นาซาเตรียมยิงจรวดส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศขึ้นฟ้า ปฏิบัติภารกิจค้นหาดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง ดวงดาวและกาแลกซีอื่นที่ไม่เคยพบมาก่อน ด้วยภารกิจหลักคือ ทำบัญชีรายชื่อวัตถุเข้าใกล้โลกที่อาจเป็นอันตราย
กล้องโทรทรรศน์อวกาศสำหรับแผนที่ห้วงอวกาศ “ไวส์” (WISE: Wide-Field Infrared Survey Explorer) ซึ่งเป็นกล้องสำรวจในย่านรังสีอินฟราเรดขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) พร้อมออกเดินทางสู่อวกาศในวันที่ 11 ธ.ค.52 นี้ จากฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก (Vandenberg) ของสหรัฐฯ ในชายฝั่งตอนกลางของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยจรวดเดลตา 2 (Delta 2)
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนแล้ว กล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์จะโคจรรอบโลกที่ระดับความสูง 520 กิโลเมตร และทำแผนที่จักรวาลที่ละเอียดที่สุดเท่าที่เคยมี โดยกล้องไวส์ถูกออกแบบให้ตรวจหาวัตถุ ที่ให้แสงอินฟราเรดหรือความร้อนออกมา และแสงอินฟราเรดนี้ เป็นสำคัญสำหรับการค้นพบวัตถุที่เป็นฝุ่นผง เย็นจัดและอยู่ห่างไกล ซึ่งมักจะค้นไม่พบโดยกล้องโทรทรรศน์ที่บันทึกแสงในย่านที่ตามองเห็น
เอ็ดวาร์ด ไรท์ (Edward Wright) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในลอสแองเจลลิส (University of California, Los Angeles) สหรัฐฯ กล่าวว่า ปฏิบัติการนี้ได้รับการคาดหวังว่า จะค้นพบวัตถุที่ยากจะมองเห็นได้นับล้านๆ ชิ้น
“มันเป็นปฏิบัติการที่สำรวจทุกสิ่งที่อยู่นอกโลกจริงๆ สิ่งที่เรากำลังพยายามที่จะทำคือ สร้างแผนที่ของเอกภพ” ไรท์กล่าว
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายประมาณว่า กล้องไวส์ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อสำรวจอวกาศทั้งหมด โดยจะโคจรรอบโลก 15 ครั้งต่อวัน และถ่ายภาพในย่านอินฟราเรด 4 ความยาวคลื่น ทั้งหมด 7,500 ภาพ และจะทำบัญชีของตำแหน่งและขนาดของวัตถุที่เข้าใกล้โลก เช่น ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อโลกได้
กล้องโทรทรรศน์อวกาศนี้ ยังจะสำรวจหาดาวตายแล้วที่เรียกว่า “ดาวแคระน้ำตาล” (brown dwarf) ซึ่งเป็นก๊าซที่ไม่อาจรวบรวมมวลให้เพียงพอเพื่อเป็นเชื้อไฟนิวเคลียร์ ที่ช่วยให้ดาวส่องสว่างได้ อีกทั้งยังสำรวจหากาแลกซีซึ่งส่องสว่างสุกใสกว่าดวงอาทิตย์แสนล้านดวง
สำหรับโครงการนี้ บริหารจัดการโดยห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory ) ของนาซา ด้วยงบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และกล้องไวส์จะทำงานร่วมกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศอินฟราเรดอื่นๆ ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ คือ กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (pitzer Space Telescope) ของนาซา และ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเฮอร์สเชล (Herschel Space Observatory) ขององค์การอวกาศยุโรป (อีซา) แม้ว่ากล้องทั้งสองจะมีเป้าหมายที่ต่างกับกล้องไวส์
ผู้จัดการโครงการกล่าวว่า กล้องไวส์มีความไวมากกว่าดาวเทียมอินฟราเรด (Infrared Astronomical Satellite) ที่เคยส่งขึ้นไปเมื่อปี 2526 หลายร้อยเท่า ซึ่งดาวเทียมดวงเก่านั้นเป็นความร่วมระหว่างสหรัฐฯ อังกฤษและเนเธอร์แลนด์ และปฏิบัติการครั้งนั้นสามารถค้นพบดาวหางได้ทั้งหมด 6 ดวง และพบแถบฝุ่นขนากมหึมารอบๆ ดวงดาวอันไกลโพ้นหลายดวง
ทั้งนี้ ดาวเทียมอินฟราเรดนั้นปฏิบัติภารกิจสำรวจอวกาศเป็น 10 เดือน ก่อนที่จะหยุดทำงานเมื่อสารหล่อเย็นหมด และคาดว่ากล้องไวส์ก็คงมีจุดจบ