xs
xsm
sm
md
lg

ไบโอเทครับทุนมูลนิธิเกตส์ หาจุดอ่อนเชื้อมาลาเรียแก้ปัญหาดื้อยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ฟิลิป ชอว์ (กลาง) นักวิจัยไบโอเทคชาวอังกฤษ ได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ ในการพัฒนาวิธีการตรวจสอบเป้าหมายของยาต้านเชื้อมาลาเรีย ซึ่งมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ (ขวาสุด) และ ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ (ซ้ายสุด) นักวิจัยทีมพัฒนายาต้านเชื้อมาลาเรียของไบโอเทคร่วมให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์พิเศษ ดร.ฟิลิป เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 52
นักวิจัยไบโอเทค รับทุนมูลนิธิเกตส์อีกครั้ง หลังเสนอแนวคิดพัฒนาวิธีค้นหาจุดอ่อนของเชื้อมาลาเรีย หวังปูทางพัฒนายาใหม่แก้ปัญหาเชื้อดื้อยา ด้านอดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทย์และหัวเรือใหญ่ทีมวิจัยยาต้านมาลาเรียของไทยเผย มาลาเรียจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของไทย แต่ไทยเป็นต้นตอทำให้เชื้อดื้อยากระจายไปทั่วโลก ชี้เป็นโอกาสดีของไทยที่จะได้แสดงศักยภาพด้านงานวิจัยให้ทั่วโลกเห็น

ดร.ฟิลิป ชอว์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิศวกรรมโปรตีน-ลิแกนและชีวโมเลกุล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้รับทุนวิจัยจากโครงการ "แกรนด์ ชาลเลนจ์ส เอ็กซ์พลอเรชันส" (Grand Challenges Explorations) ที่ตั้งขึ้นโดยมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ (The Bill & Melinda Gates Foundation) จำนวน 1 แสนเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3 ล้านบาท) จากการนำเสนอแนวคิดโครงการพัฒนาวิธีการตรวจสอบยีนเป้าหมายสำหรับยาต้านมาลาเรีย ซึ่งเป็น 1 ใน 76 โครงการที่ได้รับทุนในครั้งนี้ จากทั้งหมด 3,000 โครงการ โดยไบโอเทคได้จัดให้สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์นักวิจัยคนดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 พ.ย.52 ที่ผ่านมา ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์เข้าร่วมด้วย

ดร.ฟิลิป เปิดเผยว่าแนวคิดของเขาคือ ตรวจสอบเป้าหมายของยาต้านเชื้อมาลาเรีย เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนายาต้านมาลาเรียต่อไปที่มุ่งทำลายบริเวณเป้าหมายที่เป็นส่วนสำคัญของเชื้อมาลาเรีย โดยทำการติดสวิตซ์ให้กับยีนของเชื้อมาลาเรียที่สนใจ ซึ่งสวิตซ์ในที่นี้หมายถึงดีเอ็นเอสายสั้นๆ ที่มีหน้าเปิดปิดการทำงานของยีน

จากนั้น ทดลองเปิดและปิดสวิตซ์ยีนดังกล่าว เสมือนกับเปิดและปิดการทำงานของยีน แล้วดูว่าเมื่อปิดสวิซต์แล้วยีนนั้นไม่ทำงาน จะทำให้เชื้อมาลาเรียตายหรือไม่ ซึ่งแนวคิดนี้ มีที่มาจากการที่นักวิทยาศาสตร์เคยค้นพบสวิตซ์เปิดปิดการทำงานของยีนในแบคทีเรียชนิดหนึ่ง แต่ยังไม่เคยมีใครนำมาใช้กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ดร.ฟิลิป จึงต้องการพิสูจน์ว่าวิธีการนี้จะใช้ได้ในปรสิตอย่างเชื้อมาลาเรียหรือไม่

ดร.ฟิลิปบอกว่า จะใช้ทุนวิจัยที่ได้รับในครั้งนี้เพื่อทดสอบว่าวิธีการเปิดปิดสวิตช์ยีนจะใช้ตรวจสอบหาเป้าหมายของยาต้านเชื้อมาลาเรียได้จริงหรือไม่ หากวิธีดังกล่าวใช้ได้ผล ก็จะช่วยให้นักวิจัยทำงานต่อไปได้ง่ายขึ้นในการพัฒนายาใหม่ๆ สำหรับฆ่าเชื้อมาลาเรียและแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาได้

อย่างไรก็ตาม เชื้อมาลาเรียมียีนทั้งหมดประมาณ 5,000 ยีน นักวิจัยไม่สามารถทดสอบเปิดปิดสวิตช์ได้หมดทุกยีนในระยะเวลา 1 ปี ที่ได้รับทุนวิจัย ดังนั้น ดร.ฟิลิป จะเริ่มต้นจาการทดลองเปิดปิดการทำงานของยีนที่เป็นเป้าหมายของยาต้านเชื้อมาลาเรียที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เช่น ดีเอชเอฟอาร์ (Dihydrofolate reductase: DHFR) ซึ่งเป็นเอ็นไซม์สำคัญตัวหนึ่งของเชื้อมาลาเรีย หากประสบความสำเร็จก็จะขยายสู่การค้นหายีนตัวอื่นๆ ที่สามารถเป็นเป้าหมายของยาตัวใหม่ได้

ด้าน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิจัยอาวุโสของไบโอเทค ซึ่งเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิศวกรรมโปรตีน-ลิแกนและชีวโมเลกุล ให้อธิบายเพิ่มเติมว่า แนวคิดการค้นหาเป้าหมายที่เหมาะสมของยาของ ดร.ฟิลิป คล้ายกับการยิงธนูให้เข้าเป้า ต้องรู้ว่าเป้าหมายคืออะไร โดยการค้นหาว่ายีนหรือโปรตีนตัวไหนเป็นจุดอ่อนของเชื้อที่หากเสียความคงตัวหรือถูกทำลายไปแล้วทำให้เชื้อมีชีวิตอยู่ต่อไม่ได้

ศ.ดร.ยงยุทธ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรคมาลาเรียยังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก เพราะในแต่ละปีมีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคนี้ราว 1-2 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่มีผู้ป่วยมากกว่า 100 ล้านคน และยังมีประชากรอีกว่า 400 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อโรค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรในประเทศยากจนของทวีปแอฟริกาและเอเชีย

"ปัญหาสำคัญของโรคมาลาเรียคือเชื้อดื้อยา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นยาตัวไหนส่วนใหญ่จะเริ่มเกิดการดื้อยาครั้งแรกที่เมืองไทย และแม้ว่าโรคมาลาเรียจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันนี้ แต่นักวิจัยไทยมีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกในความสามารถด้านการพัฒนายาต้านเชื้อมาลาเรีย ฉะนั้นการวิจัยพัฒนายาต้านมาลาเรียจึงเป็นโอกาสดีสำหรับนักวิจัยไทยที่จะได้แสดงความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ทั่วโลกเห็น" ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ กล่าวอีกว่า ปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาไม่ใช่เป็นปัญหาทางด้านวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาสังคมด้วย เพราะมาลาเรียเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นบริเวณชายแดน ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในแถบนั้นส่วนมากมีฐานะยากจน ไม่มีเงินซื้อยา และถึงแม้ว่าจะมียาจำหน่ายในราคาถูก แต่เมื่อตรวจสอบพบว่ายาเหล่านั้นส่วนมากเป็นยาปลอม มียาจริงอยู่เพียงไม่มาก และเมื่อผู้ป่วยได้รับยาไม่ครบโดส ก็จะทำให้เชื้อมาลาเรียดื้อยา และหากยังแก้ปัญหาสังคมในเรื่องนี้ไม่ได้ ก็ยากที่จะแก้ปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาได้ผล

ทั้งนี้ ดร.ฟิลิป ปัจจุบันมีอายุ 36 ปี เป็นชาวอังกฤษ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ สหราชอาณาจักร และเข้าทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ที่ไบโอเทคนาน 7 ปี โดยหลังจากจบปริญญาเอกเขาได้มีโอกาสทำงานวิจัยด้านการศึกษาการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของแมลงหวี่แล้วรู้สึกชอบ

แต่เมื่อได้ศึกษากับเชื้อมาลาเรียพบว่าการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของเชื้อมาลาเรียทำได้ยากมาก จึงทำให้เขาสนใจที่จะศึกษาและทำความเข้าใจกับพันธุกรรมของเชื้อมาลาเรียให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งเขาเลือกเข้ามาทำงานเป็นนักวิจัยในประเทศไทย ก็เพราะไทยมีปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยา อีกทั้งเมืองไทยก็น่าอยู่ และนอกจากนั้นเขายังมีครอบครัวอยู่ในประเทศไทยด้วย

ก่อนหน้านี้ ศ.ดร.ยงยุทธ และทีมวิจัย เคยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายาต้านเชื้อมาลาเรียจากมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน และเมื่อต้นปีนี้เอง ดร.บงกช ธารชมพู นักวิจัยไบโอเทคซึ่งอยู่ในทีมวิจัยเดียวกับ ศ.ดร.ยงยุทธ ก็ได้รับทุนวิจัยจากโครงการ Grand Challenges Explorations เช่นเดียวกับ ดร.ฟิลิป ซึ่งโครงการดังกล่าวมอบทุนปีละ 2 ครั้ง แก่นักวิจัยทั่วโลกที่เสนอแนวคิดสร้างสรรค์ในการป้องกันและรักษาโรคติดต่อ อาทิ โรคเอดส์ มาลาเรีย วัณโรค และอหิวาตโรค เพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ทางด้านการพัฒนาสุขภาพของประชากรโลก.
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
ดร.ฟิลิป ชอว์
แนวคิดการติดสวิตซ์เปิดปิดการทำงานของยีน เพื่อตรวจสอบว่ายีนใดของเชื้อมาลาเรียมีความสำคัญต่อตัวเชื้อและเป็นเป้าหมายของยาต้านเชื้อมาลาเรียได้
กำลังโหลดความคิดเห็น