xs
xsm
sm
md
lg

"ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล" นักวิจัยอาหารทะเลคว้ารางวัลมูลนิธิโทเร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล
มูลนิธิโทเรมอบรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ "ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล" นักวิจัยแปรรูปอาหารทะเลและเศษเหลือทิ้งจาก มอ. ด้าน "เคมี-จุฬา" รับรางวัลระดับสถาบัน ในฐานะภาควิชาเคมีแห่งแรกของไทย พร้อมทุนช่วยเหลือวิจัยแก่นักวิจัยทั่วประเทศ 25 ทุน สาขาเกษตรขอทุนเยอะสุด ส่วนฟิสิกส์ขอทุนน้อยสุด

มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย (Thailand Toray Science Foundation) มอบทุนสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่นักวิจัยไทยและสถาบันการศึกษา เมื่อเช้าวันที่ 8 ก.ย.53 ณ โรงแรมสวิสโซเทล นายเลิศ ปาร์ก โดย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในการมอบรางวัล พร้อมด้วย นายเคียวจิ โคะมะจิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ ดร.คัตสึโนสุเกะ มาเอดะ ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัทโทเรอินดัสทรีส์ ญี่ปุ่น ร่วมในพิธี

ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ประธานคณะกรรมการรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย กล่าวรายงานว่า ผู้ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2552 ระดับบุคคล คือ ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล จากภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีผลงานวิจัยด้านงานวิจัยทั้งพื้นฐานและประยุกต์ โดยใช้โจทย์จากปัญหาต่างๆ ที่พบในโรงงานอุตสาหกรรมหรือเกษตรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ตัวอย่างงานวิจัยของ ศ.ดร.สุทธวัฒน์ ได้แก่ การศึกษาและปรับปรุงคุณภาพของซิริมิจากปลาแช่แข็ง การใช้พลาสมาจากเลือดหมูและเลือดไก่เป็นสารเพิ่มความแข็งแรงของเจลซูริมิ การนำซูริมิมาผลิตเป็นฟิล์มบริโภคได้ซึ่งเพิ่มมูลค่าให้ซูริมิได้อีกทางหนึ่ง การทำบริสุทธิ์เอนไซม์และประยุกต์ใช้เปปซินจากกระเพาะปลาทูน่าและปลาสายพันธุ์อื่นๆ เพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพการสกัดคอลลาเจนจากหนังปลา การปรับปรุงสมบัติเจลาตินโดยการใช้เปปซินร่วมกับสารยับยั้งเอนไซม์โปรตีเนสในหนังปลาที่ใช้เป็นวัตถุดิบ

ศ.ดร.สุทธวัฒน์ ได้กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ภายหลังจากได้รับรางวัลว่า งานวิจัยที่ทำนั้น เป็นงานวิจัยในระดับพื้นฐาน ซึ่งไม่ได้อยู่ในระดับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ แต่เป็นงานวิจัยที่ให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการและโรงงานแปรรูปอาหารทะเล และยังมีงานวิจัยที่ศึกษาการแปรรูปเศษกระดูกและหนังปลาทะเลเพื่อผลิตเป็นคอลลลาเจน ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือทิ้งและได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ ทั้งนี้ได้เริ่มทำวิจัยด้านอาหารทะเลตั้งแต่ปี 2540 และสนใจด้านนี้เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่มีมากในท้องถิ่น

สำหรับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2552 ระดับหน่วยงานได้แก่ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสรต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่ง ศ.ดร.ยอดหทัยกล่าวว่า ภาควิชาเคมี จุฬาฯ ได้รับรางวัลในฐานะเที่เป็นภาควิชาเคมีแห่งแรกของประเทศไทย และมีบทบาทในการสร้างบุคคลากรคุณภาพทั้งที่อยู่ในสถาบันการศึกษาชั้นนำ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จากการเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักในด้านการสอนวิชาเคมี มาเป็นหน่วยงานที่สามารถผสมผสานกระบวนการวิจัยเข้ากับการเรียนการสอน อีกทั้งมีพัฒนาการด้านงานวิจัยอย่างก้าวกระโดด

นอกจากนี้มูลนิธิโทเรฯ ยังได้ให้ทุนช่วยเหลือด้านวิจัยวิทยาศาสรต์และเทคโนโลยี ประจำ พ.ศ.2552 อีก 25 ทุน ใน 4 สาขา คือสาขาเกษตรศาสตร์ 9 ทุน สาขาเคมี 5 ทุน สาขาฟิสิกส์ 3 ทุน และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ 8 ทุน ซึ่ง ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะกรรมการทุนช่วยเหลือฯ กล่าวรายงานว่า ปีที่ผานมานั้นมีผู้เสนอโครงการสาขาเกษตรเข้ามามากกว่าสาขาและยังมีความหลากหลายของงานวิจัย ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ให้ความสำคัญกับนัยยะดังกล่าว และปีนี้ยังมีผู้เสนอโครงการสาขาเกษตรเข้ามามากที่สุดถึง 89 โครงการ ส่วนสาขาฟิสิกส์มีผู้ส่งโครงการขอรับทุนช่วยเหลือน้อยที่สุด โดยปีนี้มีเพียง 8 โครงการ

พร้อมกันนี้มูลนิธิโทเรฯ ยังได้มอบรางวัลการศึกษาวิทยาศาสตร์ให้แก่อาจารย์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย รวมมูลค่าเงินรางวัลทั้งหมด 550,000 บาท ซึ่ง ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กล่าวรายงานว่า ปีนี้มูลนิธิฯ ได้มอบเงินรางวัลในแต่ละประเภทรวมเป็นเงินมูลค่า 6 ล้านบาท และมีการมอบรางวัลต่อเนื่องเป็นเวลา 16 ปี ซึ่งได้มอบเงินรางวัลรวมทั้งหมด 80 ล้านบาท

ทั้งนี้มูลนิธิโทเรฯ ได้รับเงินกองทุนประเดิมจาก บริษัทโทเรอินดัสทรีย์ ประเทศญี่ปุ่น มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มบริษัทโทเรฯ ในประเทศไทย 4 บริษัท โดยได้บริหารมูลนิธิจากดอกผลของกองทุน ซึ่งบริษัทโทเรฯ ประเทศญี่ปุ่น ได้ก่อตั้งมูลนิธิโทเรฯ ในประเทศญีป่นมาตั้งแต่ปี 2503 แล้วได้ขยายความช่วยเหลือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมายังประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 2532 จากนั้นได้ตั้งมูลนิธิขึ้นในเมืองไทยเมื่อปี 2536
แถวหน้า (ซ้ายไปขวา) ดร.คัตสึโนสุเกะ มาเอดะ, นายเคียวจิ โคะมะจิ , พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ,  ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ และ  ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์  แถวหลังยืน (ซ้ายไปขวา) ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล และ ผศ.ดร.วรินทร ชวศิริ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กำลังโหลดความคิดเห็น