xs
xsm
sm
md
lg

วช. เล็งส่งนักวิจัยไปคอร์เนล ร่วมหาทางยืดอายุนมโรงเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วช. จัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัยการพัฒนาคุณภาพน้ำนมและฟาร์มโคนมในประเทศไทยที่พร้อมเผยแพร่สู่เกษตร โดยมีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐฯ มาร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยโคนมในสหรัฐฯด้วย
ทีมนักวิจัยจากคอร์เนล เผยวิธียืดอายุนมพาสเจอร์ไรซ์ได้เป็น 21 วัน ด้วยการลดจุลินทรีย์และโซมาติกเซลล์ในน้ำนมดิบให้น้อยลง วช. เล็งส่งนักวิจัยไทยไปร่วมศึกษา หวังนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับนมโรงเรียนในบ้านเรา

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดสัมมนาเรื่อง "งานวิจัย วช. โอกาสการพัฒนาศักยภาพโคนมของประเทศ" เมื่อวันที่ 26 มี.ค.52 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน โดยมีนักวิจัยด้านคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำนม จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐฯ ร่วมบรรยายให้ความรู้แก่นักวิจัยและเกษตรกรโคนมของไทย ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ร่วมฟังด้วย

ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การเลี้ยงโคนมของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น ปัญหาสุขภาพของโคนม อัตราการผสมพันธุ์ต่ำ คุณภาพน้ำนมดิบที่ได้ต่ำลง ทำให้ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศ เข้ามาบริโภคเป็นจำนวนมาก และขยายตัวมากขึ้นทุกปี ทำให้การผลิตภายในประเทศไม่สามารถทดแทนการนำเข้าได้มากนัก

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในปี 50 วช. จึงได้สนับสนุนการวิจัยประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านอาหารเลี้ยงโคนม การปรับปรุงการผสมพันธุ์ การลดต้นทุนการผลิต และการจัดการฟาร์มโคนมให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งสิ้น 13 โครงการ ซึ่งเสร็จเรียบแล้วและพร้อมเผยแพร่สู่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศที่มีมากกว่า 2 หมื่นราย และโคนมกว่า 3 แสนตัว

ด้านทีมนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำนม จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐฯ ที่ประกอบด้วย ดร.เคธริน เจ บอร์ (Prof. Dr.Kathryn J. Boor) ดร.มาร์ติน เวดแมนน์ (Dr.Martin Wiedmann) และ ดร.เคนดรา เคอร์ ไนติงเกล (Dr.Kendra Kerr Nightingale) ให้ข้อมูลว่าในนิวยอร์กเมื่อปี 2515 เคยเกิดปัญหานมโรงเรียนมีคุณภาพไม่ดี ส่งผลให้เด็กและประชาชนดื่มนมกันน้อยลง และทำให้ตลาดน้ำนมแคบลงด้วย

ดังนั้นจึงได้มีการจัดตั้ง โครงการพัฒนาคุณภาพนมโรงเรียนขึ้นในมลรัฐนิวยอร์ก (New York State Milk Quality Improvement) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและขยายตลาดน้ำนมให้กว้างขึ้น ซึ่งมีการศึกษาวิจัยกันในทุกกระบวนการผลิตน้ำนม วิเคราะห์ชนิด ปริมาณ และแหล่งที่มาของจุลินทรีย์ในน้ำนมดิบและนมพาสเจอร์ไรซ์ ทำให้ตรวจสอบได้ว่า การปนเปื้อนจุลินทรีย์ในน้ำนมเกิดขึ้นเมื่อใด จนพบวิธีการควบคุมปริมาณจุลินทรีย์และโซมาติกเซลล์ในน้ำนมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งทำให้สามารถยืดอายุนมพาสเจอร์ไรซ์ได้นานขึ้นถึง 21 วัน ที่อุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส จากปรกติเก็บได้ 5-7 วัน

ปัจจุบันในสหรัฐฯ มีหน่วยงานที่ทำงานด้านปรับปรุงและรับประกันคุณภาพน้ำนมให้ได้มาตรฐานจำนวน 6 ศูนย์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายมุ่งให้ประชาชนดื่มนมกันมากขึ้นและพัฒนาคุณภาพน้ำนมให้ดีขึ้น โดยการศึกษาวิจัยตั้งแต่ระดับพื้นฐาน และเผยแพร่สู่ภาคเอกชน พร้อมกับเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาด้วย

เลขาธิการ วช. กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์เพิ่มเติมว่า โครงการนมโรงเรียนเป็นเรื่องดีที่จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กไทยได้รับอาหารที่มีประโยชน์ มีโปรตีนสูง แต่จะต้องทำให้มีคุณภาพด้วย และหากเราผลิตน้ำนมดิบได้มากเพียงพอ ก็จะช่วยลดการนมเข้านมผงได้

ทั้งนี้ วช. มีโครงการวิจัยร่วมกับคอร์เนล โดยจะสนับสนุนให้นักวิจัยไทยไปศึกษาการพัฒนาคุณภาพนมโรงเรียนร่วมกับคอร์เนล ซึ่งเขาสามารถยืดอายุนมพาสเจอรไรซ์ได้ถึง 21 วัน แต่เราจะต้องไปศึกษาวิธีการว่าจะนำมาปรับใช้อย่างไรให้เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะในบ้านเรามีอุณหภูมิสูงกว่า และมีข้อกำหนดให้เก็บนมที่อุณหภูมิไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส
ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช
กำลังโหลดความคิดเห็น