xs
xsm
sm
md
lg

จากโลกนี้ไปแล้ว "นอร์แมน บอร์ลอก" ผู้ช่วยชีวิตชาวโลกมากกว่าใครด้วยการ "ปฏิวัติเขียว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ไฟล์ภาพนอร์แมน บอร์ลอก ภายในโรงเรือนทดลองที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม เมื่อ 6 ปีก่อน (เอพี)
นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสันติภาพ "นอร์แมน บอร์ลอก" ผู้นำด้านการปฏิวัติเขียว จากผลงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวสาลีให้เพิ่มผลผลิตเป็นสองเท่า เสียชีวิตลงในวัย 95 ด้วยโรคมะเร็ง ผู้คนรอบข้างสรรเสริญเขาคือผู้ช่วยเหลือโลกที่หิวโหย

มหาวิทยาลัยเท็กซัสเอแอนด์เอ็ม (Texas A&M University) สหรัฐอเมริกา ออกมาแถลงว่า นอร์แมน บอร์ลอก (Norman Borlaug) ศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วยนั้น ได้เสียชีวิตลงที่บ้านพักในเมืองดัลลัส มลรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยโรคมะเร็ง รวมอายุ 95 ปี

"นอร์แมน อี บอร์ลอก ได้ช่วยชีวิตผู้คนมากกว่าใครในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ หัวใจเขายิ่งใหญ่พอๆ กับจิตใจที่งดงาม ซึ่งเป็นความหลงใหลและเห็นใจผู้อื่นของเขานั่นเองที่ขับเคลื่อนโลก" โจเสตต์ ชีรัน (Josette Sheeran) ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติกล่าวสดุดีบอร์ลอก

ทั้งนี้เอพีระบุว่าบอร์ลอกเป็นที่รู้จักในฐานะ "เจ้าพ่อแห่งการปฎิวัติเขียว" ซึ่งเปลี่ยนโฉมการเกษตรสู่การเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตสูง รวมทั้งสร้างนวัตกรรมที่ช่วยผลิตอาหารให้แก่โลกได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าระหว่างปี พ.ศ. 2503-2533 ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากได้ให้เครดิตแก่การปฎิวัติเขียวของเขาครั้งนั้นว่า ช่วยเบนเข็มความอดอยากของโลกในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 และช่วยชีวิตผู้คนซึ่งอาจจะมากถึงพันล้านคนไว้

"เขาอาจจะทำอะไรมาก กว่าใครสักคนจะทำได้ และเป็นที่รับรู้ของคนเพียงจำนวนน้อยนิด เขาทำให้โลกเป็นสถานที่ที่ดีกว่าเดิม ดีกว่าเดิมมาก" ดร.เอ็ด รันจ์ (Dr.Ed Runge) อดีตหัวหน้าภาควิชาวิทยาการดินและพืชผล มหาวิทยาลัยเท็กซัสเอแอนด์เอ็มซึ่งเกษียณไปแล้ว และเป็นเพื่อนสนิทกับบอร์ลอก และเป็นผู้ชักชวนให้เขามาสอนหนังสือที่มหาวทิยาลัยแห่งนี้กล่าวแสดงความรู้สึก

บอร์ลอกได้เริ่มงานที่นำเขาไปสู่รางวัลโนเบลในเม็กซิโกเมื่อ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเขาได้พัฒนาข้าวสาลีหลากหลายสายพันธุ์ ที่มีความต้านทานโรค และให้ผลผลิตมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม หลังจากนั้นเขาได้นำข้าวสาลีเหล่านั้น พร้อมด้วยข้าวและข้าวโพดที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์คล้ายๆ กันมายังเอเชีย ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้และแอฟริกา โดยมีปากีสถานและอินเดียที่ได้ประโยชน์จากเมล็ดพันธุ์สายพันธุ์ใหม่มากที่สุด จากผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นถึง 4 เท่า

ความสำเร็จของบอร์ลอก ในยุค 60 เกิดขึ้นเพียงไม่นาน หลังจากผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนถึงภาวะอดอยากที่จะขยายวงกว้างอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อโลกเผชิญกับจำนวนประชากรที่พุ่งสูง ซึ่งคณะกรรมรางวัลโนเบลได้กล่าวยกย่องว่า เขามีผลงานโดดเด่นมากกว่าใครในรุ่นราวคราวเดียวกัน เขาได้ช่วยทำให้มีเครื่องประทังชีวิตพอที่จะแจกจ่ายโลกที่หิวโหย และการมอบเครื่องประทังชีวิตนี้จะช่วยให้สันติภาพแก่โลกด้วย

อย่างไร ก็ดีบอร์ลอกและการปฏิวัติเขียวนั้น ก็ถูกมองแง่ลบในช่วงทศวรรษที่ผ่านๆ มา เพราะมีการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง และการพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มผลผลิตในพืชเพียงไม่กี่ชนิด ที่ให้ประโยชน์แก่เจ้าของที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ แต่เขาเองกล่าวเสมอว่า ข้าวสาลีเป็นเพียงพาหนะหนึ่งเท่านั้น ที่จะพาเขาไปยังเป้าหมายที่สนใจอย่างแท้จริง นั่นคือการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน

"เราต้องระลึกถึงความจริงว่า อาหารที่เพียงพอเป็นเพียงความต้องการแรกของชีวิต เพื่อชีวิตที่เหมาะสมและมีมนุษยธรรม เรายังต้องให้โอกาสทางการศึกษาที่ดี การจ้างงานที่ให้ผลตอบแทนสูง บ้านพักอันสะดวกสบาย มีเครื่องนุ่งห่มที่ดี และมีการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและความกรุณา" บอร์ลอกกล่าวระหว่างรับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2513 และเขายังกดดันรัฐบาลให้กำหนดนโนบายที่เป็นประโยชน์เชิงเศรษฐกิจต่อเกษตรกร และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้เข้าถึงการตลาดได้

เอพียังอ้างข้อมูลประวัติบอร์ลอกจากหนังสือ "ชายผู้เลี้ยงคนทั้งโลก" (The Man Who Fed the World) ว่า เขาเกิดเมื่อ 25 มี.ค. 2457 ในฟาร์มแห่งหนึ่งที่ไอโอวา โดยเรียนหนังสือถึงเกรด 8 ที่บ้าน และเรียนวนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมินเนโซตา (University of Minnesota) ซึ่งเป็นสถานที่ให้เขาได้พบคู่ชีวิต คือนางมาร์กาเรต บอร์ลอก ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2550 ขณะอายุได้ 95 ปี เขาได้เรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งเดิมทางด้านโรคพืช

บอร์ลอกทำงานอยู่ที่บริษัทดูปอง (DuPont) ได้ไม่นาน ก็ลาออกมารับทุนของมูลนิธิรอคกีเฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) และระหว่างปี 2487-2503 เขาอุทิศตัวเองให้กับการเพิ่มผลผลิตข้าวสาลีในเม็กซิโก และได้ตั้งศูนย์ปรับปรุงข้าวโพดและข้าวสาลีนานาชาติ (International Maize and Wheat Improvement Center) ในเม็กซิโกขึ้น ซึ่งเขาได้ฝึกฝนนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ภายในศูนย์ดังกล่าวเป็นจำนวนหลายพันคน

จากนั้นเขาได้เกษียณจากการเป็นหัวหน้าศูนย์ แล้วกลับไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในปี 2522 โดยเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) แล้วย้ายไปที่เท็กซัสเอแอนด์เอ็ม ซึ่งมอบปริญญาตรดุษฎีบัณฑิตให้เขาเมื่อปี 2550.
 จอร์จ ดับเบิลยู บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ สนทนากับบอร์ลอกที่นั่งกลาง (เอเอฟพี)
 ไฟล์ภาพบอร์ลอกเมื่อปี 2550 (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น