“นพ.ยง ภู่วรวรรณ” เผย 4 พ.ค.นี้ จะได้รับตัวอย่าง “อาร์เอ็นเอ” ของไข้หวัดเม็กซิโกจากสหรัฐฯ พร้อมตรวจแยกไข้หวัดตามฤดูกาล หรือหวัดเม็กซิโก ด้าน วช.ให้ทุนหนุน 6 แสนบาท พัฒนาชุดตรวจที่มีรูปแบบเหมาะสมในการคัดแยก ด้านนักวิจัยระบุ สามารถคัดกรองไวรัสหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกได้
ระหว่างการแถลงข่าว “วช.กับการแก้วิกฤตโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ที่ระบาดในเม็กซิโก” เมื่อบ่ายวันที่ 1 พ.ค.52 ณ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก รวมทั้งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV- ผู้จัดการออนไลน์ ที่เข้าฟังการแถลงข่าวด้วยนั้น ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 4 พ.ค.นี้ จะได้รับชุดควบคุมในการตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากเม็กซิโก ซึ่งส่งตรงจากศูนย์ควบคุมโรค (Center Decease Control: CDC) ของสหรัฐฯ มาในรูป “อารเอ็นเอ” (RNA) ของเชื้อไวรัสดังกล่าว ซึ่งเป็นลักษณะของเชื้อที่ตายแล้วและไม่ก่อให้เกิดโรค เพื่อนำใช้ตรวจคัดแยกเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาลและเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่จากเม็กซิโก
หลังจากได้รับอาร์เอ็นเอมาแล้ว ศ.นพ.ยงระบุว่า จะทำการสกัดและ “โคลน” (clone) เพื่อเพิ่มจำนวน และใช้ตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ในวันที่ได้รับชุดควบคุมดังกล่าว พร้อมทั้งใช้ฐานข้อมูลชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) จากธนาคารยีน (genebank) ของโลก เพื่อพัฒนาชุดตรวจ
ทั้งนี้ชุดตรวจที่ทีมวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์พัฒนาขึ้นนั้น สามารถตรวจได้ว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่นั้น เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่จากเม็กซิโกหรือไม่ได้ภายใน 4 ชั่วโมง
อย่างไรก็ดีจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนเพื่อพัฒนาวิธีที่การที่เหมาะสมในการตรวจ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก วช.ประมาณ 600,000 บาท ซึ่งการตรวจจะใช้เสมหะของผู้ป่วยที่ต้องสงสัย หรือหากผู้ป่วยไม่มีเสมหะก็จะใช้วิธีการป้ายจมูก คอ เพื่อนำสารคัดหลั่งออกมาตรวจ
“โครงการที่จะทำคือโครงการพัฒนาชุดตรวจไข้หวัดใหญ่ เราใช้ชื่อกว้างๆ ก่อน เพราะเรายังตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 รวมทั้งยังสามารถตรวจสายพันธุ์อื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ทั้งนี้การระบาดของไข้หวัดใหญ่เป็นการระบาดโดยปกติอยู่แล้ว เราทราบอยู่แล้วว่าจะมีการระบาด แต่เราไม่ทราบว่าจะเกิดเชื้อชนิดใหม่จากที่ไหนบ้าง ถ้าเรามีนโยบายที่ดี มีการสนับสนุนที่ดี เชื่อว่าเราพร้อมจะต่อสู้กับโรคร้ายได้ เพราะนักวิทยาศาสตร์ของเราเก่งอยู่แล้ว และเรามีความพร้อมจากการรับมือไข้หวัดนก ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา เราไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกอีกเลย” ศ.นพ.ยงกล่าว
ระหว่างการแถลงข่าว ศ.นพ.ยงยังกล่าวด้วยว่า การระบาดของไข้หวัดใหญ่นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ในช่วงแรกของการระบาดเราไม่ทราบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากเม็กซิโกไม่มีการตรวจ จนกระทั่งพบผู้ป่วยที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ จึงได้ทราบว่าเป็นเชื้อชนิดใหม่ และมีการระบาดมาตั้งแต่เดือน มี.ค. ซึ่งโรคนี้มีเพียง “คน” เท่านั้นที่เป็นพาหะของโรค และมี “ประตู” ไม่กี่แห่งที่คนจะเข้ามา ถ้าหากเรามีมาตรการที่เข้มแข็ง มียามที่มีความสามารถก็สามารถป้องกันการระบาดของโรคได้
“ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 3-5 วัน บางครั้งวันเดินทางเราไม่ป่วยแต่อีก 2 วันป่วย สิ่งที่เรากลัวคือคนที่ป่วยไม่มากจะแพร่เชื้อให้กับคนที่มีภูมิคุ้มกันน้อย เราจึงต้องควบคุมคนที่ป่วย ถ้ามีอาการ จำเป็นต้องแยกผู้ป่วยก็ต้องแยก ในอังกฤษและนิวซีแลนด์เขากักตัวนักเรียนที่ไปเม็กซิโก ซึ่งถ้าไม่เกิดกรณีมีผู้ป่วยใหม่ในระยะ 2 เท่าของระยะฟักตัวของเชื้อคือ 7-10 วัน แสดงว่าเรามีมาตรการที่ดีมาก เราจะได้เรียนรู้จากเขาอีกครั้ง เราไม่อยากเห็นสภาพเชื้อกระจายไปเต็มที่แบบเม็กซิโก แล้วต้องสั่งปิดโรงเรียน สนามบิน สถานที่สาธารณะ เราไม่อยากเห็นประกาศภาวะฉุกเฉินอีกเป็นครั้งที่ 2 “ ศ.นพ.ยงกล่าว
ทางด้าน ดร.สัญชัย พยุงกร อาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงข้อมูลของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ในระหว่างแถลงข่าวว่า เราแบ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ 3 ชนิดคือ ชนิดเอ บี และซี โดยชนิดเอนั้นเป็นชนิดที่ร้ายแรงที่สุด ระบาดทุกปีและในทุกๆ 3-4 ปีจะระบาดใหญ่ 1 ครั้ง ในไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอนั้นมีรหัสพันธุกรรมทั้งหมด 8 ท่อน ซึ่งนำไปสร้างโปรตีนได้ 10 ชนิด ที่เปลือกนอกของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอมีโปรตีน HA (Haemagglutinin) ซึ่งบ่งความจำเพาะต่อโปรตีนที่ไวรัสจะเข้าไปจับ และโปรตีน NA (Neuraminidase) ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าไวรัสจะแพร่กระจายไปได้รวดเร็วเพียงใด
ทั้งนี้ไวรัสที่พบในสัตว์มีการปรับตัวให้ติดเชื้อข้ามสายพันธุ์มาสู่มนุษย์ได้ด้วยกลไกการเปลี่ยนแปลงหลักๆ 2 กระบวนการคือ การกลายพันธุ์ (Antigenic Drift) ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเนื่องจากเชื้อไวรัสมีสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอ ทำให้มีอัตราการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ทำให้ไวรัสในอดีตปรับตัวเรื่อยๆ จากทีไม่เคยติดในคนก็สามารถติดได้ และการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรม (Antigenic Shift) ซึ่งเซลล์เจ้าบ้านที่ติดเชื้อไวรัส 2 สายพันธุ์ในเซลล์เดียวกัน ทำให้ไวรัสที่ที่สารพันธุกรรมเป็นท่อนๆ และเป็นอิสระต่อกัน เกิดการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนสารพันธุกรรม ทำให้เกิดไวรัสลูกผสมที่มีคุณสมบัติแตกต่างจากไวรัสตั้งต้น โดยไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากเม็กซิโกนั้น เป็นไวรัสลูกผสมของไวรัสที่พบในคน ไก่และหมู
ส่วนรศ.กิจจา อุไรรงค์ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่าข้อมูลของสมาคมสัตวแพทย์สหรัฐฯ นั้น ยืนยันชัดเจนว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากเม็กซิโกนี้ไม่เคยระบาดหรือติดเชื้อในหมู และไข้หวัดในหมูนั้น 80-90% ของหมูที่รับเชื้อจะไม่แสดงอาการและไม่ระบาดมาสู่คน มีเพียง 1-2% เท่านั้นที่เสียชีวิตเนื่องจากอาการแทรกซ้อนและปอดบวม เพราะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่หมูไม่เพียงพอ
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่าสำนักงานได้ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยในโรคไข้หวัดใหญ่มาตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากการระบาดของไข้หวัดนก และในวันที่ 15 พ.ค.52 นี้ ทาง วช.จะจัดสัมมนา “วช.กับการแก้วิกฤติโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ที่ระบาดในเม็กซิโก” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวชั่น หลักสี่ เพื่อเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่ทาง วช. ให้สนับสนุน.