xs
xsm
sm
md
lg

อย่าชะล่าใจ! แพทย์ไทยเตือนให้ระวังหวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ระบาดซ้ำระลอกสอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) จัดให้มีการเสวนาวิชาการ เรื่อง ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา (ภาพจาก สวทช.)
หวั่นไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ ซ้ำรอยไข้หวัดสเปน นักวิจัยไทยเตือนอาจระบาดระลอกสอง เพราะพบไวรัสเริ่มเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลังระบาดได้ 2 เดือน มีโอกาสกลายพันธุ์สูง แถมแพร่จากคนสู่คนได้เร็ว แนะให้ประชาชนมีความรับผิดชอบ สวมใส่หน้ากากอนามัยทันทีที่ไม่สบาย ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ส่วนภาครัฐต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) จัดให้มีการเสวนาวิชาการ เรื่อง "ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009" ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เมื่อวันที่ 15 พ.ค.52 ที่ผ่านมา โดยมี ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ศ.น.สพ.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน และอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา และ รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศ.นพ.ธีระวัตน์ กล่าวว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1เอ็น1 (Influenza A H1N1) สายพันธุ์ใหม่ หรือ เอช1เอ็น1 2009 (H1N1 2009) อาจจะมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงเป็นระลอกที่สองได้ในอีกไม่ช้า และแพร่จากคนสู่คนได้มากขึ้น ซึ่งหากดูจากสถิติการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ที่ผ่านมา พบว่ามีการระบาดครั้งใหญ่รวม 4 ครั้งด้วยกัน ได้แต่ การระบาดในปี 1889, 1918, 1957 และ 1965 ซึ่งแต่ละครั้งนั้นเป็นการระบาดของเชื้อชนิดใหม่, การติดต่อจากคนสู่คนรวดเร็วมาก, ช่วงอายุของผู้ติดเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญคือเกิดขึ้นในฤดูกาลที่ไม่ใช่ฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

"ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 พบการระบาดในผู้ป่วยที่มีอายุระหว่าง 10-50 ปี ขณะที่ไข้หวัดสเปนที่ระบาดในปี 1918 พบในผู้ป่วยอายุ 20-45 ปี ทั้งนี้ ไข้หวัดใหญ่ทั่วไปจะมีอาการรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ไข้หวัดใหญ่ H1N1 สายพันธุ์ใหม่นั้นมีอาการหลายระดับ ตั้งแต่อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเหมือนไข้หวัดธรรมดา ไปจนถึงมีไข้สูงและอาการรุนแรงเหมือนไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่ว่าจะมีอาการรุนแรงหรือไม่รุนแรง ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้นจึงน่ากังวลมากกว่า เพราะอาจทำให้การตรวจคัดกรองในเบื้องต้นอาจมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แต่อาการไม่รุนแรงหลุดรอดไปได้" ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เผย

ด้าน ศ.ดร.พิไลพันธ์ กล่าวเสริมว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ยังมีอัตราการตายต่ำเพียง 0.1% แต่สามารถแพร่ระบาดได้ถึง 1 ใน 3 ของประชากร ฉะนั้นความน่ากลัวจึงอยู่ตรงที่การแพร่ระบาดเชื้อได้ง่าย และแม้ว่าอัตราการตายจะต่ำ แต่หากมีผู้ติดเชื้อนับพันล้านคน ก็อาจจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากมายมหาศาลได้เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับไข้หวัดสเปน

"อยากให้ยึดไข้หวัดสเปนเป็นบทเรียน เพราะการระบาดตอนแรกดูเหมือนจะสงบลงแล้ว แต่กลับมีการระบาดซ้ำ รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง ภายในระยะเวลาเพียง 10 เดือน และการระบาดในครั้งที่ 2 และ 3 นี้เองที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากหลายสิบล้านคน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มียารักษาเหมือนในปัจจุบัน ส่วนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในขณะนี้ เมื่อให้ยาเพียง 2-3 วัน อาการก็จะดีขึ้น แต่หากให้ยาจนครบตามขนาดแล้ว เชื้อก็ยังไม่ลดจำนวนลง โอกาสที่เชื้อจะดื้อยาก็มีความเป็นไปได้ ซึ่งแพทย์จะต้องตรวจสอบรหัสพันธุกรรมว่ามีการกลายพันธุ์หรือไม่ หรืออาจใช้วิธีเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสและนำมาทดสอบกับตัวยาโดยตรง แต่ขณะนี้ยังไม่พบการดื้อยา ฉะนั้นจึงไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไป" ศ.ดร.พิไลพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ นักวิจัยจากศิริราชพยาบาล แนะนำว่า สิ่งสำคัญที่ควรทำคือหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพราะเชื้อดังกล่าวติดต่อง่าย หากเริ่มรู้สึกป่วยเป็นไข้หวัดก็ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในต่างประเทศทำกันเป็นเรื่องปกติ แต่คนไทยยังเห็นเป็นเรื่องแปลก โดยในอนาคตอาจทำหน้ากากเป็นแฟชั่นที่มีรูปการ์ตูนหรือลวดลายสวยงามบนหน้ากากอนามัย เพื่อดึงดูดใจให้ประชาชนหันมาสนใจการใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อโรคอีกทางหนึ่ง รวมถึงการใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกันทั้งการรับประทานอาหารในบ้านและนอกบ้าน

ส่วน ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันยังไม่พบการดื้อยาของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แต่ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมผลิตยาซานามิเวียร์ (Zanamivir) สำหรับใช้ทดแทนยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivia) ในกรณีที่พบว่าเชื้อดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งแม้จะเป็นยาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่กลไกการดื้อยาของเชื้อดังกล่าวต่อยาทั้งสองแตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ควรใช้ยาโอเซลทามิเวียร์พร่ำเพรื่อเกินไป เพราะอาจทำให้เชื้อเกิดการดื้อยาเร็ว และจะทำให้ยาโอเซลทามิเวียร์ที่ผลิตไว้แล้วจำนวนมากสูญเปล่าได้

ขณะที่ ศ.น.สพ.รุ่งโรจน์ กล่าวเตือนว่า ผู้ที่ทำงานอยู่ในฟาร์มหมูก็ควรใส่หน้ากากอนามัยด้วย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจากคนสู่หมูดังที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศแคนาดา ส่วนไวรัสไข้หวัดหมูที่พบในประเทศไทยนั้นแตกต่างจากไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว อีกทั้งไม่เป็นอันตรายต่อคนด้วย แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดไวรัสสายพันธุ์ได้ เพราะในหมูมีตัวรับที่สามารถรับไวรัสจากคนหรือนกเข้าไปได้ และอาจเกิดการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนยีนระหว่างไวรัสจนกลายเป็นพันธุ์ใหม่ได้อีก

นอกจากนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ขณะนี้ได้ร่วมกับ ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยการรวบรวมข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวทั่วโลก จากข้อมูลของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH)

เมื่อนำมาสร้างแผนภูมิวิวัฒนาการของไวรัสหลังจากที่มีการแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน พบว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวนั้นมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 2 เดือน จากปกติที่ต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ แสดงให้เห็นว่าไวรัสชนิดนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงมีโอกาสกลายพันธุ์และดื้อยาได้ ซึ่งยังต้องติดตามศึกษากันต่อไปอีก แต่ขณะเดียวกันเราควรเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องยาและวัคซีน

ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน กล่าวอีกว่า ต้องติดตามรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศเม็กซิโกด้วยว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิตนั้น เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสเพียงอย่างเดียว หรือมีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนด้วย เนื่องจากพบว่าหลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยมีภาวะปอดบวม หายใจไม่ได้ และเสียชีวิตในที่สุด

แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ถึงสาเหตุการเสียชีวิตอย่างจริงจังว่าเป็นเพราะไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือแบคทีเรียนิวโมคอคคัสที่พบร่วมกับภาวะปอดบวม ทั้งนี้ หากพบว่าเสียชีวิตเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว ก็สามารถใช้วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรืออาจใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสร่วมด้วยได้ ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้อีกทางหนึ่ง.
ศ.น.สพ.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช (ซ้าย) และ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล (ซ้าย) และ ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น