xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเดินหน้าวิจัยมรสุมร่วมกับจีน หวังนำข้อมูลใช้วางแผนปลูกข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง (ขวา) และนางสุปราณี จงดีไพศาล
สกว. ได้ข้อสรุปหลังประชุมร่วมกับนักวิจัยจีน 2 วัน เล็งวิจัยลมมรสุมร่วมกันเป็นอันดับแรก เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน และได้รับผลกระทบด้วยกันทั้ง 2 ประเทศ เตรียมศึกษาตั้งแต่กลไกการเกิดมรสุม จนทำนายระยะฝนทิ้งช่วงได้ หวังใช้เป็นข้อมูลวางแผนด้านเกษตรกรรมในภูมิภาค

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการประชุมวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 1 (The First China - Thailand Joint Seminar on Climate Change) ร่วมกับ สำนักงานให้ทุนสนับสนุนการวิจัยของสาธารณรัฐประชาชนจีน (National Natural Science Foundation of China: NSFC) ระหว่างวันที่ 23-24 มี.ค.52 ที่โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และหารือแนวทางการร่วมมือวิจัยระหว่าง 2 ประเทศในการแก้ไขปัญหาและรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

หลังเสร็จสิ้นการประชุมในวันสุดท้าย ผศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง ผู้ประสานงานชุดโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อประเทศไทย ของ สกว. แถลงต่อสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ถึงผลการประชุมว่า ไทยและจีนจะร่วมมือกันวิจัยในระยะยาวด้วย 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมรสุม, วิจัยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับคาดการณ์สภาพภูมิอากาศในอนาคต และศึกษาวัฏจักรคาร์บอนและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

"โครงการที่จะเริ่มต้นศึกษาก่อนเป็นอันดับแรกคือ การวิจัยเกี่ยวกับมรสุม เพราะทั้งไทยและจีนได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเช่นเดียวกัน โดยจะศึกษาตั้งแต่กลไกการเกิดมรสุม ปัจจัยที่มีผลต่อมรสุม การเปลี่ยนแปลงของมรสุมในอดีตที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง การเปลี่ยนแปลงในอนาคตมีแนวโน้มไปในทิศทางไหน และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อแหล่งน้ำและการเกษตรในภูมิภาค" ผศ.ดร.อำนาจกล่าว

นักวิจัย สกว. บอกอีกว่า ข้อมูลที่ได้จากการศึกษามรสุมจะทำให้เราคาดการณ์ได้แม่นยำขึ้นว่ามรสุมจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหน หรือระยะเวลาที่ฝนทิ้งช่วงในแต่ละคราวจะยาวนานเท่าใด แล้วสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนการเพาะปลูกพืชได้ โดยเฉพาะการปลูกข้าว ที่ปลูกมากทั้งในไทยและจีน รวมถึงอีกหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน

ส่วนการพัฒนาแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของจีนมีการศึกษาแบบจำลองที่ก้าวหน้ามาก แต่จะร่วมกันพัฒนาแบบจำลองให้เหมาะสมต่อการทำนายสภาพอากาศในอนาคตของภูมิภาคแถบนี้ได้ละเอียดแม่นยำมากขึ้น

"สำหรับการศึกษาวัฏจักรคาร์บอนนั้นมีความจำเป็นมาก เนื่องจากคาร์บอนเป็นส่วนประกอบสำคัญของก๊าซเรือนกระจก ถ้าเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับวัฏจักรคาร์บอนมากยิ่งขึ้น จะทำให้เรารู้ว่าการหมุนเวียนของคาร์บอนเป็นอย่างไร มีการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศปริมาณเท่าไหร่ และถูกกักเก็บไว้ในดิน ในป่าไม้เท่าไหร่" ผศ.ดร.อำนาจ อธิบาย

ทั้งนี้ การศึกษาวัฏจักรคาร์บอน จะต้องมีการติดตั้งสถานีตรวจวัดคาร์บอนในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมมากเพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมา สกว. ก็ได้สนับสนุนการวิจัยวัฏจักรคาร์บอนมาบ้างแล้ว เช่น ในป่ายางพารา ไร่อ้อย และนอกจากนี้จะยังศึกษาด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงใดบ้างส่งผลกระทบต่อวัฏจักรคาร์บอน และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวัฏจักรคาร์บอนจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือจะเพิ่มความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนไว้ในป่าได้มากน้อยแค่ไหน

ด้านนางสุปราณี จงดีไพศาล ผอ.ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกว. กล่าวว่า หลังจากเริ่มต้นร่วมมือกันศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าวแล้ว สกว. และ NSFC จะจัดประชุมร่วมกันทุกๆ ปี เพื่อรายงานความก้าวหน้าในงานวิจัยแต่ละโครงการ และจะจัดให้มีกิจกรรมอื่นด้วย เช่น การแลกเปลี่ยนนักเรียนและนักวิจัย และจัดประชุมวิชาการร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา

"สิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากความร่วมมือกับจีนคือการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของนักวิจัยในทั้งสองประเทศ และข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนทำการเกษตรในภูมิภาค เพื่อรักษาความสามารถในการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลกไว้ในอนาคต อีกทั้งยังเป็นข้อมูลสำหรับนำเสนอต่อสหประชาติในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนในระดับโลกต่อไปได้" นางสุปราณี กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น