและถือเป็น “เสือตัวใหม่” ของภาคอีสาน คือ อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา เพราะรายใหญ่อย่าง บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตที่ จ.ยโสธรแล้ว ราว 400 ล้านบาท และ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่อีกรายมีแผนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในภาคอีสานถึง 3 แห่ง คือ จ.ขอนแก่น บุรีรัมย์ และ จสกลนคร เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
สำหรับอุตฯ พลังงานทดแทนที่มาแรงมากในขณะนี้คือ โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์โดยโซลาเซลล์(Solar cell) เพราะอีสานมีพื้นที่รองรับแสงแดดได้มาก ประกอบกับเทคโนโลยี อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ปัจจุบันราคาถูกลงกว่าเท่าตัว ซึ่งมีผู้ประกอบการสนใจเข้าลงทุน ทั้งรายเล็กกำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และรายใหญ่กำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป เป็นลักษณะ “โซลาฟาร์ม” มูลค่าลงทุนตั้งแต่ 100 ล้านบาท ถึง ระดับหลาย 1,000 ล้านบาท
“ล่าสุดโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ เข้ามายื่นขอส่งเสริมแล้ว 3 ราย และมีผู้สนใจอีกไม่ต่ำกว่า 5 ราย โดยสนใจลงทุนใน จ.อุดรธานี เลย อุบลราชธานี สุรินทร์ และ นครราชสีมา ซึ่ง จ.นครราชสีมา มี 2 รายใหญ่ สนใจลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท” นายสุวิชช์ กล่าว
ส่วนโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก Bio-gas และ Bio-mass ยังเดินหน้ากระตุ้นและมีการลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากBio-gas เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องของโรงงานแป้งมัน เฉพาะโคราชมีโรงงานแป้งมันขนาดใหญ่อยู่กว่า 30 กว่าแห่ง ดำเนินการไปแล้วกว่า 10 กว่าแห่ง คาดว่าจะลงทุนในปีนี้เพิ่มอีกราว 10 แห่ง เพราะเป็นผลดีต่อโรงงานฯ ในด้านแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมสูงมาก ฉะนั้นการนำน้ำทิ้งของโรงงานมาทำก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ
เช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้าจาก Bio-mass เชื้อเพลิงแกลบของโรงสีข้าว ก็จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพราะโรงสีข้าวขนาด 200 เกวียนขึ้นไปในอีสานมีอยู่กว่า 100 แห่ง แต่ขณะนี้ดำเนินการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าBio-massไปแค่ 17 แห่งซึ่งคาดว่าปี 2553 จะมีเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 10 แห่งแน่นอน
“ กรณีปัญหาโครงการลงทุนในนิคมอุตสากรรมมาบตาพุด ถูกศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับ ไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอีสานเลย เพราะอุตสาหกรรมแตกต่างกัน ซึ่งมาบตาพุดส่วนใหญ่เป็นโรงงานปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมใช้น้ำมาก แต่ในทางกลับกันอีสานกลับได้รับผลดี เพราะส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมต่อยอดจากอุตฯการเกษตร โดยเฉพาะอุตฯพลังงานทดแทน ล้วนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาวะโลกร้อน เป็นผลดีต่อประเทศไทยสามารถนำไปขอคาร์บอนเครดิตได้ด้วย” นายสุวิชช์ กล่าว