“คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต” ระบุ ไทยลงทุนการศึกษาเยอะ แต่ไร้ผลสำเร็จ ชี้เป็นปรากฏการณ์แห่งความล้มเหลวการศึกษาไทย สับระบบกระจายอำนาจลงสู่ สพท.ยังมีปัญหา เลือกตั้งผู้แทนครูมีการวิ่งเต้นเข้าสู่อำนาจ โยงการเมือง ลืมรักษาผลประโยชน์ครูส่วนใหญ่ ติงบ้าเห่อปริญญา แต่จบออกมาไม่ตรงตลาดงาน
วันนี้ (28 ก.ย.) ที่ห้องภาณุรังษี โรงแรมรอยัลริเวอร์ คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร จัดการสัมมนาเรื่อง “ทศวรรษที่สองของการปฏิรูปการศึกษา : ปัญหาและทางออก” ทั้งนี้ในวงเสวนาเรื่อง “ทิศทางข้างหน้าการศึกษาไทย” รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การศึกษาในปัจจุบันนี้จะแก้ปัญหาแบบประนีประนอมในวงราชการ ซึ่งไม่ตรงประเด็น และที่ถือเป็นเรื่องยากสำหรับการแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยคือ การจัดการศึกษาให้มีความเสมอภาค ทั่วถึง มีการทุ่มงบเยอะ แต่ได้ผลสำเร็จกลับคืนมาน้อย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์แห่งความล้มเหลวของการศึกษาไทยมานาน อย่างนโยบายเรียนฟรี 15 ปี มีประโยชน์แต่คิดว่ายังไม่พอ ต้องดูถึงคุณภาพการสอนเพราะยังมีการสอนแบบเก่าอยู่ เน้นท่องจากตำรา ทำให้เด็กคิดไม่เป็น เพราะในโลกสมัยใหม่การที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยออกมาแล้วทำอะไรไม่ได้ คิดไม่เป็น ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรต่อการพัฒนาประเทศ
รศ.วิทยากร กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ปัญหานั้นคาดหมายว่าจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายกรัฐมนตรี ที่ใส่ใจด้านการศึกษาอย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่พออีกเช่นกัน เพราะหากดูจากระบบราชการแบบรวมศูนย์ยังมีปัญหามาก การกระจายอำนาจสู่สำนักงานพื้นที่การศึกษา (สพท.) แต่ละจังหวัดนั้น การเลือกตั้งผู้แทนครูกลายเป็นการวิ่งเต้นเข้าสู่อำนาจ โดยมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยลืมมองไปถึงการทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของครูส่วนใหญ่
“การกระจายอำนาจไปสู่ต่างจังหวัด ไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งความจริงแล้ว สพท.ต้องเป็นอิสระไม่ใช่ระบบราชการ และเอาหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายเข้ามาประสานงานร่วมกัน ไม่ใช่มีแต่ระบบวิ่งเต้น เส้นสาย ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ในส่วนผู้ปกครอง ชอบเรียนฟรี แต่ความจริงแล้วต้องเรียกร้องคุณภาพให้มากกว่านี้ เพราะทุกวันนี้เรียนกันแทบตายแต่ลูกจบมากลับว่างงาน เราเอาแต่บ้าเห่อใบปริญญา ในขณะที่ตลาดแรงงานกลับขาดแคลนวิชาชีพช่างฝีมือ อาชีวะ ดังนั้นจึงขาดสมดุล อีกทั้งการศึกษาก็เน้นแต่กระบวนการสอน เน้นคะแนนสอบ เนื้อหายัดทุกอย่างอยู่ในหลักสูตรซึ่งตรงนี้ถือว่าไม่ได้ผล จึงต้องมีการทบทวนอย่างจริงจัง” คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าว
รศ.วิทยากร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในส่วนการพัฒนาเด็กนั้นต้องเน้นตั้งแต่ปฐมวัย ถ้าเด็กฉลาด เด็กตั้งข้อสงสัยในห้องเรียนมากๆ ก็จะทำให้ครูผู้สอนต้องปรับตัวหากถามในอะไรที่ครูตอบไม่ได้ ซึ่งครูเองก็จะได้พัฒนาตัวเองด้วย แต่ตอนนี้กลับไม่เป็นอย่างนั้นหากครูไม่สอนเด็กก็ดีใจ เพราะจะได้ไม่ต้องเรียน นอกจากนี้ เรื่องของระบบแพ้คัดออก เด็กบางคนไม่สามารถปรับตัวได้ ซึ่งชั้นเรียนไม่ควรใหญ่เกินไป และโรงเรียนเองต้องมีระบบการช่วยเหลือติดตามเด็กที่มีปัญหาด้วย ไม่ใช่เอาใจแต่เด็กเก่งอย่างเดียว
ศ.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานอนุกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นและสรุปแนวทางการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง คือ 1.คุณภาพการศึกษา ของผู้เรียน ระบบการเรียนรู้ ครู และผู้บริหาร 2.ขอบเขตตามเจตนาที่ต้องการให้มีเพิ่มขึ้น คือไม่ใช่แค่การศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้นแต่ต้องปรับเป็นเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามนอกจากจะปฏิรูปฯ ตามระบบของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แล้วต้องเชื่อมโยงงานด้าน เศรษฐกิจ แรงงาน และภาคประชาสังคมที่ต้องมีส่วนร่วมภาครัฐถึงจะดำเนินการได้ เช่น หากพูดว่าจะมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต กลับมองแค่ว่าเป็นหน้าที่ของ ศธ. และ กศน. หรือเพียงแค่การปรับปรุงห้องสมุด ถ้ามองแค่นี้ก็ไม่สำเร็จ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ทุกส่วนต้องเข้ามาช่วยกัน ทั้งนี้ในส่วนของภาคเอกชนก็มีส่วนช่วยตรงนี้มาก แต่ตอนนี้ยังมีน้อยในการจัดการศึกษา ซึ่งนโยบายรัฐก็ไม่เอื้อ ไม่ใช่ให้เอกชนที่มีเงินมาตั้งโรงเรียน ตั้งมหาวิทยาลัยแล้วบอกว่าสนับสนุนการศึกษา แต่ต้องเข้ามาเพื่อพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริงด้วย