xs
xsm
sm
md
lg

น้ำบนดวงจันทร์ กับการแสวงหาพิภพใหม่ของมนุษยชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากโลกย่อยยับนับครั้งไม่ถ้วน ตามปริมาณรอบฉายของภาพยนตร์โลกแตก ‘2012’ เราไม่อาจรู้ได้ว่าความหวาดผวาของผู้คนพุ่งสู่ระดับไหนหรือว่ามองเป็นเรื่องขำๆ เพราะก่อนหน้านี้ ต้องบอกว่าวิธีการปั่นกระแสหนังของเขาแรงจริงๆ ขนาดว่า องค์การนาซา หรือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ยังต้องออกมาประกาศว่ายังไงๆ ปี 2555 โลกก็ยังไม่แตก

ห้วงเวลาไล่เลี่ยกัน ข่าวการค้นพบน้ำบนดวงจันทร์ของนาซาถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ ฉุดดึงเอาจินตนาการของผู้คนที่ค้างคาจากนิยายวิทยาศาสตร์ว่า อีกไม่นาน (ซึ่งไม่รู้ว่าแค่ไหน) มนุษย์อาจจะได้เดินทางไปอยู่อาศัยในพิภพใหม่ที่เรียกกันว่า ดวงจันทร์

เพื่อลดความหวาดผวาจากคำทำนายของชาวมายัน จะชวนไปตรวจสอบดูว่า การแสวงหาพิภพใหม่ บ้านใหม่ของมนุษยชาติเขาพัฒนาไปถึงไหนแล้ว

โครงการ ‘แอลครอสส์’

เมื่อในวันที่ 9 ตุลาคม ปี 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันไหว้พระจันทร์ของชาวจีน องค์การนาซาและประชากรโลกส่วนหนึ่ง ก็กำลังตื่นเต้นกับภารกิจการค้นหาน้ำบนดวงจันทร์

โครงการนี้ เป็นโครงการยักษ์ใหญ่ของนาซา ซึ่งใช้ชื่อว่าโครงการแอลครอสส์ (LCROSS-Lunar CRater Observation and Sensing Satellite) โดยนาซาทุ่มทุนให้โครงการนี้มากถึง 79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,686 ล้านบาท) ในการนำจรวดพุ่งเข้าชนดวงจันทร์ เพื่อสำรวจหาน้ำหรือโมเลกุลของน้ำใต้พื้นผิวดวงจันทร์

ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการนั้น แอนโทนี่ โคลาแพรต หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์โครงการแอลครอสส์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนตุลาคมนาซาได้ปล่อยจรวดเซนทอร์ น้ำหนัก 2,200 กิโลกรัม กับดาวเทียมแอลครอสส์ เข้าพุ่งชนหลุมคาเบียส บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ เพื่อค้นหาน้ำใต้พื้นผิว และจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลของเครื่องสเปกโตรมิเตอร์ ที่ติดตั้งอยู่บนดาวเทียมแอลครอสส์นั้น ได้ส่งข้อมูลกลับมายังฐานของนาซาบนพื้นโลก

ซึ่งเมื่อนำผลที่ได้มาประกอบกับการวิเคราะห์ภาพถ่ายจากอุปกรณ์อื่นๆ ก็พบว่า แรงระเบิดจากการพุ่งชนทำให้มองเห็นน้ำแข็งและไอน้ำพวยพุ่งออกมาจากปากหลุมที่มีขนาด 20-30 เมตร เบื้องต้นเชื่อว่า น้ำตรงจุดนี้มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม

"การพบแหล่งน้ำ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะนำนักบินอวกาศลงไปตั้งฐานบนดวงจันทร์ และสร้างแรงจูงใจให้รัฐบาลสหรัฐฯ ในการหันมาสำรวจดวงจันทร์อย่างจริงจังในอนาคตอันใกล้" โคลาแพรตระบุ

ส่วน ปีเตอร์ ชูลซ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยบราวน์และผู้ร่วมงานในโครงการแอลครอสส์ กล่าวว่า

"เราตื่นเต้นมากกับการค้นพบน้ำบนดวงจันทร์ เพราะเราเพิ่งเริ่มต้นระเบิดจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งเท่านั้น ว่าไปแล้วก็เหมือนกับเวลาขุดค้นหาน้ำมันบนพื้นโลก เมื่อไหร่ก็ตามที่พบน้ำในจุดนั้น ก็มีโอกาสสูงจะพบน้ำมันมากขึ้นอีกในจุดข้างเคียง"

แน่นอนว่า การค้นพบเล็กๆ ครั้งนี้ ย่อมทำให้นาซาและรัฐบาลสหรัฐฯ ตื่นตัวกับการค้นหาน้ำบนดวงจันทร์มากขึ้น ซึ่งในการแถลงข่าวสั้นๆ ณ NASA Ames Research Center ของโครงการนี้ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขากำลังมีเป้าหมายในการค้นหาน้ำในพื้นที่อื่นๆ อีก

สุดท้ายแล้ว ถึงแม้ ไมเคิล เวอร์โก หัวหน้าฝ่ายนักวิทยาศาสตร์ดวงจันทร์ ของสำนักงานใหญ่นาซา จะออกมาบอกว่าการค้นพบครั้งนี้อาจเป็นกุญแจสำหรับการค้นพบวิวัฒนาการของระบบสุริยจักรวาลและการสำรวจดวงจันทร์ แต่ก็เชื่อว่าเป้าหมายของนาซา คงไม่หยุดอยู่ที่การสำรวจเพียงเพื่อที่จะ 'รู้' แน่นอน

ดวงจันทร์ พิภพใหม่ของมนุษยชาติ

ใช่, การค้นพบน้ำบนดวงจันทร์ ย่อมไม่ได้แปลง่ายๆ ว่ามนุษย์ค้นพบน้ำบนดวงจันทร์ แต่มีความหมายแฝงที่ไกลกว่า มันหมายถึงอนาคตที่ดวงจันทร์จะเป็นพิภพแห่งใหม่ของมนุษยชาติ และไกลกว่าไกลยิ่งกว่านั้น ดวงจันทร์จะเป็นเสมือนหน้าด่านแห่งการสำรวจระบบสุริยจักรวาล การสำรวจดาวอังคาร การสำรวจดวงจันทร์ไตตัน บริวารของดาวเสาร์ และในอนาคตอันไกล สถานที่ที่เอ่ยชื่อเหล่านี้อาจหมายถึงพิภพแห่งใหม่ที่มนุษย์จะไปอาศัยอยู่

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล นักวิทยาศาสตร์ นักเขียน และนักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ดีเด่นปี 2538 บอกว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ คือการตรวจสอบ วิเคราะห์ผลที่ได้ให้ชัดเจนกว่านี้ เพื่อนำไปสู่การวางแผนนำมนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์ ภายในปี 2563 ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจหมายถึงการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์

“การพบน้ำบอกอะไรเราหลายอย่าง เมื่อปี 2512 เราส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ครั้งแรก และต่อๆ มา แต่ทำไมเพิ่งมาเจอ คือทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องน้ำบนดวงจันทร์ที่ค่อนข้างเป็นทฤษฎีหลัก คือดวงจันทร์ไม่มีน้ำด้วยตัวเอง น้ำบนดวงจันทร์เกิดเองไม่ได้

“แล้วน้ำบนดวงจันทร์มาจากไหน ตอนนี้ทฤษฎีที่ใช้กันมากคือน้ำมาจากการที่ดวงจันทร์ถูกชนโดยดาวหาง ข้อมูลที่เรามีตอนนี้ อย่างเช่น ทำไมโครงการอพอลโลที่ส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ตั้ง 12 คน จึงไม่พบน้ำ ก็เพราะว่าตำแหน่งที่โครงการอพอลโล่ไปลงนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่แถบขั้วเหนือหรือใต้ของดวงจันทร์ และที่น้ำยังคงอยู่ได้ที่ขั้วเหนือ-ใต้ของดวงจันทร์ก็เพราะมันอยู่ตรงก้นหลุมอุกกาบาตที่แสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง”

ความสำคัญของการค้นพบน้ำบนดวงจันทร์คืออะไร
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ อธิบายว่า การที่มนุษย์จะวางแผนไปดวงจันทร์ จำเป็นต้องนำน้ำไปด้วย แต่ระยะยาว น้ำบนดวงจันทร์จะทำให้มนุษย์สามารถมีวัตถุดิบสำหรับผลิตน้ำ เพราะนอกจากน้ำจะเอาไว้ใช้ดื่มกินแล้ว มันยังสามารถเป็นเชื้อเพลิงได้ เพราะเมื่อแยกน้ำออกมา เราจะได้ออกซิเจนกับไฮโดรเจน ซึ่ง รศ.ดร.ชัยวัฒน์เชื่อว่า มีแนวโน้มที่ดวงจันทร์จะเป็นที่ที่มนุษย์จะแย่งกันไป

ว่าแต่ว่า มนุษย์จะไปอยู่บนดวงจันทร์กันอีท่าไหน เพราะแม้ว่าสภาพบนดวงจันทร์จะเหมือนโลกมาก แต่ก็ไม่มีน้ำ ไม่มีบรรยากาศ แห้งแล้ง ส่วนที่ร้อนจะร้อนจัด ส่วนที่หนาวจะหนาวจัด มีเวลากลางวันและกลางคืนที่ยาวนาน 1 วันหรือ 1 คืนของดวงจันทร์เท่ากับเวลา 14 วันของโลก และยังมีแรงโน้มถ่วงน้อยกว่าโลกเรา 6 เท่า
แนวทางที่เป็นไปได้ตามศักยภาพเทคโนโลยีของมนุษย์ตอนนี้ การจะตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์คงต้องเป็นการสร้างเมืองหรือโดมปิด ที่มีการปรับสภาพอากาศ ความดัน และอุณหภูมิภายใน แต่เมื่อใดที่คิดจะออกมาเดินเล่นข้างนอกโดมก็จำเป็นต้องใส่ชุดอวกาศ

แต่ถ้าจะถึงขั้นสร้างชั้นบรรยากาศขึ้นมา ไม่ต้องอยู่ในโดมปิด ไม่ต้องใส่ชุดอวกาศ เดินยงโย่ยงหยก รศ.ดร.ชัยวัฒน์ บอกว่าถือเป็นเรื่องยากมากๆ

ดวงจันทร์ จุดเริ่มต้นของการสำรวจระบบสุริยจักรวาล

แต่ความฝัน จินตนาการ และศักยภาพของมนุษย์ไม่ได้หยุดลงเพียงเท่านี้ ดังที่กล่าวตอนต้น ดวงจันทร์เป็นเพียงหน้าด่าน ดาวอังคารต่างหากคือสิ่งที่มนุษย์กำลังมุ่งไป

“ดาวอังคารคือเป้าหมายที่ใหญ่กว่า เนื่องจากบนดาวอังคารมีสภาพคล้ายโลก มีบรรยากาศ แต่การจะเดินทางจากโลกไปดาวอังคาร ตอนนี้มี 2 แนวทางคือ หนึ่ง-อาศัยสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งมันก็มีอายุไม่ถึงอยู่ดี ต้องส่งชุดใหม่ขึ้นไปอีก หรือสอง-ใช้ดวงจันทร์นี่แหละเป็นฐาน เป็นหน้าด่านที่จะเดินทางต่อไปยังดาวอังคาร เพราะว่าดวงจันทร์ขนาดเล็กและเวลาขึ้นจากดวงจันทร์จะง่ายกว่า” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ อธิบาย

แต่การตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารจะง่ายกว่าบนดวงจันทร์ แม้จะยังต้องสร้างโดมปิดเหมือนกัน เพราะบรรยากาศของดาวอังคารถึงจะมีมากกว่าบนดวงจันทร์ แต่ก็เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ แต่ดาวอังคารมีขนาดเล็กกว่าโลกประมาณครึ่งหนึ่ง และแรงดึงดูดที่ใกล้เคียงกับโลก

เท่านั้นยังไม่พอ ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังสนใจดวงจันทร์ไตตัน บริวารของดาวเสาร์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าโลกมาก แต่กลับมีบรรยากาศที่หนาแน่นกว่า ซึ่งดวงจันทร์จะเป็นก้าวแรกของการสำรวจระบบสุริยะที่ไกลออกไปจากดาวอังคาร วันข้างหน้ามนุษย์อาจจะไปเหยียบดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ที่ไกลออกไป

“นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญบางคน มองว่าเราต้องไปดวงจันทร์ให้ได้ ถ้าเราจะบุกเบิกระบบสุริยะ เพราะดวงจันทร์เป็นเสมือนเมืองหน้าด่านที่จะทำให้เราไปไหนต่อไหนได้ง่าย”

เราไม่ได้อยู่คนเดียว

อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน หากข้อสันนิษฐานว่า น้ำบนดวงจันทร์มาจากดาวหางที่พุ่งเข้าชนจริง และน้ำคือองค์ประกอบพื้นฐานของชีวิต นั่นหมายความว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่จะมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในอวกาศ และไม่ได้อยู่เพียงดาวดวงเดียว

“ผมอยากจะบอกว่า ตอนนี้ ทฤษฎีโมเลกุลพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่มากับดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยก็มีความเป็นไปได้ และน่าจะเป็นส่วนช่วย แปลว่าจริงๆ แล้ว ชีวิตเกิดไม่ยาก เพียงแต่ว่าจะพัฒนาขึ้นมาได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าดาวอังคารก็น่าจะเคยมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น แต่ไม่พัฒนา ถ้ามี แสดงว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว วันนี้ ถ้าเราไป เราน่าจะเจอ แต่เจอเป็นฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ระดับแบคทีเรีย”

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะรวมไปถึงสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเฉกเช่นมนุษย์ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ บอกว่า ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุได้ แต่...

“เรามีหลักฐานอื่นๆ ที่สนับสนุนมากขึ้น” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ บอกเล่าข้อมูลที่น่าตื่นเต้น “คือมีการพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นครับ ถ้ามีมนุษย์ต่างดาวจริง เขาต้องอยู่บนดาวเคราะห์ ล่าสุด เพียงชั่วเวลาแค่ 20 ปีที่เราเริ่มค้นหา ตอนนี้ตัวเลขขึ้นไปถึงกว่า 400 ดวงแล้ว และยังจะเจออีกเยอะ เพราะเทคโนโลยีการค้นหากำลังเร่งกันมากทีเดียว สร้างขึ้นมาเพื่อค้นหาดาวเคราะห์โดยตรงเลย โดยเฉพาะดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกเรา”

ถามว่า ที่พูดๆ มานี้ มันก็เป็นเรื่องของประเทศมหาอำนาจที่มีเงินถุงเงินถังทั้งนั้น แล้วประเทศเล็กๆ แถมหนี้จมหูอย่างไทย จะไปเกี่ยวอะไรกับเขาได้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ บอกว่าโดยปกติ สหรัฐฯ หรือประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน ญี่ปุ่น ยุโรป หรือล่าสุด อินเดีย ก็มักมีโครงการร่วมมือ ศึกษา วิจัย อยู่แล้ว ซึ่งถ้าไทยมีความมุ่งมั่นเพียงพอ เราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเหล่านี้ได้ไม่ยาก วันหนึ่งข้างหน้า เราอาจจะมีนักบินอวกาศคนแรกก็ได้ ใครจะรู้

..........

สิ่งที่เราอ่านในนวนิยายวิทยาศาสตร์ถึงการแสวงหาพิภพใหม่ การตั้งถิ่นฐานบนดาวดวงอื่น กำลังจะกลายเป็นจริง

อย่าหาว่าวิตกเกินเหตุ วันหนึ่งข้างหน้า เมื่อมนุษย์ยังมีความโลภมากมาย เช่นที่เผาผลาญโลกเราทุกวันนี้ ‘Star Wars’ สงครามดวงดาวก็คงหนีไม่พ้น การบุกรุกแย่งชิงทรัพยากรและฆ่าฟันสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่น อย่างในภาพยนตร์เรื่อง ‘Avatar’ ก็คงต้องเกิด แล้วเราจะมี 2012 อีกกี่ครั้งกัน

ไม่ว่าจะอยู่ไกลโพ้นกี่ล้านปีแสง มนุษย์ก็คือมนุษย์วันยังค่ำ
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น