xs
xsm
sm
md
lg

แค่เรื่องใกล้ตัว ก็ทำเด็กรักเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้ง่ายๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ และคุณครูอาสาสมัคร สาธิตการเล่นเกมกลวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้หลอดหยดสารจมและลอยได้ในน้ำที่บรรจุอยู่เต็มขวดพลาสติก
วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด การสอนให้เด็กเข้าถึงวิทยาศาสตร์จึงไม่ใช่เรื่องยาก สำหรับคุณครูหรือผู้ปกครองเช่นกัน เพียงแค่หยิบยกเรื่องราวในชีวิตประจำวันหรือธรรมชาติรอบตัวมาสร้างบรรยากาศและกระตุ้นการเรียนรู้ให้หนูน้อยสนุกกับการค้นคว้าหาคำตอบได้ ก็อาจทำให้นักวิทย์น้อยในวันนี้เป็นนักวิทย์ที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต

ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 37 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การอบรมสัมมนาเรื่อง "การสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก : มิติใหม่แห่งการศึกษาปฐมวัย" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 52 โดยสำนักพิมพ์ในเครือแปลนสารา ซึ่งมีคุณครูอาจารย์เข้าร่วมการอบรมจำนวนมาก และมีวิทยากรหลายท่านมาร่วมแนะแนววิธีการสอนให้เด็กอยากเรียนรู้เรื่องราวในวิทยาศาสตร์

ผศ.ยงยุทธ จรรยารักษ์ จากภาควิชาพฤษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า มนุษย์ทุกคนมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่ในตัวเอง แต่ทักษะด้านวิทยาศาสตร์จะเกิดขึ้นเมื่อเรารู้จักสังเกตสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา แต่น่าเสียดายที่ระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันกลับทำลายความเป็นนักวิทยาศาสตร์นั้นลงโดยสิ้นเชิงด้วยการใช้ความรู้นำปัญญา แทนที่จะสร้างนักวิทยาศาสตร์ด้วยการใช้ปัญญานำความรู้

เพราะปัญญาเป็นบ่อเกิดของความรู้ทุกอย่าง ปัญญาเกิดจากกระบวนการคิดที่เราได้สังเกตสิ่งต่างๆ จะสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นได้ต้องพัฒนากระบวนการสังเกต การเรียนรู้ของเด็ก และจะเกิดความรู้ตามมา ซึ่งเด็กทุกคนช่างสงสัยและมีคำถามที่อยากรู้มากมายอยู่แล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่ห้องเรียน ความอยากรู้ของเด็กจะค่อยๆ ลดน้อยลง จนเหลือศูนย์เมื่อเด็กเรียนจบมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ เป็นเพราะระบบการเรียนการสอนมุ่งเน้นให้ครูยัดเยียดความรู้ให้เด็ก ทำให้เด็กถูกจำกัดอยู่ในกรอบ โดยขาดการกระตุ้นศักยภาพการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้ประเทศไทยทุกวันนี้แทบไม่มีนักวิทยาศาสตร์ที่ริเริ่มคิดค้นสิ่งใหม่ มีแต่นักเทคโนโลยีที่นำเอาสิ่งที่คนอื่นคิดค้นมาปรับเปลี่ยนให้ไม่เหมือนเดิม

"ครูอย่าด่วนอธิบายถ้าอยากให้เด็กรู้ ไม่อย่างนั้นจะทำให้เด็กตาบอด ถ้าอยากให้เด็กฟังก็อย่ารีบบอกจนหมด ไม่อย่างนั้นเด็กจะหูหนวก แต่ควรประเมินว่าเด็กสังเกตเห็นอะไรบ้าง รับรู้ได้แค่ไหน แล้วครูก็ค่อยๆ เพิ่มเติมเข้าไปทีละนิดโดยให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็นเพิ่มมากขึ้น" ผศ.ยงยุทธให้คำแนะนำ

พร้อมบอกว่าผู้ปกครองก็ต้องมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเด็กโดยจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมแก่การเรียนรู้ และเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะเด็กจะซึมซับจากผู้ปกครองได้มากถึง 90%

ด้าน ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) แนะนำคุณครูสอนวิทยาศาสตร์ให้เด็กในรูปแบบของกิจกรรมหรือการเล่นต่างๆ เช่น การพับกระดาษ การเล่นกลวิทยาศาสตร์ หรือการจำแนกความแตกต่างของรูปภาพ ซึ่งเด็กจะมีจินตนาการและมุมมองที่หลากหลายมากกว่าที่ผู้ใหญ่มองเห็น เป็นการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก และฝึกทักษะในการจำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ

การรีไซเคิลขยะก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยสอนวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี เพื่อให้เด็กเรียนรู้เรื่องการจำแนกไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม (รีไซเคิล = การจำแนกประเภท+การรักษาสิ่งแวดล้อม+...) หรือการเก็บรวบรวมลวดเย็บกระดาษที่ใช้แล้ว ซึ่งเมื่ออยู่โดดเดี่ยวอาจดูน้อยนิด แต่เมื่อรวมกันมากขึ้นก็สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และแม้ว่าจะมีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ไม่มากมาย แต่เป็นจุดเริ่มของการคิดสร้างสรรค์ในอนาคต

นอกจากนั้นการฝึกหัดถ่ายภาพพืชสัตว์ในธรรมชาติรอบๆตัว ระหว่างคุณครูหรือผู้ปกครองและเด็กๆ ก็ช่วยกระตุ้นความสนใจในวิทยาศาสตร์ให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็นได้ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เราพบกับสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน และทำให้เด็กได้สนุกกับกระบวนการเรียนรู้เพื่อหาคำตอบให้ตัวเอง ทั้งจากผู้รู้ หนังสือ หรืออินเทอร์เน็ต

ส่วนคณะคุณครูจากโรงเรียนสยามสามไตรนำ "การสอนวิทยาศาสตร์แบบมาทาล" มาแนะนำให้คุณครูผู้เข้าอบรมได้รู้จักและนำไปใช้กัน โดยเป็นวิธีการสอนวิทยาศาสตร์จากประเทศอิสราเอล ที่มีแนวคิดสอนการสืบสวนสอบสวน ฝึกให้เด็กเข้าใจในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และวิธีการพิสูจน์ได้ด้วยตัวเองว่าความรู้ที่ได้รับนั้นเป็นเรื่องจริง มีใจเปิดกว้าง เผชิญหน้ากับความล้มเหลวได้โดยการเข้าใจตามความจริง

คุณครูแนะนำว่าให้เด็กเรียนรู้จากเรื่องราวในชีวิตประจำวัน สิ่งที่อยู่ใกล้ตัว และธรรมชาติรอบตัว เช่น วันทั้ง 7 ใน 1 สัปดาห์, สิ่งของหรือเศษวัสดุๆ และต้นไม้ใบหญ้ารอบตัว ซึ่งจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ทั้งภาษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกับ เด็กได้ฝึกการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว ฝึกการเรียนรู้ รู้จักแยกแยะและจำแนกหมวดหมู่ของสิ่งต่างๆ ตามลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง สีสัน ขนาด หรือพื้นที่ เป็นต้น

ทั้งนี้ คุณครูผู้สอนจะต้องให้โอกาสเด็กได้สัมผัสด้วยตัวเองโดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมด และเขาจะรับรู้ได้ด้วยใจ โดยไม่สำคัญว่าถูกหรือผิด แต่เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ ได้ใช้ความคิดและจินตนาการของเขาเอง เพื่อกระตุ้นให้เขาอยากเรียนรู้ต่อๆ ไป.
ผศ.ยงยุทธ จรรยารักษ์
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ
คณะคุณครูจากโรงเรียนสยามสามไตรยกตัวอย่าง แก้วน้ำ 1 ใบ ก็สอนวิทยาศาสตร์ได้และกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ตั้งมากมาย
คุณครูระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมการอบรมสัมมนา การสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก กันมากมาย
ภาพไหนไม่เข้าพวก ของ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ แค่นี้ก็สอนวิทยาศาสตร์ให้เด็กได้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น