เปิดศักราชใหม่กับความคึกคักของวงการดาราศาสตร์ ที่ค้นพบดาวเคราะห์ใหม่ถึง 5 ดวง เป็นผลงานแรกของ “กล้องเคปเลอร์” ของนาซาที่เพิ่งส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปีที่ผ่านมา บางดวงใหญ่กว่าดาวพฤหัส และร้อนยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะ
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler Telescope) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่ถูกส่งขึ้นไปตั้งแต่ 6 มี.ค.09 จากสถานีกองทัพอากาศสหรัฐในแหลมคานาเวอรัล ฟลอริดา สหรัฐฯ ได้พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะนอกโลก 5 ดวง ซึ่งได้รับการตั้งชื่อว่า เคปเลอร์ 4บี, เคปเลอร์ 5บี, เคปเลอร์ 6บี, เคปเลอร์ 7บี และเคปเลอร์ 8บี โดยแต่ละดวงใหญ่กว่ารัศมีของโลกตั้งแต่ 4 เท่าไปจนถึง 16 เท่า และอยู่ในขนาดพอๆ กับดาวพฤหัสบดี
การค้นพบตั้งกล่าวเป็นผลงานแรกของกล้องเคปเลอร์ โดยดาวเคราะห์ทั้ง 5 ดวงเป็นที่รู้จักอีกชื่อว่า “ดาวพฤหัสแสนร้อน” (hot Jupiter) เนื่องจากมีมวลมากและอุณหภูมิร้อนอย่างยวดยิ่ง โดยไซน์เดลีระบุว่ามีอุณหภูมิเฉลี่ยตั้งแต่ 1,200-1,650 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนกว่าลาวาที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งดาวเคราะห์แต่ละดวงต่างโคจรรอบดาวฤกษ์คนละดวง และมีคาบโคจรที่สั้นมาก เพียง 3.3-4.9 วัน
ด้านบีบีซีนิวส์ระบุว่า เคปเลอร์ 7บีนั้น สร้างความแปลกใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์หลายๆ คน เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่หนาแน่นน้อยที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ โดยมีความหนาแน่นอยู่ที่ประมาณ 0.17 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่ง บิลล์ โบรูกี (Bill Borugi) นักวิทยาศาสตร์แถวหน้าในโครงการเคปเลอร์จากศูนย์วิจัยเอมส์ (Ames Research Center) ของนาซากล่าวว่าความหนาแน่นเฉลี่ยของดาวพอๆ กับโฟม
ก่อนหน้านี้กล้องโทรทรรศน์บนโลก ได้ยืนยันการมีอยู่ของดาวเคราะห์ทั้ง 5 แต่สัญญาณของดาวบ่งบอกว่าเป็นวัตถุอย่างอื่นมากกว่าจะเป็นดาวเคราะห์ โดยอาจจะเป็นดาวฤกษ์ดวงเล็กๆ ที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ดวงที่ใหญ่กว่า ส่วนการค้นพบครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากกล้องเคปเลอร์ที่บันทึกต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ นับแต่เริ่มทำงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พ.ค.09 และได้สำรวจดวงดาวไปแล้วกว่า 150,000 ดวง
ทั้งนี้กล้องเคปเลอร์ถูกออกแบบมาให้ค้นหาดาวเคราะห์ที่มีขนาดเท่ากับโลก อยู่ในโซนที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต แล้วด้วยอุปกรณ์กล้องถ่ายรูปขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยส่งขึ้นสู่อวกาศ เคปเลอร์จะค้นหาสัญญาณการหรี่ความสว่างของดาวฤกษ์ เมื่อมีดาวเคราะห์ผ่านหน้าหรือที่เรียกว่า “ทรานซิท” (Transit) ซึ่งเมื่อมองจากโลก ความสว่างของดาวฤกษ์เหล่านั้นจะถูกบดบัง ซึ่งปริมาณความสว่างที่ลดลงนี้สามารถนำไปคำนวณหาขนาดของดาวเคราะห์ได้ ส่วนอุณหภูมิคำนวณได้จากลักษณะดาวฤกษ์ที่ดาวเคราะห์นั้นโคจรร่วมกับคาบในการโคจรของดาวเคราะห์
กล้องเคปเลอร์จะทำงานต่อเนื่องไปถึงเดือน พ.ย.12 เป็นอย่างน้อย เพื่อค้นหาดาวเคราะห์ที่มีขนาดเล็กเท่าๆ กับโลก รวมถึงดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์อยู่ในโซนอบอุ่นและเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต รวมทั้งเป็นดาวที่มีน้ำอยู่บนพื้นผิวของดาวเคราะห์ และเหตุผลที่ต้องใช้เวลาถึง 3 ปีเพราะดาวเคราะห์ที่เข้าข่ายในคุณสมบัติที่ต้องการนั้นจะผ่านหน้าดาวฤกษ์เพียงปีละครั้ง และต้องสำรวจซ้ำ 3 ครั้ง เพื่อยืนยันข้อมูล
อย่างไรก็ดีเอพีอ้างข้อมูลจากโบรูกีว่า ในจำนวนดาวเคราะห์ทั้ง 5 ดวงนั้นมีดาวเคราะห์ 2 ดวงซึ่งมีอุณหภูมิสูงสุดนั้น ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นดาวเคระาห์หรือดาวฤกษ์ เนื่องจากร้อนเกินกว่าจะเป็นดาวเคราะห์และเล็กเกินกว่าจะเป็นดาวฤกษ์ได้ ซึ่งจากข้อมูลของนาซาดาวที่ร้อนที่สุดคือ ดาวเคปเลอร์ 5 บีที่มีอุณหภูมิ 1,600 องศาเซลเซียส และดาวเคปเลอร์ 8บี ที่มีอุณหภูมิ 1,500 องศาเซลเซียส
พร้อมกันนี้ยังมีสมมติฐาน 2 ข้อที่จะอธิบายถึงดาวลึกลับทั้งสองดวงคือ ข้อแรกเป็นสมมติฐานจาก เจสัน โรว์ (Jason Rowe) นักวิจัยของนาซาซึ่งร่วมค้นพบดาวดวงใหม่ครั้งนี้ของปฏิบัติการกล้องเคปเลอร์ โดยโรว์แนะว่าดาวลึกลับที่ว่านั้นอาจจะเป็นดาวเกิดใหม่ ซึ่งปกติจะมีอุณหภูมิอย่างยิ่งอยู่แล้ว และคาดว่าน่าจะเป็นดาวที่อายุประมาณ 200 ล้านปี
ส่วนอีกสมมติฐานหนึ่งมาจาก โรนัลด์ กิลลิแลนด์ (Ronald Gilliland) จากสถาบันวิทยาการกล้องโทรทรรศน์อวกาศ (Space Telescope Science Institute) สหรัฐฯ ซึ่งตั้งสมมติฐานว่า ดาวเหล่านั้นอาจเป็นดาวแคระขาวที่กำลังจะตายและค่อยๆ ถอดเปลือกชั้นออก และหดตัวลง
“เอกภพทำสิ่งแปลกที่แปลกประหลาดเกินกว่าเราจะจินตนาการได้” จอน มอร์ส (Jon Morse) หัวหน้านักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ของนาซาให้ความเห็น เช่นเดียวกันที่ อลัน บอสส์ (Alan Boss) จากสถาบันคาร์เนกีในวอชิงตัน (Carnegie Institute of Washington) สหรัฐฯ ที่กล่าวว่า อวกาศเต็มไปด้วยสิ่งแปลกประหลาด