แม้ไม่ได้จบนิวเคลียร์โดยตรง แต่ผลงานประยุกต์ใช้ประโยชน์จากรังสีเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืช ก็โดดเด่นจนทำให้ "อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์" อาจารย์เกษตร วัยเกษียณ ได้รับการเชิดชูจากคนในวงการให้เป็น "นักนิวเคลียร์ดีเด่น" ทั้งนี้อาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ และค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มจากการอ่านและอบรม
ปัจจุบัน "อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์" วัย 62 เป็นอาจารย์พิเศษ ของภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผลงานที่ทำมาตลอดได้ส่งผลให้อาจารย์ในวัยเกษียณ ได้รับการเชิญชูจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ให้รับรางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" ประจำปี 2552
แต่หากย้อนดูประวัติการศึกษาแล้ว เธอไม่ได้จบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์แต่อย่างใด ในระดับปริญญาตรีเธอจบสาขาพืชไร่นา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจบสาขาเดียวกันในระดับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ที่ลอสบานอส (University of the Philippines at Los Banos) ประเทศฟิลิปปินส์
แม้ไม่ได้จบนิวเคลียร์โดยตรง แต่อาจารย์เกษตรผู้นี้ ก็มีผลงานโดดเด่นด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยรังสี และได้ทำงานที่ "เรือนรุกรังสี" ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งรังสีถือเป็นเครื่องมือหนึ่ง เพื่อใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืช เรียกว่า "สิ่งก่อกลายพันธุ์" เช่นเดียวกับการสิ่งก่อกลายพันธุ์อื่นๆ อย่าง สารเคมี เป็นต้น และเธอมีโอกาสได้ทำงานในหน่วยพลังงานปรมาณูของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเครื่องกำเนิดรังสีแกมมาพลังงานต่ำ ซึ่งนำไปใช้ปรับปรุงพันธุ์ในพืชที่กำลังเติบโต แต่พลังงานไม่เพียงพอใช้กับการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์
ในช่วงแรกของการพัฒนาพันธุ์พืชด้วยรังสีนั้น วงการเกษตรพบปัญหาถั่วเหลืองเป็นโรค "ราสนิม" ทำให้ ใบร่วง เมล็ดไม่สมบูรณ์ และขณะนั้นไม่มีแหล่งพันธุ์ที่ต้านทานโรค อาจารย์อรุณีจึงได้นำถั่วเหลืองไปฉายรังสีเพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้ต้านทานโรค โดยได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทบวงพลังงานปรมาณูเพื่อสันติหรือไอเออีเอ และได้รับการสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกจากดครงการหลวง ที่สุดพัฒนาจนได้ถั่วเหลือง "พันธุ์ดอยคำ" ซึ่งเมื่อได้พันธุ์มาแล้วได้ถ่ายทอดให้เกษตรกรนำไปปลูก นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียว พันธุ์ฝ้าย
อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวแล้ว อาจารย์อรุณีชอบการปรับปรุงไม้ดอกไม้ประดับมากกว่า เหตุผลส่วนหนึ่งคือปรับปรุงพันธุ์ได้ง่ายกว่าและมีความสวยงาม ซึ่งในฐานะที่เป็นผู้หญิงก็ชอบของสวยงามอยู่แล้ว ดังนั้นในระยะหลังจึงได้หันมาปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ
สำหรับ "แพรเซี่ยงไฮ้" เป็นไม้ดอกไม้ประดับที่ปรับปรุงพันะได้ง่ายที่สุด เจริญเติบโตง่ายและเห็นผลภายในภาคการศึกษาเดียว จึงใช้เป็นวัตถุดิบในการสอน ส่วนการปรับปรุงพืชไร่ทำได้ยากที่สุด เพราะใช้เวลานาน โดยเฉพาะฝ้ายต้องใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์นานถึง 10 ปี เนื่องจากต้องรอฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูก ไม่สามารถปลูกได้ตลอดเวลาเหมือนไม้ดอกไม้ประดับ
"ทำพืชเศรษฐกิจอยู่นาน พอมาทำพืชดอก สนุกกว่าตั้งเยอะ" อาจารย์อรุณี บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ตลอด 38 ปีของการปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยรังสี อาจารย์อรุณีมีผลงานในการปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมวิชาการเกษตร 50 พันธุ์ ได้แก่ แพรเซี่ยงไฮ้ 10 พันธุ์ พุทธรักษา 37 พันธุ์ ชวนชม 2 พันธุ์และถัวเหลือง 1 พันธุ์ และตอนนี้ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการปรับปรุงดอกปลุมมาแคระให้ออกดอกพร้อมกันได้หลายๆ สี ทั้งนี้มีผู้พัฒนาปทุมมาแคระได้แล้วแต่มีดอกน้อย โดยเธอจะใช้ฉายรังสีเนื้อเยื่อปทุมมาเพื่อปรับปรุงพันธุ์
"ผลงานที่ออกมาสามารถเขียนออกมาในรูปรายงานวิชาการ ได้พันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งเกษตรกรได้ประโยชน์ และอาจารย์เองได้นำความรู้ไปใช้ในการสอน ช่วงสอนใหม่ๆ ต้องเตรียมสอนเยอะมาก พอสอนแป๊บเดียวที่เตรียมสอนมาก็หมดแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเตรียมมาก อาศัยประสบการณ์สอนได้เยอะ ซึ่งแม้อาจารย์ไม่ได้เรียนนิวเคลียร์มาโดยตรง แต่อาจารย์หมั่นหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งจากประสบการณ์ การอ่านและเข้ารับการอบรมต่างๆ" อาจารย์อรุณีกล่าว
นับว่าอาจารย์เกษตรผู้นี้เป็นตัวอย่างของผู้พยายามขวนขวายหาความรู้ โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การศึกษาในระบบ จนเป็นแบบอย่างที่ดีและได้รับการยกย่อง