xs
xsm
sm
md
lg

"ถนนสายวิทย์" 6-9 ม.ค. โชว์กล้วย-โชว์เต่า ฉลองปีความหลากหลายทางชีวภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไปดูต้นกล้วยนาก ผลสีแดง
หลายคนอาจไม่เคยเห็น "กล้วยนาก" ที่ผลมีสีแดงสด เมื่อแก่จัดมีสีเขียวอมแดง รสชาติคล้ายกล้วยหอมอมเปรี้ยว หากไปเที่ยวงาน "ถนนสายวิทย์" ที่จัดขึ้นระหว่าง 6-9 ม.ค. 53 รับวันเด็กแห่งชาติ นอกจากจะได้เห็นกล้วยแปลกตาแล้วยังได้ลองลิ้มชิมรสชาติจิ้มชอกโกแลตแบบฟองดู พร้อมกับกล้วยสายพันธุ์อื่นๆ อีกทั้งยังได้ชมเต่าสารพัดชนิดที่พบได้ในเมืองไทย แล้วจะทึ่งกับความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในเมืองไทย

ดร.ศศิวิมล แสวงผล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ภายใน "ถนนสายวิทยาศาสตร์" ซึ่งทางคณะได้ร่วมจัดกิจกรรมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 นั้น จะได้นำต้นกล้วยสายพันธุ์ต่างๆ มาจัดแสดง อาทิ กล้วยนาก กล้วยร้อยหวี กล้วยปลีเหลือง เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายในงานแถลงข่าวการจัดงานที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 4 ม.ค.53 มีเครือกล้วยที่มีผลแก่จัดสีเขียวอมแดงเครือใหญ่ มานำเสนอเป็นตัวอย่างแก่สื่อมวลชน โดย ดร.ศศิวิมลซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับกล้วยสายพันธุ์ต่างๆ ในไทยกล่าวว่า ภายในงานถนนสายวิทย์นั้นนอกจากผู้ร่วมงานจะได้ชมกล้วยสายพันธุ์ต่างๆ แล้ว ยังจะได้ชิมรสกล้วยแต่ละชนิดโดยจิ้มชอกโกแลตแบบ "ฟองดู" เพื่อดูความแตกต่างในรสชาติของกล้วยแต่ละชนิดด้วย

นอกจากสายพันธุ์กล้วยไทยแล้ว ยังมีสารพัดเต่าที่จะนำมาแสดงภายในงาน ซึ่งนายวัชระ สงวนสมบัติ นักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่า การนำเต่ามาจัดแสดงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองปีแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Year of Biodiversity) ในปี 2553 นี้

พร้อมทั้งยกตัวอย่างเต่า 2 ตัว คือ เต่าห้วยเขาบรรทัดและเต่าใบไม้ ซึ่งในอดีตคิดว่าเป็นชนิดเดียวกัน แต่เมื่อศึกษาอนุกรรมวิธานจึงทราบว่าเป็นเต่าคนละชนิด โดยเต่าห้วยเขาบรรทัดจะพบได้ทางภาคตะวันออกของไทยไปจนถึงประเทศกัมพูชา ส่วนเต่าใบไม้จะพบได้ทั่วไปทยตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคใต้ แต่ไม่พบในภาคอีสาน โดยเต่าทั้งสองเป็นเต่าน้ำที่ชอบอาศันอยู่ในบริเวณพื้นที่ชื้นแฉะ น้ำไม่ลึกมาก อย่างตามลำห้วยตื้นๆ

"ไทยมีเต่าอยู่ประมาณ 27-30 ชนิด แต่เลขยังไม่นิ่งเพราะอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งไทยถือเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่มีชนิดของเต่าที่หลากหลาย โดยเฉลี่ยจะมีประมาณ 10 ชนิด และบางประเทศก็ไม่มีเลย เพราะที่อยู่อาศัยของเต่าค่อนข้างจำเพาะ ซึ่งประเทศที่มีเต่ามากกว่า 20 ชนิดนั้นมีน้อยมาก" นายวัชระกล่าว

นอกจากนี้ยังมี "ตะพาบ" ซึ่งเป็นเต่าน้ำชนิดหนึ่ง จัดเป็นเต่ากระดองอ่อน มีนิสัยก้าวร้าวต่างจากเต่า หากจับไม่ถูกวิธีอาจโดนกัดได้ และแม้ตะพาบไม่มีฟัน แต่ขอบปากที่คมมากก็ทำให้บาดเจ็บได้ ซึ่งเมื่อถูกกัดให้งัดปากตะพาบออก สำหรับเมืองไทยมีตะพาบอยู่ประมาณ 10 ชนิด และมีตะพาบ "ม่านลาย" เป็นตะพาบขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

สำหรับกิจกรรมถนนสายวิทยาศาสตร์จัดขึ้นครั้งแรกในสมัย ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อปี 2550 โดยความร่วมมือของ 16 หน่วยงาน จาก 4 กระทรวงคือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม

ในปี 2553 นี้มีสถานีให้ร่วมกิจกรรมทั้งหมด 45 สถานี อาทิ สถานีพายุสุริยะกับกระแสโลกแตก 2012 ซึ่งจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพลังจากดวงอาทิตย์ที่มีผลต่อแกนโลก สถานีบิงโกโลกร้อน เป็นบิงโกความรู้เกี่ยวกับ 100 สถานที่ในโลกที่จะหายไปเนื่องจากภาวะโลกร้อน สถานีโยนขยะ แยกขยะ ที่แสดงนิทรรศการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และผลกระทบจากขยะเหล่านั้น สถานีหินแร่ แจกตัวอย่างหินแร่ในประเทศไทย เป็นต้น.
ดร.ศศิวิมล แสวงผล
(ล่าง) เต่าห้วยเขาบรรทัด และ (บน) เต่าใบไม้ ซึ่งช่วงอายุน้อยจะมีลักษณะคล้ายกันมากจนแยกความแตกต่างได้ยาก
นายวัชระ สงวนสมบัติ
ตะพาบ เต่ากระดองอ่อน มีนิสัยก้าวร้าว
น้องดินสอ
พลาสติกคลุมโรงเรือน ผลงานของเอ็มเทคที่สามารถกรองและกันรังสีให้เหมาะสมกับการปลูกพืชได้
ปีนี้ครบ 50 ปีของกำเนิดเลเซอร์แล้ว ไปดูนิทรรศการเกี่ยวกับเลเซอร์ได้ในงาน ถ.สายวิทยาศาตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น