xs
xsm
sm
md
lg

รู้ว่าไม่เก่งจึงมุมานะ "ดร.บงกช ธารชมพู" กับทุนวิจัย "บิลล์ เกตส์" หนึ่งเดียวในอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.บงกช ธารชมพู นักวิจัยไบโอเทค ที่ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาสารต้านมาลาเรียที่ดื้อยา ได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิบิลล์และมิลินดา เกตส์ จำนวน 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ
"เรารู้ตัวว่าไม่ใช่คนเก่ง ยังมีคนอื่นเก่งกว่าเราอีกมาก แต่เรามีความมุมานะ"

คำพูดเปิดใจของ "ดร.บงกช ธารชมพู" ในวันที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้าไปพูดคุยกับเธอถึงห้องแล็บ ในฐานะนักวิจัยไทยหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ได้รับทุนจากมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ เพื่อต่อยอดพัฒนาสารต้านเชื้อมาลาเรียดื้อยา หาวิธีรักษาให้ผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลก


ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคมาลาเรียทั่วโลกมากถึง 500 ล้านคน และเสียชีวิตปีละกว่า 2 ล้านคน รวมถึงประเทศไทยที่มีผู้ป่วยโรคนี้ไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ประกอบกับปัญหาเชื้อดื้อยา ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก ผู้ป่วยส่วนมากก็เป็นประชากรในประเทศยากจนและกำลังพัฒนา รวมทั้งบริษัทยารายใหญ่ของโลกก็ไม่ค่อยสนใจโรคนี้นัก

แต่ยังมีนักวิจัยไทยกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามคิดค้นหาทางยับยั้งเชื้อมาลาเรียดื้อยาให้ได้ผล และหนึ่งในนั้น คือ "ดร.บงกช ธารชมพู" นักวิจัยของปฏิบัติการวิศวกรรมโปรตีน-ลิแกนและชีววิทยาโมเลกุล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ที่ทำงานด้านนี้มาร่วม 16 ปี และไม่เคยคาดคิดว่าตัวเธอเองจะได้รับโอกาสที่ดีเช่นนี้มาก่อน

พลิกผันจากนักเรียนพยาบาล มาเป็นนักเคมีหาวิธีปราบมาลาเรีย

ในระหว่างให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ณ อาคารไบโอเทค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ดร.บงกช เล่าว่าตนเองชอบเรียนวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็กแล้ว และเมื่อเรียนอยู่ชั้น ม.ปลาย ก็รู้สึกชอบวิชาเคมีมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประทับใจคุณครูผู้สอนวิชาเคมี ขณะที่ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ก็ชอบเหมือนกัน แต่ว่าทำได้ไม่ดีเท่าวิชาเคมี

"เมื่อตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าต้องเรียนวิชาชีพที่จบออกมาแล้วมีงานทำแน่นอน เพราะครอบครัวไม่ได้มีฐานะร่ำรวย เป็นครอบครัวคนจีน คุณพ่อคุณแม่ก็อยากให้ลูกเรียนจบมีงานทำกันทุกคน แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าลูกจะต้องเรียนอะไร ให้อิสระเราเลือกเอง จึงเลือกสอบเข้าเรียนพยาบาลศิริราช ม.มหิดล"

"แต่พอได้เข้าไปเรียนแล้วรู้สึกไม่ชอบ
ซึ่งงานพยาบาลต้องติดต่อกับผู้อื่นมากมาย และหากตัวเราไม่ชอบทางด้านนี้ ก็กลัวว่าจะทำให้คนอื่นลำบากไปด้วย กับการทำงานของเรา และเราก็ชอบทางด้านเคมีมากกว่าอยู่แล้ว จึงตัดสินใจขอย้าย"

"เดิมทีตั้งใจจะย้ายไปเรียนเทคนิคการแพทย์ แต่พอดีว่าช่วงนั้นเกิดเหตุไฟไหม้ตึกคณะที่ศิริราช ทำให้คณะนี้ไม่รับคนเพิ่มในช่วงนั้น สุดท้ายจึงไปลงเอยที่ภาควิชาเคมีของคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล
" ดร.บงกช เล่าอย่างอารมณ์ดีถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในช่วงหนึ่งของชีวิต

เมื่อได้เรียนในสิ่งที่ชอบแล้ว ดร.บงกช ก็ตั้งใจเรียนมาทางด้านนี้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งจบปริญญาเอกสาขาอินทรียเคมีจากมหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2536 และได้เข้าทำงานเป็นนักวิจัยที่ไบโอเทคทันทีจนถึงปัจจุบัน โดยมี ศ.ดร.ยอดหทัย และ ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ในดวงใจ ที่เป็นแบบอย่างในการทำงาน ดร.บงกชรู้สึกประทับใจมาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน สมัยที่เรียนที่มหิดล 

นอกจากนี้ ดร.บงกชยังเป็นเพียงคนเดียวในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 6 คน ที่ทำงานในสายวิทยาศาสตร์

ค้นหาสารต้านมาลาเรียมาสิบกว่าปี เข้าตาคว้าทุน "บิลล์ เกตส์"

ดร.บงกช เล่าว่าการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียเป็นปัญหาทั่วโลก ทำให้การค้นหาสารต้านเชื้อมาลาเรียดื้อยามีความสำคัญมาก และตัวเธอเองก็ได้เริ่มทำงานวิจัยทางด้านนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นเป็นนักวิจัยที่ไบโอเทค โดยอยู่ในทีมวิจัยของ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่วิจัยยาต้านมาลาเรียมานานก่อนหน้านั้นแล้ว และจากที่ศึกษามากว่าสิบปีก็พบว่ามีสารสังเคราะห์จำนวนหนึ่งสามารถต้านเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยาได้ในระดับหลอดทดลอง

ล่าสุดนั้น ดร.บงกช ได้รับทุนวิจัยจากโครงการ "แกรนด์ ชาลเลนจ์ส เอ็กซ์พลอเรชันส" (Grand Challenges Explorations) ที่ตั้งขึ้นโดยมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) เพื่อสนับสนุนการวิจัยและกระตุ้นให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์ในการป้องกันและรักษาโรคติดต่อร้ายแรงต่างๆ เช่น เอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย เป็นต้น

นับเป็นครั้งที่ 2 ที่มีการมอบทุนวิจัยผ่านโครงการดังกล่าว โดย ดร.บงกชเป็นนักวิจัยเพียงคนเดียวของอาเซียนที่ได้รับทุนครั้งนี้ จำนวน 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.5 ล้านบาท) จากผู้ที่ได้รับทุน 81 คนใน 17 ประเทศทั่วโลก ที่คัดเลือกจากทั้งหมดกว่า 3,000 โครงการ

"ตอนแรกที่ยื่นเสนอโครงการขอทุนไป ก็ไม่ได้หวังว่าจะได้ เพราะยังมีคนอื่นๆ ที่เก่งกว่าเราอีกตั้งมากมาย แต่ในที่สุดโครงการของเราก็ได้รับคัดเลือกให้ได้ทุนนี้ ซึ่งคิดว่าเป็นความโชคดีมากกว่า และตอนที่รู้ว่าตัวเองได้รับทุนนี้ ก็ยังไม่รู้สึกอะไร เพราะตอนนั้นยังทำงานเก่าไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงยังไม่ได้คิดถึงอะไรทั้งสิ้นนอกจากงานที่กำลังทำอยู่"

"แต่พองานชิ้นนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มรู้สึกกังวลว่าจะทำงานในโครงการใหม่ที่ได้รับทุนนี้สำเร็จตามเป้าหมายหรือเปล่า ซึ่งในฐานะนักวิจัยก็รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยครั้งนี้ และการที่มีแหล่งทุนเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นโอกาสที่ดีของนักวิจัยที่จะได้รับการสนับสนุนให้ทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อไปได้มากยิ่งขึ้น" ดร.บงกช กล่าว

สำหรับโครงการวิจัยที่ ดร.บงกช ได้รับทุนนั้น เป็นโครงการพัฒนาและทดสอบสารที่สามารถยับยั้งเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยา โดยเน้นที่การสังเคราะห์สารในกลุ่มแอนติโฟเลต (antifolate) ที่มีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ไดไฮโดรโฟเลต รีดัคเตส หรือดีเอชเอฟอาร์ (Dihydrofolate reductase: DHFR) ของเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ พลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม (Plasmodium falciparum) ที่มีการกลายพันธุ์และทำให้มีโครงสร้างของเอนไซม์ดีเอชเอฟอาร์เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของเชื้อมาลาเรีย

โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการที่ต่อยอดจากงานวิจัยเดิมที่ทำอยู่ เพื่อให้สามารถสังเคราะห์สารต้านเชื้อมาลาเรียดื้อยาได้หลากหลายขึ้นสำหรับนำไปพัฒนาเป็นยารักษาผู้ป่วยต่อไป

ทำงานอย่างมีวินัยและใส่ใจในคุณค่าของเวลา เป็นหนทางนำพาสู่ความสำเร็จ

การที่ได้รับทุนจากมูลนิธิบิลล์และมิลินดา เกตส์ ครั้งนี้ ดร.บงกช เชื่อว่าส่วนหนึ่งนั้นเป็นความโชคดีมากของตัวเธอเอง และอาจเป็นเพราะผลบุญที่เคยทำมา หนุนนำให้เป็นเช่นนี้ และอีกส่วนหนึ่งนั้นคิดว่าเป็นเพราะความมีวินัยในการทำงาน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการทำงานทุกอาชีพที่ทุกคนต้องมี และการทำงานให้สำเร็จจำเป็นต้องอาศัยเพื่อนร่วมทีมที่ดีด้วย เพราะงานบางอย่างเราไม่สามารถทำได้สำเร็จเพียงคนเดียว รวมถึงงานวิจัยค้นสารต้านมาลาเรียที่ทำอยู่นี้ด้วย

"เรารู้ตัวว่าไม่ใช่คนเก่ง ยังมีคนอื่นเก่งกว่าเราอีกมาก แต่เรามีความมุมานะ มีความพยายามและตั้งใจจริง ที่จะทำให้สำเร็จให้ได้ ซึ่งในการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย เราต้องมีสมาธิในการทำงาน ทุ่มเททำอย่างต่อเนื่องให้งานเสร็จทันตามกำหนดเวลา"

"และหากเราตั้งใจทำงานจนเสร็จได้ก่อนเวลาที่กำหนด ก็จะยิ่งทำให้เรามีเวลาเหลือที่จะทำงานชิ้นต่อไปหรือไปทำอย่างอื่นได้มากขึ้น ช่วยให้เราประหยัดเวลาในการทำงาน และได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ไม่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะเวลาเมื่อเสียไปแล้วเราไม่สามารถเรียกกลับคืนได้" ดร.บงกช ให้ข้อคิดในการทำงาน ที่ทุกคนทุกสาขาอาชีพสามารถนำไปใช้ได้หมด

แม้เวลาทำงาน ดร.บงกช จะทุ่มให้อย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่ลืมที่จะแบ่งเวลาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเองด้วย เพราะในการทำงานย่อมมีอุปสรรค หากทุ่มเทมากจนเกินไป หรือสมองไม่ปลอดโปร่ง ร่างกายไม่พร้อม ก็ไม่ทำให้งานออกมาดีได้ และอาจได้ไม่คุ้มกับเสีย

ที่สำคัญต้องรู้ศักยภาพของตัวเองว่าทำได้หรือไม่ ซึ่งหากฝืนทำไปโดยที่ร่างกายไม่มีความพร้อม อาจก่อให้เกิดความเสียให้ได้ ซึ่ง ดร.บงกช ก็เลือกวิธีพักผ่อนและคลายเครียดโดยการออกกำลังกาย เช่น เดิน, แอโรบิก, ฟังเพลง, ท่องเที่ยวหาของกินอร่อย และการเจริญสติ รวมถึงการหมั่นทำบุญกุศลในโอกาสต่างๆ และเพราะรู้จักบริหารเวลาทำงานและดูแลสุขภาพ ทำให้โรคภูมิแพ้ที่เป็นอยู่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานแม้แต่น้อย

แนะนักวิจัยรุ่นใหม่ให้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด พร้อมส่งต่อถึงรุ่นต่อๆ ไป

นอกจากนี้ แนวทางการดำเนินชีวิตและการทำงานของ ดร.บงกช ยังถ่ายทอดไปถึงนักศึกษาที่มาร่วมฝึกงานด้วย ซึ่ง ดร.บงกช บอกว่าที่เลือกเป็นนักวิจัยแทนที่จะไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือเหมือนกับหลายๆ คนที่จบปริญญาเอกในสมัยนั้น เพราะเธอไม่ชอบการสอน และคิดว่าคงไม่มีคุณสมบัติพอที่จะเป็นอาจารย์ได้

แต่ถึงจะไม่ได้เป็นอาจารย์ ก็สามารถถ่ายทอดความรู้และแนวคิดให้กับนักศึกษาที่มาร่วมฝึกงานภายใต้โครงการวายเอสทีพี (YSTP) ของ สวทช. โดยหวังว่าจะสามารถทำให้พวกเขาเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ และสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากที่นี่ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้

ท้ายนี้ ดร.บงกช ยังมีคำแนะนำเยาวชนไทยว่าควรเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ และเหมาะสมกับความสามารถของตัวเอง ถ้าเราชอบและสามารถทำได้ ย่อมทำได้ดีและมีความสุข มากกว่ามีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

ส่วนเยาวชนที่อยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต ก็ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี มุ่งมั่นทำงานในหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ พร้อมทั้งร่วมสร้างให้เกิดนักวิทยาศาสตร์ที่ดีรุ่นใหม่ๆ ต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีการนำเสนอเรื่องราววิทยาศาสตร์ผ่านสื่อต่างๆ ทำให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น และเน้นที่กลุ่มเยาวชนเป็นหลัก ประชาชนส่วนใหญ่จึงหันมาสนใจวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับลูกหลานของตนเอง.
ดร.บงกช ธารชมพู กับงานวิจัยพัฒนาสารต้านเชื้อมาลาเรียดื้อยาในห้องแล็บที่ไบโอเทค
ด้านหน้าห้องแล็บค้นหายาต้านเชื้อมาลาเรียที่ ดร.บงกช ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ห้องนี้
ดร.บงกช เป็นนักวิจัยเพียงคนเดียวในอาเซียนที่ได้รับทุนวิจัยนี้ในการให้ทุนเป็นครั้งที่ 2
อีกมุมหนึ่งภายในห้องแล็บที่ไว้สำหรับค้นหาข้อมูลและทำรายงานผลการทดลองต่างๆ รวมทังเป็นมุมพักผ่อนของ ดร.บงกช ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น