xs
xsm
sm
md
lg

สกว. ร่วมมือจีนศึกษาลมมรสุม พร้อมพัฒนาโมเดลทำนายสภาพอากาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง
นักวิจัยไทย-จีน ร่วมประชุมหารือ เตรียมกำหนดแนวทางวิจัยร่วมแก้ปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยน นักวิชาการ สกว. เผย 2 ประเทศมีภูมิศาสตร์ใกล้เคียงกัน เล็งวิจัยลมมรสุมเพราะกระทบทั้งคู่ ศึกษาวัฏจักรคาร์บอนและพฤติกรรมของป่า พร้อมพัฒนาโมเดลคาดการณ์ ระบุไทยมีข้อมูลในอดีตน้อยมาก แนะรัฐให้ตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลทำนายอนาคตได้แม่นยำยิ่งขึ้น

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการประชุมวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 1 (The First China - Thailand Joint Seminar on Climate Change) ร่วมกับ สำนักงานให้ทุนสนับสนุนการวิจัยของสาธารณรัฐประชาชนจีน (National Natural Science Foundation of China: NSFC) เมื่อวันที่ 23 มี.ค.52 ที่โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมีนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของทั้ง 2 ประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก

ผศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง ผู้ประสานงานชุดโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อประเทศไทย ของ สกว. เปิดเผยต่อสื่อมวลชน และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า ในการจะแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน จำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยและจีนอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน น่าจะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ดี ซึ่งจีนได้ศึกษาวิจัยไปเยอะแล้ว และไทยสามารถเรียนรู้จากจีนได้ เพราะภูมิอากาศบางส่วนมีความคล้ายคลึงกัน

"ประเทศจีนมีขนาดกว้างใหญ่ นักวิจัยจีนก็เก่งในเรื่องการมองภาพรวม ซึ่งจีนมีการศึกษาแบบจำลองทำนายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรคาร์บอน ศึกษาสาเหตุการเกิดและการเปลี่ยนแปลงของลมมรสุม โดยพิจารณาปัจจัยหลายด้าน ทั้งพื้นที่ป่า อุณหภูมิของน้ำทะเล การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงการจัดการพื้นดิน และการพัฒนาสังคมเมือง เป็นต้น" ผศ.ดร.อำนาจ สรุปรูปแบบการศึกษาวิจัยในประเทศจีน

ผศ.ดร.อำนาจ กล่าวอีกว่าสำหรับความร่วมมือระหว่างไทยและจีนนั้นได้มองไว้ 3 ประเด็นหลัก ได้แต่ การศึกษาเรื่องมรสุม ซึ่งมีผลกระทบต่อทั้งสองประเทศ ทั้งมรสุมที่มาจากมหาสมุทรอินเดียและมรสุมจากประเทศจีน, การพัฒนาแบบจำลองผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีการทำมาแล้วหลายแบบจำลอง และต้องศึกษาว่าแบบจำลองใดมีความเหมาะสมและพัฒนาให้คาดการณ์ได้แม่นยำมากขึ้น สุดท้ายคือเรื่องการศึกษาวัฏจักรคาร์บอน

นักวิจัยของ สกว. ยกตัวอย่างว่า ขณะนี้จีนกำลังศึกษาการเกิดฝนตกหนักในประเทศจีนว่ามีกลไกการเกิดอย่างไร เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และมีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดมรสุม สำหรับการเกิดมรสุมในประเทศไทยนั้นไม่มีความแน่นอน ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่บ้าง และไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจน ซึ่งการศึกษาการเกิดมรสุมนั้นจะช่วยให้เราสามารถปรับแนวทางการใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนการศึกษาวัฏจักรคาร์บอน นักวิจัยไทยมีความเชี่ยวชาญในด้านชีววิทยาของต้นไม้อยู่แล้ว แต่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมจากจีนในการศึกษาวัฏจักรคาร์บอนในระดับป่า โดยดูว่าพฤติกรรมของป่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างต่ออุณหภูมิของโลก และปัจจัยอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบต่อวัฏจักรคาร์บอนอย่างไรบ้าง

ด้านนางสุปราณี จงดีไพศาล ผอ.ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกว. กล่าวถึงการศึกษาแบบจำลองผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศว่า การศึกษาแบบจำลองในไทยขณะนี้มีประมาณ 4 แบบจำลอง แต่ข้อมูลยังไม่มีความแน่นอน ซึ่งการจะคาดการณ์อนาคตต้องเทียบเคียงข้อมูลจากอดีต แต่ข้อมูลของไทยนับย้อนหลังได้ประมาณ 56 ปี ขณะที่ในบางประเทศมีข้อมูลสภาพอากาศย้อนหลังนับพันปี

"จุดอ่อนของไทยในการศึกษาแบบจำลองคือยังมีข้อมูลในอดีตไม่มากพอ และไม่ครอบคลุมพื้นที่ทุกภาคส่วนในประเทศ จากการที่เราศึกษาแบบจำลองมาได้ระยะหนึ่งพบว่า หากจะคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในอนาคตให้ได้อย่างแม่นยำ รัฐต้องสนับสนุนให้จัดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศให้มากขึ้นกว่านี้ ซึ่งในระยะสั้นจะสามารถบอกความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในระยะยาวจะทำให้เรามีข้อมูลสำหรับคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำ" นางสุปราณี กล่าว

ผอ.ฝ่ายสวัสดิภาพฯ ยังกล่าวอีกว่าการศึกษาแบบจำลองในประเทศเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องมีข้อมูลของประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศเพื่อนบ้านก็อาจส่งผลกระทบต่อประเทศเราด้วย ซึ่งการร่วมมือกับจีนในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระยะยาวเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน
นางสุปราณี จงดีไพศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น